วันจันทร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2567

"เศรษฐา" ลุยพื้นที่จริง ดูจุดก่อสร้างแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร กลุ่มต้านไม่พลาด ปักป้ายค้านโชว์ขบวนนายกฯ


"เศรษฐา" ลุยพื้นที่จริง ดูจุดก่อสร้างแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร กลุ่มต้านไม่พลาด ปักป้ายค้านโชว์ขบวนนายกฯ


วันที่ 22 มกราคม 2567 เวลา 13.40 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางมายังพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ ถือเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาลงพื้นที่จริง ซึ่งเป็นจุดที่ดำเนินการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ภายหลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายและมีการโรดโชว์โครงการนี้ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาบริหารประเทศมา 4 เดือน เพื่อชวนนักลงทุนมาร่วมในโครงการนี้


สำหรับประเด็นการลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีประเด็นที่นายกรัฐมนตรีต้องติดตามด้วยกัน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่


1. เรื่องการผลักดันให้แลนด์บริดจ์เป็นประตูการค้า โดยเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของไทย และเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้า-ส่งออกของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประเทศในกลุ่มโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงจีนตอนใต้


2. เรื่องของการถ่ายลำเรือสินค้า โดยพัฒนาให้แลนด์บริดจ์เป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ในมหาสมุทรอินเดีย และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ใต้หวัน เป็นต้น โดยเชื่อมต่อทางรางและทางถนน


3. การพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า โดยมีการตั้งเขตพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าเรือระนองและท่าเรือชุมพร ส่งเสริมแลนด์บริดจ์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้


4. การรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ และการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานทางกฎหมาย และแผนงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น


ทั้งนี้ ปัจจุบันในพื้นที่มีประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ โดยผู้ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่อ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งทำประมงพื้นบ้าน หากก่อสร้างท่าเรือแล้วจะไม่มีที่ทำมาหากิน นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในแนวเส้นทางโครงการ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย จึงอยากให้รัฐบาลเยียวยาและจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ขณะที่บางคนเห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะบ้านเมืองจะได้เจริญ ประชาชนจะได้มีงานทำ


ทั้งนี้เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ได้เยี่ยมชมผังท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง ซึ่งเป็นจุดที่จะดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะมีพื้นที่ถมทะเล 6,976 ไร่ ระยะทางสะพานข้ามไปยังท่าเรือ 4.5 กิโลเมตร โดยมีช่องลอดให้เรือประมงสามารถผ่านได้ มีข้อความว่า No rambit


อย่างไรก็ตาม ก่อนที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงปรากฏว่าได้มีกลุ่มคัดค้านมายืนชูป้ายผ้าขนาดใหญ่ เขียนข้อความว่าเป็นภาษาอังกฤษ ว่า No landbridje ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กันไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ เพียงให้ชูป้ายอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอุทยานเพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า


ขอบคุณภาพ : เพจ ไทยคู่ฟ้า


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เศรษฐาทวีสิน #ระนอง #แลนด์บริดจ์