วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2567

“ปิยบุตร” เห็นด้วย “เพื่อไทย” ทำประชามติ 2 ครั้ง แนะ “ก้าวไกล” เร่งผลักดันร่างรธน.ใหม่ เข้าประกบร่าง “เพื่อไทย”

 


“ปิยบุตร” เห็นด้วย “เพื่อไทย” ทำประชามติ 2 ครั้ง แนะ “ก้าวไกล” เร่งผลักดันร่างรธน.ใหม่ เข้าประกบร่าง “เพื่อไทย”


วานนี้ (22 มกราคม 2567) ที่เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้มีการเผยแพร่ความคิดเห็นของนายปิยบุตร เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แสดงความเห็นด้วย ภายหลังที่ รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และสส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่ง ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ซึ่งสส.พรรคเพื่อไทย 122 คน ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยนายปิยบุตร โพสต์ข้อความว่า


[การทำรัฐธรรมนูญใหม่ กับ การทำประชามติ]


พรรคเพื่อไทย นำโดย รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล แถลงข่าวเรื่องการทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเห็นว่า ทำประชามติ 2 ครั้ง


ครั้งแรก (ประชามติร่างแก้ตาม 256 กำหนดให้มี สสร)


และครั้งที่สอง (ประชามติ ร่าง รธน ใหม่ที่ สสร ทำเสร็จ)


ผมเห็นด้วยกับวิธีการที่อาจารย์ชูศักดิ์และพรรคเพื่อไทยเสนอนี้


คำวินิจฉัยศาล รธน 4/2564 บอกว่า การทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำประชามติ ก็จริง แต่ไม่ได้บอกว่าให้ทำตอนไหน ดังนั้น เมื่อ สสร ทำร่างใหม่เสร็จ ก็ค่อยไปทำประชามติตอนนั้นก็ได้


นอกจากนี้ การทำ รธน ใหม่ โดยเว้นหมวด 1 หมวด 2 แบบที่พรรคเพื่อไทยต้องการ ก็ไม่ได้เข้าความหมายการทำใหม่ทั้งฉบับแบบที่ศาล รธน บอกด้วย


ที่สำคัญ หากทำประชามติ 3 ครั้ง (แบบที่คณะกรรมการฯของรัฐบาลเสนอ) แล้วไปตั้งคำถามประชามติครั้งแรก (ก่อนริเริ่มแก้ตาม 256) ว่า จะทำใหม่ แบบเว้นหมวด 1 หมวด 2 ก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยงมากที่จะไม่ผ่าน เพราะ ทั้งพลังฝ่ายก้าวหน้า และพลังฝ่ายอยากอยู่กับ 60 อาจไม่ออกไปใช้สิทธิหรือไม่เห็นชอบ จนทำให้แพ้ประชามติ และทำให้ รธน 60 เป็นอมตะ มากยิ่งขึ้น


นอกจากเรื่องการเว้นหมวด 1 และ 2 แล้ว ประเด็นที่ยังคงต้องถกเถียงและสู้กันต่อไป คือ รูปแบบและที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ


พรรคก้าวไกล (ในฐานะพรรคเสียงเกิน 100 คน) ควรเร่งผลักดันร่างแก้ไข รธน กำหนดให้มีการจัดทำ รธน ใหม่ เข้าไปประกบกับร่างของพรรคเพื่อไทย


เพื่อต่อสู้เรื่อง

1. ทำ รธน ใหม่ได้ทั้งฉบับ ไม่ต้องเว้นหมวด 1 และ 2

2. รูปแบบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ และระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ


สินปีนี้ เราน่าจะได้เห็นทิศทางของการทำรัฐธรรมนูญใหม่ชัดเจนครับ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐธรรมนูญใหม่ #ประชามติ