วันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2567

แผนลดนายพลยุค "บิ๊กทิน" คึกคักแรงจูงใจชวนเออรี่ก่อนเกษียณเพียบ คาดเข้าสภากลาโหมเดือนหน้ามั่นใจโครงการปีนี้นายพลแฮปปี้แน่นอน

 


แผนลดนายพลยุค "บิ๊กทิน" คึกคักแรงจูงใจชวนเออรี่ก่อนเกษียณเพียบ คาดเข้าสภากลาโหมเดือนหน้ามั่นใจโครงการปีนี้นายพลแฮปปี้แน่นอน

        

วันที่ 11 มกราคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง เปิดเผยกรณีนโยบายการปรับลดจำนวนนายพลทุกเหล่าทัพ ในตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ของนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า รัฐมนตรีได้กำชับให้แต่ละเหล่าทัพเร่งทำความเข้าใจกับกำลังพลในโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อลดจำนวนนายพลในตำแหน่งดังกล่าวเกินความจำเป็น ลงกว่า 50% ภายใน 3 ปี หรือเหลือน้อยกว่า 300 คน ในปี 2570 ซึ่งที่ผ่านมามีชั้นนายพลประมาณ 2,000 นาย โดยเป็นกำลังหลักประมาณ 1,300 นาย ซึ่งกำลังหลักจำเป็นต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ความมั่นคงของโลกและในภูมิภาค รวมทั้งรูปแบบในยุทธวิธีต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีสงครามไซเบอร์หรือ Cyber warfare และเรื่องอวกาศเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนจำนวนนายพลในตำแหน่งประจำกว่า 700 นาย ได้เริ่มดำเนินการมาก่อนแล้วซึ่งคาดว่าจะเป็นผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามเป้าหมาย

          

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดนโยบายเร่งรัดให้มีผลสัมฤทธิ์ ในช่วงรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในปี 2568 - 2570 โดยนายพลในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ จะต้องลดลงให้เหลือน้อยที่สุดตามความจำเป็นของกองทัพ อีกทั้งยังให้นโยบายสร้างแรงจูงใจในการลดจำนวนชั้นยศ “พันเอก (พิเศษ)” ที่จะขึ้นไปเป็น “นายพล” ในอนาคต ให้ลดลงอีกกว่า 570 อัตรา เพื่อให้สอดรับกับตำแหน่งนายพลที่จะลดลงไปด้วย

            

“เป็นวิสัยทัศน์ของ รมว.ฯ ที่ให้นโยบายในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แก้ปัญหาการลดนายพล แต่ฐานนายพันเอกพิเศษยังมีมาก ก็จะไปสร้างปัญหาใหม่ในอนาคต ซึ่งนโยบายนี้ กองทัพยังสามารถปฏิบัติงาน และอาชีพทหารยังมีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าได้อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้กองทัพอีกด้วย ” มั่นใจโครงการเออร์รี่นายพลผู้รับใช้ชาติต้องอยู่ดีมีเกียรติ คาดก.พ. นี้นำเข้าสภากลาโหมก่อนชงเข้าครม.ทันในงบปีนี้

             

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้จัดทำนโยบายสร้างแรงจูงใจให้นายทหารเกษียณก่อนกำหนด Early Retire เช่น การจ่ายเงินชดเชย หรือ "เงินก้อน" ประมาณ 7 แสนบาท ขึ้นอยู่กับชั้นยศ  และเวลารับราชการ ซึ่งจะมีสูตรคำนวณชัดเจนรวมทั้งสิทธิบำเหน็จ/บำนาญก็จะได้รับตามปกติซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ และกำลังใจต่อกำลังพลของกองทัพ  เมื่อตัดสินใจในช่วงนี้ ถือว่าได้สิทธิประโยชน์มากที่สุดเมื่อเทียบกับโครงการที่ผ่าน ๆ และในการบริหารของรัฐบาลจะสามารถลดภาระงบประมาณประเทศในระยะยาวอีกด้วย  

.            

ส่วนความคืบหน้าถือว่าเป็นนโยบายสำคัญของรัฐมนตรี  ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำรูปแบบข้อเสนอแรงจูงใจต่าง ๆ แล้ว อยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  โดยก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะนำเข้าที่ประชุมสภากลาโหม จากนั้นจะนำเข้า ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ “แผนและกรอบงบประมาณ” เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันปีนี้ดังนั้น ในช่วงการเกษียณอายุราชการของข้าราชการในเดือนตุลาคม 2567 นี้ สำหรับโครงการนี้จะใช้เงินงบประมาณของกระทรวงกลาโหมประมาณ 600 ล้านบาท ภายใน 3 ปี (2568 - 2670) หรือเฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อปี

            

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า แม้ที่ผ่านมากองทัพจะมีแผนปรับลดจำนวนนายพล “ระยะยาว” ปี 2551 - 2571 แต่นโยบายครั้งนี้ จะผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย รวดเร็วขึ้น “ภายใน 3 ปี” โดยเน้นกลุ่มพลตรี - พลโท - พลเอก ในตำแหน่ง ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ - ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ “ทุกเหล่าทัพ”  ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่าในช่วงรัฐบาล คสช. ปี 2557 - 2561 เคยทำโครงการเกษียณก่อนกำหนด “ทุกชั้นยศทุกตำแหน่ง” โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 26,000 ตำแหน่ง จึงเชื่อว่าโครงการลดนายพลครั้งนี้จะได้รับการตอบรับดีอย่างแน่นอน  นายจิรายุกล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กระทรวงกลาโหม #ปรับลดนายพล #สภากลาโหม