วันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2567

“ศิริกัญญา” ซัดรัฐบาล อ้างวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จัดงบไม่สอดคล้อง อัดวิกฤตทิพย์! 'ดิจิทัลวอลเล็ต'ล่องหนไม่มีในงบปี 67 แต่ “งบกลาโหม” เพิ่มขึ้น แนะทบทวนฝีมือบริหารของรัฐบาลเพื่อไทย

 


ศิริกัญญา” ซัดรัฐบาล อ้างวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จัดงบไม่สอดคล้อง อัดวิกฤตทิพย์! 'ดิจิทัลวอลเล็ต'ล่องหนไม่มีในงบปี 67 แต่ “งบกลาโหม” เพิ่มขึ้น แนะทบทวนฝีมือบริหารของรัฐบาลเพื่อไทย

 

วันนี้ 3 มกราคม 2567 ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล อภิปรายถึงภาพรวมเศรษฐกิจ ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยตั้งข้อสังเกตว่า จากการใช้เวลากับเอกสารงบประมาณกว่าหนึ่งหมื่นหน้า เกิดคำถามขึ้นว่า ‘วิกฤติเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบไม่เหมือนมีวิกฤต’

 

ศิริกัญญากล่าวว่า ปกติฝ่ายค้านจะเป็นคนพูดว่าเศรษฐกิจกำลังวิกฤติ แต่ตอนนี้กลายเป็นนายกฯ ที่ย้ำในหลายครั้งหลายโอกาสว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตแล้ว แต่ถ้าเรากำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจริงๆ ตัวงบประมาณนี่เองจะเป็นตัวบอกว่าเรากำลังอยู่ในภาวะแบบใด จะมีการจัดสรรงบประมาณไว้เพื่อตอบสนองต่อวิกฤติอย่างไรบ้าง

 

ทว่าเมื่อดูรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ระบุเศรษฐกิจปี 2566 จะเติบโต 2.5% ปี 2567 จะโต 3.2% เงินเฟ้ออยู่ในระดับปกติ และจะเกินดุลบัญชีเงินสะพัดทั้งปีนี้และปีหน้า ดูอย่างไรก็ยังไม่ค่อยวิกฤติ แต่เมื่อไปดูเอกสารงบประมาณฉบับประชาชนที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เห็นอัตราการขยายตัวของจีดีพี ซึ่งสะท้อนว่าไม่วิกฤตแน่นอน เพราะโตถึง 5.4% ตนเห็นแล้วตกใจมาก เพราะนี่คือการเติบโตของจีดีพีที่ไม่ได้รวมผลของเงินเฟ้อ

 

ปกติทุกประเทศทั่วโลกเวลาคำนวณอัตราการเติบโตของจีดีพี จะใช้จีดีพีที่ไม่รวมผลของเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลกำลังโชว์ตัวเลขที่รวมผลของเงินเฟ้อ เท่ากับว่ารัฐบาลกำลังจะบรรลุเป้าหมายจีดีพีโต 5% ภายในปีแรกที่เข้ามาบริหาร โดยการโกงสูตรปรับจีดีพีอย่างนั้นหรือ ไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อน นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกรู้ดี ไม่เช่นนั้นประเทศที่เงินเฟ้อสูง เช่น ซิมบับเว เงินเฟ้อกว่า 200% จีดีพีปีต่อปีจะโตเป็นสองเท่า ดังนั้นขอร้องรัฐบาล อย่าโกงสูตรเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมาย” ศิริกัญญากล่าว

 

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า ตามปกติในปีที่เกิดวิกฤติ เราจะจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ จะมีการกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป แต่พอมาดูงบของปี 2567 จะต้องมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 3.6% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง อาจพอบ่งชี้ได้ว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤติ แต่พอดูแผนการคลังระยะปานกลาง พบว่าในปีถัดๆ ไป ตั้งแต่ 2568-2570 ก็ขาดดุลเท่าเดิมทุกปีที่ 3.4% จนดูไม่ออกว่าปีไหนวิกฤตกันแน่ สรุปว่าเราจะเกิดวิกฤตต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2570 เลยหรือไม่ ทำไมรัฐบาลประมาณการณ์แบบนี้ ทั้งที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยประกาศจะจัดทำงบประมาณให้สมดุลภายใน 7 ปี

 

เมื่อมีวิกฤติก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเรือธงของรัฐบาลคือดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่ามีแพ็กเกจใหญ่ 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ทำดิจิทัลวอลเล็ต 500,000 ล้านบาท และนำเงินไปเติมในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 100,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจาก 2 แหล่ง คือ พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีอีก 100,000 ล้านบาท

 

แต่เมื่อดูในงบ 67 กลับไม่มีงบดิจิทัลวอลเล็ตแม้แต่บาทเดียว ส่วนกองทุนเพิ่มขีดฯ ก็ลดจาก 100,000 ล้านบาท เหลือเพียง 15,000 ล้านบาท ตกลงเรายังจะเชื่ออะไรได้อีกจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี สรุปแล้วเรายังต้องลุ้นว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท จะออกได้หรือไม่ และยังต้องลุ้นพึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ อย่างเดียวแล้วใช่หรือไม่ สรุปยอดกู้ตอนนี้ต้องเพิ่มเป็น 585,000 ล้านบาทหรือไม่ เพื่อทำทั้งดิจิทัลวอลเล็ตและกองทุนเพิ่มขีดฯ

 

รัฐบาลกำลังฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ พ.ร.บ.เงินกู้ ฉบับนี้ เสมือนเอาไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว จะมีความเสี่ยงสูงมากหากไม่สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ได้ เท่ากับงบกระตุ้นเศรษฐกิจจะกลายเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจทิพย์” ศิริกัญญากล่าว

 

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีงบกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน แบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และการผลักดันการท่องเที่ยว ที่น่าสนใจคือโครงการตัดถนนเพื่อการท่องเที่ยว สูงถึง 7,700 ล้านบาท คิดเป็นครึ่งหนึ่งของงบการท่องเที่ยว แน่นอนตนทราบว่าบางส่วนมีความจำเป็นต้องตัดถนนเพื่อทำให้เราสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้ แต่เราไม่สามารถทำให้การท่องเที่ยวพัฒนาหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวของนักท่องเที่ยวได้ด้วยการตัดถนนแต่เพียงอย่างเดียว สรุปแล้วนี่มันวิกฤตแบบใด ทำไมกระตุ้นเศรษฐกิจกันแบบนี้

 

อีกหนึ่งลักษณะของงบประมาณในช่วงวิกฤต คือกระทรวงกลาโหมจะเสียสละด้วยการตัดลดงบประมาณของตัวเองเพื่อนำไปใช้พยุงเศรษฐกิจของประเทศ งบกลาโหมจะลดลง เช่นในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง งบกลาโหมลดถึง 21% วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ลดลง 10% วิกฤติโควิด ลดลง 5% แต่ในวิกฤตของรัฐบาลเศรษฐา งบกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น 2%

 

นอกจากนี้ มีโครงการใหม่เพียง 236 โครงการ ใช้งบประมาณเพียง 13,656 ล้านบาทจากงบทั้งหมดกว่า 8 แสนล้านบาท ตนเข้าใจว่ารัฐบาลยังไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการทุกอย่างที่เป็นนโยบายของรัฐบาลได้ แต่โครงการใหม่ที่มีเพียงน้อยนิด ทำให้เราแทบไม่สามารถคาดหวังได้เลยว่าจะเจอกับนโยบายที่รัฐบาลสัญญาไว้ว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำสำเร็จภายใน 1 ปี

 

ดิฉันทราบดีว่าข้อจำกัดของรัฐบาลมีอะไรบ้าง แต่ถ้าท่านไม่แตะปัญหาของโครงสร้างงบประมาณเลย ก็ไม่มีทางหลุดพ้นจากวังวนนี้ได้ และจะไม่สามารถผลักดันโครงการใดๆ ที่สัญญาไว้กับพี่น้องประชาชนผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้เลย งบนี้จะกลายเป็นงบของข้าราชการเท่านั้น” ศิริกัญญากล่าว

 

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า ข้ออ้างอย่างแรกที่รัฐบาลอาจบอก คือท่านมีเวลาเพียง 2 เดือนในการจัดงบประมาณใหม่ แต่ข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะ ครม. มีการรื้องบประมาณใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น รื้อถึง 2 รอบ แต่การรื้องบนั้นทำไม่ง่ายเลย ต้องอาศัยภาวะผู้นำอย่างมากที่ต้องเข้าใจกระบวนการงบประมาณ เจรจากับพรรคร่วมและข้าราชการ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงงบประมาณภายใต้กรอบระเบียบกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ มีแผนหลายระดับซ้อนกัน ยิ่งทำให้การกระดิกกระเดี้ยตัวของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของตัวเอง แทบเป็นไปไม่ได้

 

นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ยังมีปัญหางบมรดกตกทอดจากรัฐบาลประยุทธ์ จากงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท รัฐบาลเศรษฐามีงบที่สามารถจัดสรรได้เอง บรรจุโครงการใหม่ๆ ได้ไม่ถึง 1 ใน 4 หรือประมาณ 740,000 ล้านบาท เมื่อดูว่าแต่ละเรื่องมีปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไรบ้าง เรื่องแรกคือค่าใช้จ่ายบุคลากร ขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 37% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หน่วยงานใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งทำให้บุคลากรภาครัฐเพิ่ม ทั้งนี้งบบุคลากรรวมถึงงบบำเหน็จบำนาญที่โตเร็วและกำลังจะแซงงบเงินเดือนในอีกไม่ถึง 10 ปี ซึ่งต้องย้ำว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้จะตัดบำนาญ แต่นี่คือปัญหาที่เรากำลังเจอ หากเราไม่พูดถึงหรือพยายามแก้ไข เราจะไม่มีวันขับเคลื่อนนโยบายที่ให้สัญญากับประชาชนได้

 

สรุปสุดท้าย ตนอยากชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่อยากโทษว่าเป็นที่รัฐบาลอย่างเดียวที่ไม่สามารถจัดงบประมาณให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่เราน่าจะถอดบทเรียนในเรื่องนี้ ไม่ให้เราพลาดแล้ว พลาดอยู่ พลาดต่อ

 

เรื่องแรกคือการจัดสรรงบผิดพลาด เงินชดใช้เงินคงคลังเกือบ 1.2 แสนล้านบาท เอาไปชดใช้เงินเดือนบุคลากร บำเหน็จบำนาญ ทั้งที่งบส่วนนี้เป็นส่วนที่เราไม่ควรพลาด เพราะเป็นเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้ แต่ 2 ปีที่ผ่านมาอาการหนักมาก ต้องไปควักเงินคงคลังมาใช้ แล้วต้องมาใช้คืนในภายหลัง นี่คือความผิดพลาดของรัฐบาลประยุทธ์ แต่ดูเหมือนรัฐบาลเศรษฐาจะพลาดต่อ เพราะงบบำเหน็จบำนาญตั้งไว้ไม่พอจ่าย เงินเลื่อนเงินเดือนข้าราชการที่ควรต้องตั้งเพิ่มแน่ๆ เพราะรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ตั้งเพิ่ม แบบนี้พยากรณ์ได้เลยว่างบปี 69 จะต้องควักเงินคงคลังออกมาใช้อีก

 

เรื่องนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ คือตั้งงบขาดแล้วให้ไปใช้งบกลาง เช่น นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก็ไม่ได้ตั้งไว้ งบโครงการซอฟต์พาวเวอร์ 5,164 ล้านบาท ก็ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ แล้วจะไปหาเงินที่ไหนถ้าไม่ใช่งบกลาง ความผิดพลาดเหล่านี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นความตั้งใจผิดพลาดหรือไม่

 

นอกจากนี้ ยังมีความผิดพลาดในการประมาณการรายได้ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 วันแรกที่มีการรื้องบ มีการตั้งกรอบประมาณการรายได้ไว้ที่ 2.787 ล้านล้านบาท โดยระบุชัดเจนว่าจะมีการเก็บภาษีการขายหุ้นเพื่อนำมาสมทบเป็นรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้น 14,000 ล้านบาท แต่ต่อมาวันที่ 15 กันยายน นายกฯ พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าจะไม่เก็บภาษีการขายหุ้น ซึ่งตนไม่มีปัญหา แต่ต้องถามว่า 14,000 ล้านบาทนั้น จะเอาที่ไหนมาชดเชย หรือภาษีสรรพสามิตที่ช่วยพยุงค่าน้ำมันให้ประชาชน 60,000 ล้านบาท ซึ่งขอยืนยันว่าตนไม่มีปัญหากับมาตรการต่างๆ เพียงแต่เมื่อกระทบกับประมาณการรายได้ ตนยังไม่เคยได้ยินว่ารัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหนมาชดเชย นอกเสียจากบอกว่าถ้าทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว จะทำให้เราจัดเก็บรายได้รัฐเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท

 

อีกแล้วที่รัฐบาลฝากความหวังเดียวไว้ที่ดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้รัฐเพิ่มขึ้น แบบนี้คือพลาดแบบไม่ควรพลาด เราสามารถทบทวนประมาณการรายได้ หรือกู้ชดเชยขาดดุลให้สูงขึ้นได้ แต่รัฐบาลต้องพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมากับประชาชน” ศิริกัญญาระบุ

 

ศิริกัญญากล่าวว่า เรื่องสุดท้ายคือหนี้สาธารณะ ถ้าดูตัวเลขของปี 67 อยู่ที่ 64% ของจีดีพี ซึ่งตนเห็นว่าตัวเลขนี้ไม่ได้บอกอะไรเลย แต่สิ่งที่น่ากังวลคือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปี เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนของรายได้รัฐ พุ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงตลาดพันธบัตรของไทยค่อนข้างผันผวน ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสัดส่วนที่ว่านี้จะทะลุ 10% ในปี 2568 โดยยังไม่รวมหนี้จากดิจิทัลวอลเล็ตและหนี้ตามมาตรา 28 จากการที่รัฐบาลหยิบยืมหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ เหมือนเป็นบัตรกดเงินสดของรัฐบาล

 

สรุปแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตนไม่เห็นอะไรนอกจากเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลนี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ นี่หรือคือรัฐบาลที่สืบทอดชื่อเสียงกันมาว่าเก่งด้านเศรษฐกิจ นี่หรือคือรัฐบาลที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘หาเงินได้ ใช้เงินเป็น’ กลับผิดพลาดในการจัดงบประมาณได้มากขนาดนี้ ทั้งตั้งงบไว้ไม่เพียงพอ ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ประมาณการรายได้ผิดพลาดแบบไม่น่าให้อภัยและไม่คิดจะแก้ มุ่งแต่จะใช้กลไกนอกงบประมาณในการบริหารประเทศ ไม่สนใจภาระทางการคลัง คงถึงเวลาที่ประชาชนต้องคิดใหม่ กับฝีมือการบริหารราชการของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชุมสภา #งบ67