วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2567

“ก้าวไกล” ตั้งกระทู้ถามคมนาคม “แลนด์บริดจ์” ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริงหรือไม่ “มนพร” แจง อยู่ระหว่างการศึกษาทุกมิติ ยันรับฟังทุกความเห็น “สุรเชษฐ์” ซัด ยังไม่ชัดเจนสักเรื่อง แต่นายกฯ ไปเร่ขายทั่วโลกแล้ว

 


ก้าวไกล” ตั้งกระทู้ถามคมนาคม “แลนด์บริดจ์” ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริงหรือไม่ “มนพร” แจง อยู่ระหว่างการศึกษาทุกมิติ ยันรับฟังทุกความเห็น “สุรเชษฐ์” ซัด ยังไม่ชัดเจนสักเรื่อง แต่นายกฯ ไปเร่ขายทั่วโลกแล้ว

 

วันที่ 18 มกราคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในกรณีโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” ซึ่งรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มาเป็นผู้ตอบคำถามแทน

 

สุรเชษฐ์อภิปรายก่อนการถามคำถาม โดยระบุว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะเป็นโครงการร่วมทุนที่ใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าโครงการเรือธงทั้ง 5 โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมกัน และนายกฯ ก็ได้นำโครงการนี้ไปขายนักลงทุนทั่วโลก ทั้งจีน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์

 

สุรเชษฐ์ย้ำว่า ตนเข้าใจถึงเจตนาดีของนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่อยากเห็นการพัฒนาประเทศและภาคใต้ ซึ่งพรรคก้าวไกลก็อยากเห็นประเทศพัฒนาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราต้องถกเถียงกันด้วยข้อมูลและเหตุผลอย่างมีวุฒิภาวะและเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่กล่าวหาอีกฝ่ายว่าไม่อยากเห็นการพัฒนา ไม่รักชาติ เข้าข้างสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการถกเถียงแบบไม่สร้างสรรค์

 

สุรเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดีเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ คือคำสองกลุ่ม ได้แก่ “อยากได้หรือไม่อยากได้” ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนบุคคล กับ “ควรทำหรือไม่ควรทำ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองเมื่อพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

 

ดังนั้น การจะตอบคำถามว่าโครงการแลนด์บริดจ์ควรทำหรือไม่ควรทำ นี่คือสาเหตุที่รัฐจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษา เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ ออกแบบ หาทางแก้ปัญหาทั้งในแง่ของวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญก็คือ ที่ปรึกษาต้องมีจรรยาบรรณ ศึกษาอย่างจริงจังและเป็นกลาง ไม่ใช่ปั้นตัวเลขเพื่อตอบโจทย์ตามธงของหน่วยงานเจ้าของโครงการ

 

สุรเชษฐ์ย้ำว่า แก่นกลางของเรื่องแลนด์บริดจ์คือ “เวลา” และ “ค่าใช้จ่าย” ของสายการเดินเรือ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่จะมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์แทนช่องแคบมะละกา รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าแลนด์บริดจ์จะทำให้ลดเวลาและค่าใช้จ่ายได้จริง ไม่เช่นนั้นก็ยากที่จะมีสายการเดินเรือหันมาใช้บริการ

 

ซึ่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะใช้ในการศึกษาโจทย์ลักษณะนี้ ย่อมหนีไม่พ้นแบบจำลองโลจิต (Logit Model) หรือการประมาณการเปรียบเทียบระหว่างกรณี “มี” หรือ “ไม่มี” โครงการ โดยหากไม่มีการคำนวณแบบนี้ก็ถือว่าการศึกษานี้ไม่ตอบโจทย์ แต่ตนก็เชื่อว่าหน่วยงานศึกษาก็คงจะต้องมีการศึกษาที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบนี้ จึงขอให้รัฐมนตรียืนยันว่ามีการใช้ Logit Model แบบนี้จริง ๆ หรือหากมีวิธีอื่นใด ก็ควรเปิดเผยข้อมูลเพื่อมาถกเถียงกันด้วยเหตุผล

 

เพราะหากจะพิจารณาว่าคุ้มค่าจริงหรือไม่ ต้องดูว่าอะไรอยู่ในแบบจำลองทางเลือก (Discrete Choices) ที่สมมติมาในแต่ละคู่ O-D (ต้นทาง-ปลายทาง) ปีฐาน และปีอนาคต ซึ่งควรจะมีการเปิดเผยทั้งหมด แต่สิ่งที่อยู่ในรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ตอนนี้มีแต่ตัวเลขที่น่าประหลาดใจ เช่น มีการคำนวณคู่ O-D จากตะวันออกกลาง ไปเอเชียใต้, จากแอฟริกา ไปเอเชียใต้, จากยุโรป ไปเอเชียใต้ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเส้นเดินเรือเหล่านี้จะมีโอกาสมาใช้ท่าเรือฝั่งระนองจริงหรือไม่ และจะมามากน้อยแค่ไหน หรือคู่ O-D จากออสเตรเลียไปตะวันออกไกล ก็มีคำถามว่าเขาจะแวะมาใช้ท่าเรือชุมพรทำไม

 

ดังนั้น รัฐมนตรีต้องสั่งการให้เปิดเผยข้อมูลที่ใช้ในการประมาณการ เพราะยอดสุดท้ายที่ปรากฏดูสูงเกินเป็นไปได้ ส่วนตัวเลขที่ร่ำลือกันว่าประหยัดเวลาได้ 2-3 วันก็เป็นไปไม่ได้อย่างชัดเจน แม้ระยะทางจะสั้นลงแต่ก็เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ลัดมากแบบคลองปานามาหรือคลองสุเอซ อีกทั้งยังต้องเสียเวลายกสินค้าขึ้นเพื่อเดินทางบนบก เสี่ยงต่อความเสียหายหรือสูญหาย แล้วยังต้องไปยกลงอีกรอบที่ท่าเรืออีกฝั่ง

 

แม้แต่สมาคมเดินเรือก็บอกว่าระยะเวลาจะใช้นานขึ้นและแพงขึ้นแน่นอน เพราะทำให้เรือต้องเทียบท่าและใช้เวลาในการขนถ่ายประมาณ 7-10 วันในแต่ละฝั่ง เพื่อยกตู้ขึ้นฝั่งและยกตู้สินค้าในแต่ละเที่ยวกลับ ซึ่งจะทำให้สายการเดินเรือต้องเพิ่มเรือในเส้นทางอีกอย่างน้อย 1.5 ลำขึ้นไป เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก

 

สุรเชษฐ์อภิปรายต่อไปว่า การศึกษาที่ดีต้องคิดในแง่ปฏิบัติการด้วย ตู้ไหนของบริษัทใด ตู้ไหนหนัก ตู้ไหนเบา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดเรียงสินค้า 2 หมื่นตู้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แม้จะมีระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาช่วย แต่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการใช้ช่องแคบมะละกา และก็ยังมีช่องแคบซุนดาและช่องแคบลมบกที่เป็นทางเลือกอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสายการเดินเรือจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ ที่จะทำให้สายการเดินเรือส่วนหนึ่งหันมาใช้แลนด์บริดจ์ในปริมาณที่มากพอ

 

สุรเชษฐ์ยังกล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ชี้ชัดว่าไม่คุ้มค่าในการลงทุนทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน และยังมีข้อเสนอว่าควรปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) โดยลดขนาดโครงการลงเหลือเพียงบทบาทสนับสนุนการผลิตและการค้าของไทย ภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะส่งผลให้สามารถลดขนาดโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนไปได้อย่างมาก ลดความเสี่ยงจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบต่อชุมชนและการเวนคืน แต่ตอนนี้ รัฐบาลกลับทำในทิศทางตรงกันข้าม คือจะเพิ่มขนาดโครงการ แถมรูปแบบธุรกิจก็ไม่ชัดเจน แต่ไปเร่ขายทั่วโลก

 

ดังนั้น สุรเชษฐ์ตั้งคำถามแรกต่อรัฐมนตรีว่า แลนด์บริดจ์จะร่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้เท่าใด ขอให้รัฐมนตรีชี้แจงมาให้ชัด ๆ เอาสักหนึ่งเส้นทางหลัก คือจากตะวันออกไกล (ประเทศจีนฝั่งตะวันออก) ไปยุโรป เพราะโครงการนี้คาดว่าผู้มาใช้หลักคือการถ่ายลำข้ามฝั่งมหาสมุทร (Transshipment) รัฐมนตรีต้องตอบว่ากรณีไม่มีโครงการจะใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายเท่าใด และกรณีที่มีโครงการ เมื่อเทียบกันระหว่างการไปทางช่องแคบมะละกากับการผ่านแลนด์บริดจ์ จะใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายต่างกันเท่าใด

 

ด้านมนพร ได้ตอบคำถามแรกของสุรเชษฐ์ โดยระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์ถูกออกแบบมาเพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนในการขนส่ง เนื่องจากปัญหาความคับคั่งในช่องแคบมะละกา ทำให้เรือต้องลดความเร็วในการเข้าจอดที่ช่องแคบ อีกทั้งยังมีปัญหาของการถูกปล้นในช่องแคบมะละกา ดังนั้น จะมีการขนส่งสินค้าในเส้นทางยุโรป-เอเชียใต้เข้ามาใช้งานแลนด์บริดจ์แน่นอน เพราะปัจจุบันมีสินค้าบางส่วนถูกส่งมาที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ก่อนส่งต่อขึ้นเรือฟีดเดอร์ไปยังประเทศในเอเชียใต้อยู่แล้ว เช่น อินเดียด้านตะวันออก บังกลาเทศ และเมียนมา

 

นอกจากนั้น เส้นทางจากเอเชียตะวันออกที่จะไปประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันมีการขนส่งสินค้าจากจีนไปออสเตรเลียทางเรือโดยตรงก็จริง แต่จีนมีขนาดพื้นที่ใหญ่มาก และมีหลายพื้นที่ที่ไม่ติดทะเล เช่น จีนตอนใต้ ซึ่งจะเห็นว่ามักมีการขนส่งผ่านมาทางบังกลาเทศ ลาว และเชื่อมมายังฝั่งประเทศไทย ดังนั้น แลนด์บริดจ์จะทำให้การขนส่งตู้สินค้าจากจีนตอนใต้ออกไปทางทะเลร่นระยะเวลาได้เร็วขึ้น และมีโอกาสที่ตู้สินค้าจากจีนตอนใต้จะมาออกที่ท่าเรือฝั่งระนองและชุมพร

 

มนพรยังตอบด้วยว่า ท่าเรือในช่องแคบมะละการองรับเรือขนส่งสินค้าได้หลากหลายประเภท ทั้งเรือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเรือฟีดเดอร์ ซึ่งรัฐบาลกำลังทำการศึกษาในเรื่องของประเภทเรือที่เหมาะสมอยู่ รวมทั้งประมาณการด้านตู้สินค้า ว่าเรือขนาดใดเหมาะสมกับเส้นทางใด

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกเส้นทางที่มาใช้แลนด์บริดจ์แล้วจะประหยัดเวลา จากการศึกษาข้อมูลขณะนี้ การขนส่งโดยเรือขนาดใหญ่ไม่ประหยัดกว่าทั้งหมด จึงมีการนำกลับมาศึกษาใหม่ และพบว่าเส้นทางที่ขนส่งสินค้าโดยใช้เรือฟีดเดอร์เท่านั้นที่จะประหยัดในช่วงแรก แต่ในระยะยาวหากมีจำนวนตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น ก็มีโอกาสที่เรือขนาดใหญ่จะเข้ามารับตู้สินค้าในฝั่งท่าเรือระนอง เพราะไม่ไกลจากเส้นทางเดินเรือในปัจจุบัน

 

ต่อการตอบคำถามข้อที่หนึ่งของรัฐมนตรี สุรเชษฐ์กล่าวว่า รัฐมนตรีระบุว่าเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่เข้ามาใช้แลนด์บริดจ์จะไม่ประหยัดกว่าการใช้เส้นทางเดินเรือหลัก แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าในรายงานของ สนข. มีการคาดการณ์ว่าผู้ใช้งานแลนด์บริดจ์ส่วนใหญ่กว่า 80% จะเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มาถ่ายลำข้ามฝั่งมหาสมุทร (Transshipment) แต่ท่านตอบว่าไม่ประหยัด ก็ขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 

มนพรแย้งว่า การที่ตนตอบว่าไม่ประหยัดนั้น หมายความว่าถ้ามีการศึกษาโครงการแล้วพบว่ามีเส้นทางเดินเรือใดที่ไม่ประหยัด ก็ต้องนำสิ่งเหล่านั้นมาทบทวน ประเมินว่าเส้นทางที่ไม่ประหยัดเหล่านั้นจะทำอย่างไรให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการพอใจว่าสามารถลดต้นทุนได้จริง

 

ในส่วนของคำถามที่สอง สุรเชษฐ์ขอถามรัฐมนตรีให้ชัด ๆ ว่าสรุปแล้ว โครงการนี้รองรับสินค้าเทกองหรือไม่ และจะมีการสร้างท่อส่งน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันด้วยหรือไม่

 

มนพรตอบคำถามว่า ในส่วนของสินค้าเทกอง ท่อส่งน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมันนั้น ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าจะมีโรงกลั่นหรือสินค้าประเภทใดเข้าสู่โครงการบ้าง ทั้งหมดยังคงเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ยังไม่มีส่วนของรายละเอียดที่ลงไปถึงรายสินค้า ทั้งนี้ ในส่วนของท่อส่งน้ำมันและโรงกลั่น ทาง สนข. ระบุว่าเป็นปกติอยู่แล้วที่ท่าเรือสำหรับบริษัทเดินเรือขนาดใหญ่ต้องมีการวางท่อไว้สำรอง แต่ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการศึกษา และผลของการศึกษายังไม่เสร็จสิ้น ถ้าเสร็จสิ้นเมื่อใดทางรัฐบาลจะนำมาชี้แจงและรายงานความคืบหน้าในทุกมิติต่อไป

 

สุรเชษฐ์กล่าวหลังฟังคำตอบของรัฐมนตรี โดยระบุว่า ทั้งหมดที่รัฐมนตรีตอบมา ตนได้คำตอบคือทุกอย่างยังไม่ชัดเจน จะประหยัดเวลาหรือไม่ก็ไม่รู้ ถ้าไม่ประหยัดจริงก็เดี๋ยวจะทบทวน แต่ปัญหาคือนายกรัฐมนตรีเอาไปเร่ขายทั่วโลกแล้ว แน่นอนว่าทั้งตนและพรรคก้าวไกลอยากเห็นประเทศพัฒนา แต่ท่านก็ควรศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อน

 

ในส่วนของคำถามที่สาม สุรเชษฐ์ระบุว่า ต้นทุนที่สำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์คือการสร้างถนนมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร 1.25 แสนล้านบาท รถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งลงทุนโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกทั้งยังมีการสร้างรถไฟทางคู่ขนาด 1.435 เมตร อีก 5.76 หมื่นล้านบาท ที่ตลกคืออะไร ๆ ก็ยังไม่ชัดเจน แต่จะสร้างไว้ก่อน แล้วยังสร้างใหญ่มาก

 

การลงทุนที่มหาศาลเช่นนี้ สนข.อ้างว่าอัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR) อยู่ที่ 16.18% ตัวเลขนี้เอามาจากไหน ต้องพิสูจน์กันหน่อยว่าปั้นตัวเลขกันมาอย่างไร รวมถึงการที่บอกว่าอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงินของการลงทุน (FIRR) จะอยู่ที่ 4.67% แล้วยังจะทำ PPP Net Cost (ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือ) จำนวน 1.4 ล้านล้านบาทด้วย รัฐบาลแน่ใจหรือว่าจะเดินไปในแนวทางนี้ เพราะเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง และหลายโครงการที่ผ่านมาก็เห็น ๆ กันอยู่ว่ามีการปั้นตัวเลขให้สูงเกินจริง คำถามคือรัฐจะต้องยกที่ดินสัมปทานให้กับนายทุนกี่ไร่ และนานแค่ไหน ขอให้ชี้แจงมาให้ชัดเจนด้วย

 

สุรเชษฐ์อภิปรายต่อไปว่า ตนเข้าใจดีว่าหลายคนอยากได้โครงการแลนด์บริดจ์ แต่ขอให้ไตร่ตรองให้ดีว่าควรทำหรือไม่ควรทำ เอาเหตุผล เอาตัวเลข มาถกเถียงกันอย่างมีเหตุมีผลและเป็นวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างที่มีผลตอบแทนก็มักมีต้นทุนตามมาด้วย หลายคนอาจคิดว่าต่างชาติเขาจะมาลงทุนให้ แต่อย่าลืมว่ามันมีต้นทุนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประชาชนสูญเสียที่ดิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากเกินจำเป็น มลพิษทางทะเลและชายฝั่ง หรือแม้กระทั่งปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

รัฐบาลควรเปิดข้อมูลแล้วมาถกเถียงกันให้ตกผลึกก่อน ตนและพรรคก้าวไกลก็อยากเห็นการพัฒนาเช่นกัน แต่เรื่องนี้ต้องเอาแนวคิดการพัฒนาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่จะทำโครงสร้างคมนาคมขนาดใหญ่โตแต่สุดท้ายแทบไม่มีคนมาใช้ เหมือนโครงการที่ล้มเหลวในอดีตจากการขายฝันที่ใหญ่เกินจริง ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลนด์บริดจ์แนวเส้นทางเดิม (กระบี่-ขนอม) ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ หรือท่าเรือระนอง ที่มีอยู่แล้วแต่แทบไม่มีคนมาใช้ สูญเสียทั้งเงินและเวลา แต่ผู้รับเหมารวยไปแล้วบนความทุกข์ร้อนของประชาชน

 

สุดท้าย ขอให้พวกเราทุกคนไตร่ตรองให้ดีว่าโครงการนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ ไม่ใช่แค่ตัวเองอยากได้ แต่ต้องไตร่ตรองให้ดี ดูผลการศึกษาให้ดีว่าโครงการนี้ควรทำหรือไม่ควรทำ เพื่อประเทศชาติของเรา ความคุ้มค่าและโปร่งใสสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย” สุรเชษฐ์กล่าว

 

ด้านมนพรได้ตอบคำถามสุดท้าย โดยระบุว่า โครงการใด ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนรัฐบาลย่อมต้องศึกษาอยู่แล้ว จึงได้มีการเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร นำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ มีการศึกษาและให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย มีการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็น เชิญผู้ได้รับผลกระทบมาให้ความเห็น เมื่อสรุปในชั้นกรรมาธิการแล้วก็จะมีการนำมาให้สภาฯ พิจารณาว่าจะรับผลการศึกษาหรือไม่ หากเห็นชอบ รัฐบาลก็จะดูว่ามีเนื้อหาสาระที่จะทำโครงการเหล่านี้หรือไม่ ถ้าตั้งโครงการเริ่มตนมาแล้วก็ต้องมาขอเงินจากสภาฯ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารตามกระบวนการ

 

ส่วนที่สุรเชษฐ์ถามว่ามีการปั้นตัวเลขสูงเกินจริงหรือไม่ เมื่อเข้าสู่สภาฯ ท่านสามารถอภิปรายตัดงบได้ตามที่เห็นสมควร ส่วนกรณีที่ถามถึง PPP Net Cost 1.4 ล้านล้านบาท ตนจะขอรับข้อเสนอดังกล่าวไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำลังทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ในขณะนี้ โดยทุกประเด็นความห่วงใยตนขอน้อมรับและนำไปใส่ในกรณีการศึกษาทุกมิติต่อไป

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #เพื่อไทย #แลนด์บริดจ์ #ประชุมสภา