วันเด็กปีนี้ “พริษฐ์” เสนอ 6 นโยบายการศึกษา แนะยกเครื่องหลักสูตรการศึกษาใหม่-คืนครูให้ห้องเรียน-ป้องกันการตกหล่น
วันที่ 13 มกราคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลแถลงข่าวเรื่องนโยบายการศึกษา เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ “การศึกษาก้าวไกล เด็กไทยก้าวหน้า” โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ภัสริน รามวงศ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 7 พรรคก้าวไกล เป็นผู้ร่วมแถลง
[ 6 ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา ]
พริษฐ์ได้เริ่มต้นว่าเหตุผลที่พรรคก้าวไกลมีการแถลงนโยบายการศึกษาในวันเด็กเพราะการศึกษาส่งผลกระทบต่อทั้ง “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ของเด็กทุกคน โดยตนคิดว่าสิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุดในวันเด็ก
อาจไม่ใช่เพียงแค่ “คำขวัญ” ที่ผู้ใหญ่คิดค้นขึ้นมาว่าเขาควรเป็นอย่างไร แต่คือ “คำสัญญา” ว่าผู้ใหญ่จะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับเขาอย่างไร
ในส่วนของนโยบายปฏิรูปการศึกษา พริษฐ์ระบุว่าพรรคก้าวไกลต้องการเห็นระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อ 3 เป้าหมายหลัก ประกอบด้วย 1) การพัฒนาทักษะ-สมรรถนะ 2) ความเสมอภาค และ 3) ความสุขหรือสุขภาวะทางร่างกายและทางสภาพจิตใจที่ดีของผู้เรียน โดยที่ทั้งสามเป้าหมายต่างสัมพันธ์กัน จะบรรลุแค่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งไม่ได้
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลมี 6 ข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษาของไทย ประกอบด้วย
1) ควรมีการจัดทำหลักสูตรใหม่ที่เน้นทักษะสมรรถนะ ทำให้เด็กได้ใช้เวลาในการเรียนอย่างคุ้มค่า แปรเวลาเรียนให้เป็นทักษะที่ตอบโจทย์ในปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากระบบการศึกษาไทยอยู่ในสภาวะที่เรียนมากได้น้อย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับแต่ละประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันระบบการเรียนการสอนของไทยไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการแปรเวลาเรียนเหล่านั้นให้ออกมาเป็นทักษะที่ตอบโจทย์ สาเหตุหนึ่งก็คือปัญหาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยที่ไม่ได้เน้นหรือวางเป้าหมายในการพัฒนาทักษะสมรรถนะอย่างเพียงพอ โดยที่ยังไม่มีคำยืนยันว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีการผลักดันหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ให้สำเร็จภายในวาระ 4 ปี ทั้งจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล คำแถลงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และในการตอบคำถามในสภาฯเมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณในปี 2567 ซึ่งหากไม่มีการจัดทำหลักสูตรใหม่นี้ให้สำเร็จภายในวาระ 4 ปีก็เท่ากับว่าประเทศไทยจะอยู่กับหลักสูตรการศึกษาเดิมเป็นเวลาถึง 20 ปีจากครั้งล่าสุดที่มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่
สำหรับพรรคก้าวไกล หลักสูตรฉบับใหม่ที่เน้นทักษะสมรรถนะควรประกอบด้วย การปรับเป้าหมายและวิธีการสอน (เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นทักษะการวิเคราะห์ วิชาภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะสื่อสาร) การลดชั่วโมงเรียน การบ้าน หรือ การสอบแข่งขันที่หนักจนเกินไป การเพิ่มเสรีภาพในการเรียนรู้ (เช่น ลดวิชาบังคับ เพิ่มวิชาทางเลือก) และการเพิ่มการตรวจสอบโดยประชาชน (เช่น การสร้างแพลตฟอร์มให้นักเรียนสามารถประเมินคุณภาพหนังสือเรียน รวมถึงการเปิดเผยข้อสอบย้อน TCAS หลังพร้อมเกณฑ์การให้คะแนนเพื่อให้มีความโปร่งใสมากขึ้น)
2) ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการสอน เพื่อคืนครูให้ห้องเรียน และให้นักเรียนมีเวลาอยู่กับครูมากขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะสมรรถนะที่สำคัญ มีการวิเคราะห์ออกมาว่าประมาณ 40% ของเวลาครูถูกใช้ไปกับงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น งานธุรการ การนอนเวร รวมถึงการต้องเขียนรายงานผลดำเนินงานตามนโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นมา
3) ป้องกันการตกหล่นออกจากระบบการศึกษา ปัจจุบันการศึกษายังไม่ได้ฟรีจริง มีค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองทั่วประเทศต้องแบกรับอยู่ในการส่งลูกหลานเข้าสู่การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เคยวิเคราะห์ไว้ว่ากลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะตกหล่นจากระบบการศึกษา ปัจจุบันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายแอบแฝงในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ค่าชุดต่างๆ ถึงประมาณ 2,000-6,000 บาทต่อปี
ปัจจุบันมีสองโครงการที่พยายามเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน คือ (1) ทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นโครงการที่ กสศ. คัดกรองและจัดสรรโดยตรง และ (2) โครงการทุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ที่ กสศ. มาช่วยคัดกรอง โดย สพฐ. เป็นคนจัดสรรงบประมาณให้
ในส่วนของทุนเสมอภาค แม้งบประมาณปี 2567 มีการปรับอัตราต่อหัวขึ้นให้ก็จริง แต่เป็นการปรับขึ้นแบบขั้นบันได จาก 3,000 บาทต่อหัวเป็น 4,200 บาทต่อหัว แต่ไม่ได้ขึ้นทั้งหมดทันทีในปี 2567 แต่ใช้เวลา 3 ปีขึ้นเป็นขั้นบันได พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่าแทนที่จะขึ้นแบบขั้นบันไดควรเป็นการขึ้นทันทีให้เป็น 4,200 บาท ในส่วนทุนปัจจัยขั้นพื้นฐานฯ พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรมีการขยายสองด้าน คือ ขยายให้เด็กยากจนที่ตกสำรวจ 1 ล้านคน และขยายจากปัจจุบันที่ได้แค่เพียงชั้นประถมกับมัธยมต้น ให้เด็กในระดับก่อนประถมและมัธยมปลายได้รับด้วย ซึ่งข้อเสนอสำหรับทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณรวมกันไม่เกิน 3 - 5 พันล้านบาทต่อปี
4) การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่หลายครั้งขาดแคลนอุปกรณ์และขาดแคลนครู ปัญหาที่เจออยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาครูกระจุกโรงเรียนกระจัดกระจาย แม้สัดส่วนนักเรียนต่อครูในระบบทั้งหมด (16.9 : 1) ดูเหมือนว่าครูในภาพรวมจะเพียงพอที่ แต่ปัญหาคือการกระจายตัวของครูมีปัญหาจนทำให้มีครูไม่ครบทุกระดับชั้น
ดังนั้น จึงควรต้องมีการเพิ่มการกระจายตัวของครู เช่น การใช้แรงจูงใจและค่าตอบแทนพิเศษให้ครูในการไปทำงานในพื้นที่ที่อาจจะขาดแคลนครูมากขึ้น รวมถึงการลดความกระจัดกระจายของโรงเรียน โดยการหาทางออกร่วมกันในการบริหารกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก ปรับการจัดสรรงบประมาณให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น แก้ระเบียบให้โรงเรียนแบ่งปันทรัพยากรได้ง่ายขึ้น และ รับประกันค่าเดินทางและบริการรับ-ส่งที่เพียงพอ เป็นต้น
5) คุ้มครองสุขภาพกาย-สุขภาพใจ-ความปลอดภัยของนักเรียน ปัจจุบันยังคงมีข่าวเรื่องความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในกรณีโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน ที่มีกลุ่มนักเรียนประท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของ ผอ. จากกรณีอาหารกลางวันในโรงเรียนมีปริมาณและคุณภาพให้สอดคล้องกับงบประมาณ โดยมีการตั้งคำถามว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงท่าทีของ ผอ. ที่ตอนแรกมีเจตนาจะฟ้องนักเรียนด้วย พ.ร.บ.คอมฯ อีก
ดังนั้น ในส่วนของปัญหาสุขภาพกาย พรรคก้าวไกลเสนอให้-ขยายเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนมัธยม โดยอาจเริ่มต้นจากการขยายให้นักเรียน ม.ต้น ใน โรงเรียนขยายโอกาส สังกัด สพฐ. ทุกแห่ง ซึ่งจะใช้งบประมาณ ~2,000 ล้านบาท/ปี
ส่วนในด้านปัญหาสุขภาพจิต สิ่งที่ทำได้คือการเสริมทักษะให้คุณครูสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ว่านักเรียนที่มีอาการแบบใดมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เพื่อช่วยคัดกรองให้นำไปสู่การรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น การมีคลินิกเยาวชนให้สามารถขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพจิตได้โดยไม่ต้องรายงานต่อผู้ปกครองหรือครู เป็นต้น
และในส่วนของความปลอดภัย ควรยกระดับกลไกเอาผิดทางวินัยกับครูที่ใช้ความรุนแรงกับนักเรียน ปรับเกณฑ์ประเมินผลงานของผู้บริหารในระดับเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่า และเพิ่มการรับรู้และประสิทธิภาพของ MoE Safety Center ในการรับมือกับเรื่องร้องเรียน
6) เพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียน ทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยมาตรการในสถานศึกษาอาจรวมถึงการที่คณะกรรมการสถานศึกษามีตัวแทนนักเรียนให้มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงเปิดให้นักเรียนสามารถร่วมประเมินครูหรือโรงเรียนในฐานะผู้ได้รับบริการทางการศึกษาได้
สำหรับมาตรการเพิ่มการมีส่วนร่วมนอกโรงเรียน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ กำลังศึกษาอยู่ รวมถึงการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนให้ตอบโจทย์เยาวชนมากขึ้น โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งจากเด็กและเยาวชนโดยตรง มีความเป็นอิสระจากรัฐ เพิ่มอำนาจในการผลักดันนโยบาย-เสนอร่างกฎหมายไปที่สภาฯ-ตั้งกระทู้ถามไปที่ฝ่ายบริหาร เป็นต้น
[ ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ]
สำหรับพรรคก้าวไกล ในช่วงต้นปีต่อจากนี้ มีอยู่ 3 เรื่องที่เราจะทำในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุกเพื่อผลักดันนโยบายการศึกษา นั่นคือการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อวางหลักประกันในการแก้ปัญหาที่พูดมาข้างต้น รวมถึงการใช้กลไกกรรมาธิการ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการงบประมาณหรือกรรมาธิการการศึกษา และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็ก เช่น การนำเสนอ พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก เป็นต้น
“คำขวัญนายกที่มีข้อความว่า ‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ เป็นเป้าหมายที่ดี แต่จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ เด็กจะ ‘มองโลกกว้าง’ ได้ หากเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา ได้เรียนหลักสูตรใหม่ที่เท่าทันโลก และมีเวลาพักผ่อนหรือค้นพบตนเองเพียงพอ เด็กจะ ‘คิดสร้างสรรค์’ ได้ หากเด็กได้เรียนหลักสูตรใหม่ที่เน้นทักษะ-สมรรถนะ ครูมีเวลาแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักเรียน และเด็กรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียน เด็กจะ ‘เคารพความแตกต่าง’ ได้ หากเด็กมีเสรีภาพในการเรียนรู้ในวิชาที่แตกต่างกัน รวมถึงเรียนกับครูและภายใต้กฎโรงเรียนที่โอบรับและเคารพความแตกต่างของนักเรียน เด็กจะ ‘ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ ได้ หากเด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบกติกาในโรงเรียน และมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ” พริษฐ์กล่าว