วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2567

ศาลสั่งถอนประกัน “บุ้ง” เนติพร เหตุพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม - จำคุกคดีละเมิดอำนาจศาล ด้าน "ตะวัน” ไม่ผิดเงื่อนไขแระกันตัว และออกหมายจับ “หยก” เพื่อมาฟังคำสั่ง

 


ศาลสั่งถอนประกัน “บุ้ง เนติพร” เหตุพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม - จำคุกคดีละเมิดอำนาจศาล ด้าน “ตะวัน” ไม่ผิดเงื่อนไขประกันตัว และออกหมายจับ “หยก” เพื่อมาฟังคำสั่ง


วันนี้ (26 มกราคม 2567) ตามที่ 9.00น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ นัดฟังคำสั่งกรณีตำรวจ สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องขอศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกันตัว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง จำเลยในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 หลังพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้อง โดยอ้างเหตุที่ทั้งสองเข้าร่วมชุมนุมและพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ถอด นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สว.ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ


ขณะเดียวกันเวลา 10.00 น. ศาลยังนัดฟังคำวินิจฉัยคดีละเมิดอำนาจศาล ของ น.ส.เนติพร (บุ้ง) กรณีกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล เป็นเหตุให้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลของศาลอาญากรุงเทพใต้ป้องกันตัวด้วยการใช้ดิ้ว หรือกระบองเหล็กยืดหด ตีเข้าที่บริเวณข้อศอกจนเกิดอาการบาดเจ็บ แพทย์ต้องทำการรักษาและเย็บ 4 เข็ม


สำหรับบรรยากาศในวันนี้มีประชาชนและกลุ่มเพื่อนของจำเลยทั้งสองคน เดินทางมาให้กำลังใจ และได้มอบดอกกุหลาบ ดอกทานตะวัน รวมถึงผักบุ้งเป็นกำลังใจให้จำเลยทั้งสอง ก่อนขึ้นไปฟังคำตัดสินพร้อมด้วย น.ส.กุณฑิกา นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


โดยในเวลาต่อมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่าน X ระบุว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่ง #ถอนประกัน ของ “บุ้ง” เพียงคนเดียว หลัง จนท.ตำรวจยื่นขอถอนประกันคดี #ม112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ศาลชี้ว่า จากกิจกรรมที่เกิดขึ้น มีพยานผู้ร้องเห็นว่าบุ้งได้ทำการพ่นสีสเปรย์ลงบนธงประจำพระองค์ของสมเด็จพระราชินี ซึ่งเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวที่ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหานี้อีก


ส่วน "ตะวัน" ศาลเห็นว่าจากคำเบิกความของพยาน ไม่มีพยานหลักฐานชี้ให้เห็นว่าการที่จำเลยเข้าร่วมชุมนุม จึงไม่มีความผิดตามเงื่อนไขการประกันตัว


เหตุในการถอนประกันในคดีนี้มาจากการชุมนุมพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ถอด เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สว. ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 โดยศาลได้นัดไต่สวนฯ “ตะวัน” และ “บุ้ง” ไปเมื่อ 21 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา


จากนั้นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่าน X เพิ่มเติมว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ “บุ้ง” เนติพร และ “หยก” มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยศาลสั่งจำคุก “บุ้ง” 1 เดือน ไม่รอลงอาญา และวันนี้หยกไม่มาศาลจึงให้ออกหมายจับ “หยก” เพื่อมาฟังคำสั่ง


เหตุเกิดขณะที่เดินทางมาให้กำลังใจและฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของ “โฟล์ค” สหรัฐ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้


ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองเป็นบุคคลภายนอก แม้จะอ้างว่าเป็นเพื่อนกับสหรัฐ แต่ก็ไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายได้ หากต้องการทราบสิ่งใดย่อมสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่อยู่ป้อมยาม แต่การที่ทั้งสองถือวิสาสะปีนเข้าไป ในลักษณะท้าทายเจ้าพนักงานตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นการเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งในพื้นที่ควบคุมอย่างร้ายแรง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปแจ้งให้หยุดการกระทำ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองกลับแสดงท่าทีขัดขืน และมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่


จากนั้น 11.00 น. ศูนย์ทนายฯ รายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ "บุ้ง" จะถูกส่งตัวไปคุมขัง ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เนื่องจากได้ตัดสินใจร่วมกับทนายความแล้วว่าจะไม่ยื่นประกันตัวภายในวันนี้


จากนั้น 11.05 น.น.ส.กุณฑิกา ทนายความ และ น.ส.ทานตะวัน ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังฟังคำสั่งศาล


โดยน.ส.กุณฑิกา กล่าวว่า  สำหรับคดีนี้ปรากฏว่ามีผู้กล่าวหาที่ 2 ด้วย ก็คือหยก ซึ่งแต่เดิมทนายเห็นหมายเพียงชื่อ "เนติพร" คนเดียว แต่กลับกลายว่า "หยก" เป็นผู้ถูกกล่าวหาจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ด้วย และศาลก็ได้ตัดสินว่ามีความผิดจริง ในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ให้ลงโทษจำคุกเนติพร 1 เดือน ส่วนของ "หยก" ให้ออกหมายจับ


น.ส.กุณฑิกา ยังระบุอีกว่า จริง ๆ ทนายไม่ได้นัดหมายอะไรกับ "หยก" เพราะไม่ทราบว่าถูกกล่าวหาในคดีนี้ด้วย จึงทำให้ไม่ได้ติดต่อประสานงานกับหยกในเรื่องนี้เลย


ประเด็นสำคัญของคดีนี้คือมีการไต่สวน 2 ฝ่าย ในทางการนำสืบก็คือว่าพยานของผู้กล่าวหา ก็คือตำรวจ คนที่ถือกระบองยืดหดตามรูปที่ปรากฏ และอาสาสมัครตำรวจซึ่งเป็นรปภ.ของศาล ก็ได้เบิกความว่า มีความวุ่นวายอย่างไร


ส่วนเนติพร ก็ได้มีการเบิกความโดยที่มีการอธิบายต่อศาลว่า ทำไมเขาถึงโกรธ ทำไมเขาถึงต้องเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ว่าคุณชื่ออะไร รปภ.ชื่ออะไร


อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งว่า บุ้ง-เนติพร ผิดละเมิดอำนาจศาล และเชื่อไปถึงผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ก็คือหยก ซึ่งไม่มีทนายในคดีและไม่เคยร่วมรับรู้ในกระบวนการของคดีนี้มาก่อน ศาลจึงใช้ดุลยพินิจว่าพฤติการณ์จึงทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีการเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า ว่าจะมาสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นในบริเวณศาล เพื่อต้องการผลอย่างใดอย่างหนึ่งหรือต้องการทำลายภาพลักษณ์ หรือความน่าเชื่อถือของศาล


ในส่วนของหยกก็จะต้องมีการติดตามกันต่อไปมั่นใจว่าหลาย ๆ คนก็ยังงง รวมถึงทนาย กระทั่งตัวหยกเองก็ไม่ทราบว่าตัวเองมีคดีนี้ น.ส.กุณฑิกา กล่าว


ขณะที่น.ส.ตะวันกล่าวว่าจริง ๆ ตนก็ไม่ได้ดีใจเลยที่ตัวเองรอด เพราะมีอีกคนหนึ่งก็คือบุ้งที่จะต้องเข้าเรือนจำไปในวันนี้ ตนไม่รู้ว่าสังคมจะมองบุ้งแบบไหน จะมองว่าเป็นคนเสียงดังโวยวาย ตะโกนโวกเวกอะไรก็ตามแต่ แต่สุดท้ายสิ่งที่เขาพยายามตะโกนตลอด ที่เขาพยายามบอกก็คือการ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บางคนอาจจะได้ยินเพียงแค่คำหยาบที่ตะโกน สิ่งที่เขาตะโกนจริง ๆ คือสิ่งที่เขาอยากจะบอกกับศาล บอกกับสังคมว่าสิ่งที่พวกเราควรจะร่วมกันทำให้มันเกิด ขึ้นก็คือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม


พวกเราตระหนักดีว่าเกิดอะไรแย่ ๆ บ้างกับกระบวนการยุติธรรมไทย จึงเป็นคำถามจากพวกเราว่าเมื่อไหร่ล่ะที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นจริง ๆ สักที


ทั้งนี้ตะวันได้อ่านจดหมายที่บุ้งเขียนภายหลังทราบว่าถูกถอดประกันมีใจความโดยรวมว่าเป็นอีกครั้งที่กระบวนการยุติธรรมที่เรียกบุ้งว่าลูกหลานตุลาการมาตั้งแต่เล็ก ทำให้บุ้งผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า


ในวันนี้บุ้งยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมต้องถูกปฏิรูป ต้องไม่มีใครติดคุกเพียงเพราะเห็นต่างและอย่าคิดว่าการจับบุ้งเข้าคุกครั้งนี้จะทำให้บุ้งยอมถอย และลงท้ายที่จดหมายด้วยว่าอยู่บนหอคอยงาช้างและคราบเลือดประชาชน อย่าลืมอำนาจเป็นของประชาชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112 #ม112 #ละเมิดอำนาจศาล