วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567

ด่วน!! ศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน "พิธา-ก้าวไกล" หาเสียง แก้ ม.112 เป็นการล้มล้างการปกครอง ให้หยุดการกระทำ


ด่วน!! ศาลรัฐธรรมนูญ ฟัน "พิธา-ก้าวไกล" หาเสียง แก้ ม.112  เป็นการล้มล้างการปกครอง ให้หยุดการกระทำ


วันนี้ (31 มกราคม 2567) องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่


ทั้งนี้ ทางพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้อง แจ้งว่านายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะไม่ไปรับฟังคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องปฎิบัติหน้าที่ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยเปิดห้องวอร์รูมที่รัฐสภา เพื่อให้ส.ส.ก้าวไกล ฟังคำวินิจฉัยพร้อมกัน


ผลการวินิจฉัยปรากฏว่า


1. การนำ ม.112 ออกจากหมวดความผิดเรื่องความมั่นคง เป็นความมุ่งหมายแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากชาติไทย


2. การเสนอให้สิทธิ์โต้แย้งข้อเท็จจริงการการติชมโดยสุจริตไม่มีความผิด อาจนำไปสู่ผู้กระทำผิดใช้เป็นข้ออ้างว่าเข้าใจสุจริต ซึ่งย่อมทำให้ศาลต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริง ย่อมต้องพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงถ้อยคำจะเผยแพร่ไปสู่สาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขัดกับรัฐธรรมนูญที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ


3. การเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้อง และเป็นคดีที่ยอมความได้ ทำให้กลายเป็นความผิดส่วนพระองค์ ไม่ใช่ความผิดของรัฐ ทั้งที่เป็นเรื่องกระทบจิตใจปวงชนชาวไทย


และแม้นโยบายที่เสนอกับ กกต. จะไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะแก้ ม.112 อย่างไร แต่ศาลถือเอาข้อมูลตามเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล จนถึงปัจจุบัน ที่อ้างร่างเก่าที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งศาลนำมาพิจารณาในครั้งนี้ ซึ่งแสดงเจตนาลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ อีกทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง การที่มีพรรคการเมืองใช้นโยบายที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียความเป็นกลางทางการเมือง ส่งผลให้อาจเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย รธน.มาตรา 34 จำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบต่อความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี เมื่อดูความเคลื่อนไหวที่มีการทั้งการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น และการเสนอกฎหมาย จึงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เลิกการกระทำนั้นได้ เพราะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ศาลจึงวินิจฉัยให้ยกเลิก และไม่ให้แก้ไข ม.112 ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยการกระบวนการนิติบัญญัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานล่าสุด พรุ่งนี้ (1 ก.พ. 67) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จะเดินทางไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่น "ยุบพรรคก้าวไกล" ต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #ก้าวไกล #112 #ล้มล้างการปกครอง