4
สส.ก้าวไกล ลาออก กมธ.แลนด์บริดจ์ ลั่นไม่ขอเป็นตรายาง หลัง
กมธ.อนุมัติรายงานศึกษา ยันเห็นด้วยพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้
แต่รายงานการศึกษาโครงการมีปัญหา ตัดแปะเฉพาะข้อมูล สนข. ขาดความรอบด้าน
วันที่
12 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย
และอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย ศิริกัญญา
ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ จุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์
สส.กรุงเทพฯ เขต 9 และ รศ.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์
แถลงข่าวภายหลังการประชุม กมธ.โครงการแลนด์บริดจ์ พิจารณาอนุมัติรายงานการศึกษาฯ
โดยจุลพงศ์กล่าวว่า
สส.พรรคก้าวไกลที่นั่งอยู่ กมธ.โครงการแลนด์บริดจ์
ได้ทักท้วงถึงความไม่สมบูรณ์ของรายงานและความจำเป็นที่ กมธ.
ต้องได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษาโครงการ ก่อนที่ กมธ.
จะพิจารณาอนุมัติรายงานผลการศึกษาได้
เช่น
คำถามเรื่องท่อส่งน้ำมันที่ไม่มีความชัดเจน
การเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาสภาพแวดล้อมซึ่งอาจขัดกับมติคณะรัฐมนตรีที่เคยมีมาก่อนหน้านี้
และเรื่องความน่าเชื่อถือในการประเมินความต้องการของบริษัทเดินเรือที่จะมาใช้โครงการแลนด์บริดจ์
เรื่องการประเมินสินค้าที่จะมาใช้โครงการ ซึ่งตนมองว่ามีความเกินจริง
รวมถึงเรื่องการประเมินความแออัดของการเดินเรือในช่องแคบมะละกาและท่าเรือสิงคโปร์ก็ยังมีข้อสงสัยมาก
ในกรณีการประหยัดต้นทุนการขนส่งเมื่อเทียบกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาก็ยังไม่ชัดเจน
รวมทั้งไม่สามารถให้ตัวเลขทางการเงินที่สมเหตุผลในการคำนวณผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้บทสรุปของรายงานการศึกษาโครงการที่
สนข. เคยทำ
ยังขัดแย้งกับบทสรุปของรายงานการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) ที่ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษา
มีผลสรุปว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ในขณะที่ผลการศึกษาของโครงการ
ผลตอบแทนการลงทุนสูงถึง 17%
อาจทำให้นายกรัฐมนตรีสื่อข้อมูลผิดกับนักลงทุนต่างประเทศ ในระยะ 2-3
ปีนี้รัฐบาลได้ใช้งบประมาณถึงกว่า 68 ล้านบาทในการศึกษา
แต่จนถึงวันนี้โครงการก็ยังไม่สมบูรณ์
ดังนั้นวันนี้
กมธ. จากพรรคก้าวไกลทั้งหมด 4 คนจึงขอถอนตัวและลาออกจาก กมธ. ดังกล่าว
โดยให้มีผลทันที ประกอบด้วย ตน ศิริกัญญา ตันสกุล ศุภณัฐ มีนชัยนันท์
และประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์
ด้านศิริกัญญากล่าวว่า
ในการประชุม ได้มีการซักถามค้างอยู่จากวันที่ 22 ธันวาคม 2566 กับทาง สนข. และที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
ซึ่งยังคงถกเถียงกันในหลายประเด็นเพื่อจะได้ข้อสรุปว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไร
และโครงการนี้จะมีความคุ้มค่ามากแค่ไหน
วันนี้ทางผู้ชี้แจง
ตอบคำถามไปได้คำถามเดียวคือกรณีสินค้าเทกอง ทางประธาน กมธ. ก็สั่งปิดประชุม
ซึ่งเรื่องนี้ตนมองว่ามีปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว
ที่บอกไว้ชัดเจนว่าจะต้องให้ทางหน่วยงานตอบคำถามจนสิ้นสงสัย
แต่วันนี้กลายเป็นว่าเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาตัวรายงานซึ่งหมายความว่าเป็นครั้งสุดท้าย
ทั้ง ๆ ที่คำตอบหลายข้อยังไม่ครบถ้วน ตนได้ร้องขอให้เชิญหน่วยงาน เช่น สนข.
แต่ประธานก็ไม่ได้เชิญ กลับพยายามลงมติเพื่อรับรองตัวรายงาน
จึงเป็นเหตุให้พรรคก้าวไกลขอไม่เป็นตรายางในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติตัวรายงานฉบับนี้
เนื่องจากยังไม่มีการส่งข้อมูลมาให้พิจารณา และท้ายที่สุด
ยังไม่มีการขอขยายอายุของ กมธ. ชุดนี้ออกไปเพื่อให้มีการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง
ส่วน
รศ.สมพงษ์ กล่าวว่า ข้อมูลที่เป็นประเด็นสำคัญคือข้อมูลสินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ซึ่งก็คือสินค้าต่างประเทศ เพราะความคุ้มค่าของโครงการนี้
เป้าหมายหลักคือสินค้าถ่ายลำประมาณ 78% เป้าหมายที่ 2
คือการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งเราเห็นด้วยว่าต้องทำและเร่งทำ
แต่ด้วยประมาณการเช่นนี้
เท่ากับชะตากรรมของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของปริมาณสินค้าถ่ายลำ
ที่จนถึงตอนนี้ยังขาดความชัดเจนว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีโอกาสเข้ามาชี้แจง
ขณะที่
ศุภณัฐ กล่าวว่า เจตนารมณ์หลักของเราทุกคน คือหาคำตอบให้พี่น้องประชาชนว่าจริงๆ
แล้วโครงการแลนบริดจ์ จะกำไรหรือขาดทุน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่
แต่สิ่งที่พยายามทำร่วม 90
วัน ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมรายงานของ สศช. จึงแตกต่างจากรายงานของ
สนข. และข้อมูลหลายอย่างที่อยู่ในรายงานที่มีการลงมติเห็นชอบ ก็ยังใช้ข้อมูลของ
สนข. เกือบทั้งหมด โดยไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงตัดข้อมูลของ สศช. ทิ้ง
ในฐานะ
กมธ. ซึ่งเป็นผู้ศึกษา เราไม่ควรเลือกว่าจะหยิบหรือไม่หยิบข้อมูลไหนมาใช้
เพราะหน้าที่ของเราคือนำข้อมูลทั้งหมดใส่ในรายงานอย่างรอบด้าน
แต่ผลสรุปที่ออกมาอาจเรียกได้ว่าเป็นการแทงหวยว่าเราหยิบข้อมูลของ สนข.
เป็นตัวตั้ง เมื่อเป็นแบบนี้เชื่อว่าจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศ
เพราะเรากำลังนำข้อมูลด้านเดียวจากหน่วยงานราชการไปขายต่างประเทศ
ถ้าต่างประเทศย้อนกลับมาว่าศึกษาแล้วไม่คุ้มทุน
นั่นหมายความว่าประสิทธิภาพในการศึกษาทำวิจัยของรัฐบาลไทยแย่หรือไม่
“หรือรัฐบาลไทยกำลังไปหลอกให้ต่างชาติมาลงทุน
นี่เป็นเหตุผลว่าถ้ารายงานออกมาเป็นแบบนี้ เราใช้กลไกกรรมาธิการหรือสภาฯ
เป็นตรายาง จะสร้างความเสียหายต่อผมในฐานะผู้ศึกษา และเสียหายต่อรัฐสภา
รวมถึงผู้ที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปอ้างอิงเพื่อเชื้อเชิญต่างประเทศมาลงทุน” ศุภณัฐกล่าว
.
ศุภณัฐ
กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าเราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้
แต่หน้าที่ของกรรมาธิการในรอบนี้คือศึกษาเฉพาะตัวโครงการแลนด์บริดจ์
ถ้าโครงการจะขาดทุนแต่สร้างผลประโยชน์ให้เศรษฐกิจภาคใต้ในอนาคต
รัฐบาลก็ต้องชี้แจงว่าทำอย่างไร แต่ ณ เวลานี้
ข้อมูลตัวเลขที่ตนขอไปตั้งแต่วันแรกก็ยังไม่ได้รับ หน่วยงาน สศช. กับ สนข.
ก็ยังไม่มีการคุยกัน