วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567

“กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” ลงพื้นที่ปัตตานี รับฟังเสียงสะท้อน ผลกระทบความไม่สงบ คนพื้นที่พ้อ เยียวยาไม่ทั่วถึง ขอรัฐเดินหน้าแก้ปัญหา สร้างความเป็นธรรม คืนความปกติสู่พื้นที่


กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” ลงพื้นที่ปัตตานี รับฟังเสียงสะท้อน ผลกระทบความไม่สงบ คนพื้นที่พ้อ เยียวยาไม่ทั่วถึง ขอรัฐเดินหน้าแก้ปัญหา สร้างความเป็นธรรม คืนความปกติสู่พื้นที่

 

วันที่ 19 มกราคม 2567 จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ นำกรรมาธิการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่จังหวัดปัตตานี โดนเชิญตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยพุทธ ภาคประชาสังคม หน่วยงานราชการ ศอ.บต. และนักธุรกิจ รวมถึงเยาวชนในพื้นที่ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้

 

รอมฎอน ปันจอร์ สส. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่เห็นชัดเจนในการมารับฟังความเห็นจากประชาชน ทั้งไทยพุทธและมุสลิม ก็คือทั้งสองกลุ่มเห็นตรงกันว่าการสร้างสันติภาพที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ชาวพุทธในพื้นที่เองก็อพยพออกจากพื้นที่ จนปัจจุบันเหลือเพียงหลัก 100,000 กว่าคน หรือประมาณ 15% ของประชากรเท่านั้น หลายปัญหาประชาชนประสบเหมือนกันไม่ว่าจะศาสนาใด เช่นการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง ระเบียบราชการยุ่งยาก ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ประชาชนที่มาให้ข้อมูลหลายคนให้การตรงกันว่าเจอประสบการณ์บาดเจ็บรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล ยังไม่หาย แต่ต้องรีบออกมายื่นใบรับรองแพทย์ให้ราชการ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้เงินเยียวยา นอกจากนี้ยังมีประชาชนตกหล่นจากระบบเยียวยาจำนวนมาก จนผู้มาให้ข้อมูลตั้งข้อสงสัยว่ามีการเล่นพรรคเล่นพวกกันหรือไม่ เนื่องจากผู้จะได้รับเงินเยียวยา ต้องได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่สามฝ่าย (พนักงานฝ่ายปกครองระดับอำเภอ ตำรวจ ทหาร) ว่าเกิดจากความขัดแย้งในพื้นที่จริงหรือไม่

 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจต่อความขัดแย้งในพื้นที่ เยาวชนคนหนุ่มสาว รวมถึงคนสูงอายุ ต่างไม่แน่ใจว่าตนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่มีสาเหตุจากอะไร ใครขัดแย้งกับใคร ได้แต่อยู่อย่างหวาดระแวง เนื่องจากไม่มีการให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ หน่วยงานราชการก็ไม่ได้ให้ข้อมูลตรงกัน ทำให้ผลที่ตามมาคือประชาชนหลายรายออกปากว่าไม่รับรู้ถึงความสำคัญของการเจรจา และไม่เชื่อว่าการเจรจาสันติภาพจะสามารถคืนชีวิตปกติสุขให้กับคนในพื้นที่ หรือมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้จริง โดยเสียงสะท้อนจากประชาชน มองว่าสันติภาพสำหรับพวกเขา คือความไม่เหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียมทางโอกาส การศึกษา การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความเป็นธรรมให้กับคนทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ

 

รอมฎอนระบุว่าการรับฟังความเห็นครั้งนี้ กรรมาธิการจะรวบรวมความคิดเห็นและนำไปปรับเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการเขียนรายงานของคณะกรรมาธิการต่อไป เพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างสันติภาพที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการตลอดทาง ได้สันติภาพที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนต่อไป

 

ด้านพรรณิการ์ วานิช โฆษกกรรมาธิการ เปิดเผยว่า จากการรับฟังความเห็นภาคประชาสังคม พบแนวโน้มที่ย่ำแย่ลงของการเยียวยาเด็กกำพร้าที่ตกหล่นจากระบบ โดยเฉพาะเด็กที่พ่อแม่เป็นผู้ต้องขัง มีหมายจับ หรือเสียชีวิตจากการก่อเหตุ ซึ่งเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ไม่มีแม้แต่การเก็บข้อมูลว่ามีจำนวนเท่าไหร่ มีเพียงองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมที่ช่วยดูแลตามอัตภาพ มิหนำซ้ำ องค์กรที่ดูแลเด็กๆ เหล่านี้ยังถูกรัฐเพ่งเล็ง ไปจนถึงถูกดำเนินคดี ถูกมองว่าให้ความช่วยเหลือผู้ก่อการ เช่นกรณีเพจพ่อบ้านใจกล้า ที่เปิดระดมทุนไปให้ความช่วยเหลือเด็กๆ และครอบครัวผู้ก่อการ ก็ถูกดำเนินคดี

 

พรรณิการ์ยืนยันว่าเด็กเหล่านี้จะเป็นลูกหลานของผู้ก่อการจริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น เพราะเด็กไม่สามารถเลือกเกิดได้ และพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด การที่รัฐไม่ให้ความช่วยเหลือ และยังพยายามไม่ให้องค์กรภาคประชาสังคมช่วยเหลือเด็กและครอบครัวผู้ก่อการ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกคับแค้นใจ ไม่ได้รับความเป็นธรรม เท่ากับการเติมฟืนในกองไฟไม่มีที่สิ้นสุด และขัดขวางการสร้างสันติภาพในพื้นที่

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ชายแดนใต้ #กรรมาธิการ