‘นายกฯ’ แถลง ร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 67 คาด GDP โต 2.7-3.7% ท่ามกลางความเสี่ยงในและต่างประเทศ
เน้นแก้ปากท้อง พลิกโฉมกองทัพให้ทันสมัย เดินหน้าทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไร้ขัดแย้ง
วันนี้
(3 มกราคม 2567) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
พ.ศ.2567 ในกรอบวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท
วาระแรก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
พ.ศ.2567 ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยสรุป
เป็นงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท
ประมาณการรายได้สุทธิ 2.78 ล้านล้านบาท
มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี
กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ดังกล่าว
อยู่ภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในปี 2567
ที่คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะขยายตัวได้
2.7-3.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.7-2.7% และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.5% ของ GDP แต่ยังมีข้อจำกัดหรือปัจจัยเสี่ยงอาทิ ด้านการเมือง
หนี้สินครัวเรือนระดับสูง และปัจจัยต่างประเทศ
งบประมาณรายจ่ายปี
พ.ศ. 2567
มุ่งทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น
ผ่านการดำเนินนโยบายที่จะครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
โดยมีการดำเนินการทั้งระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น
และนโยบายระยะกลางและยาว เพื่อเสริมขีดความสามารถในการเจริญเติบโตของประเทศ
ทั้งนี้
จากการปรับลดเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จนลงมาเหลือเพียง 2.5 % ในไตรมาสที่
3 ของปี พ.ศ. 2566 นั้น
แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังสูญเสียความสามารถในการเจริญเติบโต
ซึ่งเกิดมาจากปัจจัยทั้งผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
การลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆที่สูงขึ้น เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี
กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ
เนื่องมาจากประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรง
จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
โดยเริ่มจากการสร้างอุปสงค์ (Demand) ในกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย
นำไปสู่การผลิตสินค้า ที่จะต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อขยายการผลิต
ก่อให้เกิดการขยายอุปทาน (Supply) มีการพัฒนาขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรม
ยกระดับการผลิตและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นทั้งประเทศ
ด้านการท่องเที่ยว
ยังคงจะเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
โดยทำให้การท่องเที่ยวเข้าถึงเมืองรองมากขึ้น สร้างงานและอาชีพในพื้นที่ดังกล่าว
เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการในพื้นที่
โดยรัฐบาลจะดึงดูดการท่องเที่ยวด้วยมาตรการต่าง ๆ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
นำจุดเด่นทางวัฒนธรรมไปนำเสนอให้กับเวทีโลก
สนับสนุนการใช้อัตลักษณ์ของไทยให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา Soft Power ของประเทศในระยะยาวด้วย
ทั้งนี้
รัฐบาลมีนโยบายการลดรายจ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ
ซึ่งครอบคลุมไปถึงหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ การลดราคาพลังงาน
ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างพลังงานให้เหมาะสม
ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะสามารถแข่งขันได้มากขึ้น
และประชาชนไทยจะเข้าถึงแหล่งงานที่มีคุณค่ามากขึ้น
สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถที่มาจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนระดับโลกได้
โดยรัฐบาลจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่
สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม
ซึ่งรัฐบาลเดินหน้าดึงดูดบริษัทชั้นนำต่าง ๆ
ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อขจัดข้อจำกัดในการลงทุน
วางแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุนเกี่ยวเนื่องให้ครอบคลุมทุกมิติ
ด้านการคมนาคมในประเทศจะสะดวกสบายมากขึ้น
สามารถรองรับความต้องการได้ในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ
โดยรัฐบาลจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง และทำให้การระบบคมนาคมและโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพ
กลายเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทย โดยพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน
และการบริหารจัดการให้ดีขึ้น เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (National Single
Window) ที่จะทำให้ขั้นตอนการยื่นเอกสารและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐสะดวกและง่ายดายมากขึ้น
เป็นต้น
นอกจากนี้
จะมีการลงทุนเรื่องน้ำที่ครอบคลุมทั้งระบบ เช่น น้ำในภาคการผลิต ภาคเกษตร
ภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลจะขยายการเชื่อมต่อชลประทานให้มากยิ่งขึ้น
เพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการปลูกพืช
เลี้ยงปศุสัตว์ ลดต้นทุนในการเข้าถึงน้ำ
ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องปัจจัยการผลิตอีกต่อไป
และทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่เป็นกังวลกับการผลิต ให้ยังคงสามารถลงทุนต่อเนื่องได้
ด้านสังคมและความมั่นคง
ประชาชนจะต้องมีสุขภาวะที่ดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ
เข้าถึงงานบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดยรัฐจะลงทุนการเชื่อมต่อข้อมูลทั้งระบบ อัพเกรดระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดียิ่งขึ้น
รัฐบาลจะดูแลลูกหลานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด
โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย
ซึ่งจะเน้นบำบัดผู้ติดยาและทำให้พวกเขาสามารถกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้
รวมทั้งจะสกัดกั้นยาเสพติดที่ลักลอบข้ามพรมแดนไม่ให้สามารถเข้ามาแพร่กระจายได้
ใช้มาตรการการจับกุมและยึดทรัพย์ผู้ผลิต ผู้ค้า และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง
ทำให้ยาเสพติดไม่สามารถแพร่ระบาดในประเทศไทยได้
ด้านอัตลักษณ์และความเสมอภาค
รัฐบาลจะทำให้คนทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยปราศจากเงื่อนไขทางเพศสภาพ
อายุ ความเจ็บป่วยของร่างกาย ทำให้ได้รับสิทธิครบถ้วนตามที่กำหนดไว้
และเข้าถึงโอกาสต่างๆ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางสังคมที่แท้จริง
ทั้งนี้
นายเศรษฐา กล่าวว่า รัฐบาลจะพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
สอดคล้องไปกับการพัฒนาความมั่นคงในทุกรูปแบบและให้ตรงกับยุคสมัย
ระบบการเกณฑ์ทหารจะเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ โดยมีการสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเอง การฝึกอาชีพ รวมถึงโอกาสในการประกอบอาชีพหลังจากการเป็นทหารประจำการ
ซึ่งจะทำให้สถาบันทหารมีความเป็นมืออาชีพ
มีภาพลักษณ์ที่ดีและใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น
ในด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
มีการดำเนินนโยบายแบบ “การต่างประเทศที่กินได้”
โดยสร้างจุดยืนที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย เป็นประเทศแนวหน้าในภูมิภาค มีอำนาจต่อรอง
และได้รับการยอมรับในสากล มีความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการค้า
การลงทุน การดูแลคนไทยในต่างแดน การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น
ทำให้ประเทศและคนไทยรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและความภาคภูมิใจ
ด้านการพัฒนาศักยภาพของคนไทย
ประชาชนจะต้องได้รับการศึกษาที่เข้าถึงได้ พัฒนาสถาบันการศึกษาให้มีคุณภาพ
และพัฒนาหลักสูตรให้มีมาตรฐานและทันต่อยุคสมัย
รวมทั้งขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมไปถึงระดับวิชาชีพ
เพื่อพัฒนาทักษะสำหรับตลาดแรงงาน หรือผู้ประกอบการยุคใหม่ๆ
สำหรับด้านการเมืองการปกครอง
จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะแก้ไขจุดด้อยของฉบับที่ผ่านมา
ผ่านการทำงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้
โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบนหลักการที่เป็นไปได้มากที่สุดและเหมาะสมกับสถานการณ์
ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ในสังคมไทย
ทั้งนี้
ประชาชนจะได้รับการบริการจากภาคราชการที่เร็วขึ้น โดยปี พ.ศ. 2567 จะใช้งบประมาณรายจ่ายในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น
ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว สะดวก มีประสิทธิภาพ
ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารกระดาษอีกต่อไป
และยังทำให้เชื่อมโยงหลากหลายหน่วยงานเข้าเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน
มุ่งหน้าไปสู่การเป็น E-government ที่แท้จริงในอนาคต
นายเศรษฐา
กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล
เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง
โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์
และรายได้อื่น รวมสุทธิจำนวน 2,912,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4
% จากปีก่อน
และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 125,800 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล
จำนวน 2,787,000 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
พ.ศ. 2567
เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,787,000
ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 693,000
ล้านบาท รวมเป็นรายรับ จำนวน 3,480,000 ล้านบาท
เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย จากการเพิ่มขึ้นของประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ.
2567 จะทำให้รัฐมีรายได้ 2,787,000 ล้านบาท
หรือเพิ่มกว่าร้อยละ 11.9 % ทำให้รัฐบาลมีการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมา
และสามารถตั้งงบประมาณชำระคืนต้นเงินกู้ การชดใช้เงินคงคลัง
และการตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้
สำหรับฐานะการคลัง สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ตุลาคม
2566 มีจำนวน 11,125,428.1 ล้านบาท
คิดเป็น 62.1 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ
ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ 70 % โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาล ซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง
และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 10,537,912.7 ล้านบาท
โดยปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง
ณ วันที่ 31
ตุลาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 297,093.6
ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ถูกปรับให้สูงขึ้น
โดยใช้สมมุติฐานว่า สภาพเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวด้วยดี
โดยจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว
โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินได้มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 2.5 % ต่อปี
ในการประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2566 นั้น
อาจเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี
2566 ยังอยู่ที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5 ในไตรมาสที่ 3
ของปี 2566 ซึ่งน้อยกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ
โดยลดลงมาจากที่อยู่ในระดับที่สูงในปีก่อนหน้า
ซึ่งสะท้อนจากสภาพเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวลง
ทั้งนี้
ในปี 2567
สภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะประสบกับแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
ภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง
ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของการค้าโลก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า จะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ
และภาวะทางการเงินตึงตัว
ที่ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับนโยบายที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายของภาครัฐ
มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566
มีจำนวน 211,750.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือคิดเป็น 2.74 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
นายกรัฐมนตรี
กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น
3,480,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,532,826.9
ล้านบาท หรือคิดเป็น 72.8 % รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
118,361.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.4 % รายจ่ายลงทุน
จำนวน 717,722.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.6 % และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 118,320.0 ล้านบาท
หรือคิดเป็น 3.4 % ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
จำนวน 7,230.2 ล้านบาท
ทั้งนี้
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ
1.
งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รัฐบาลกำหนดไว้ จำนวน 606,765.0 ล้านบาท คิดเป็น17.4 % ของวงเงินงบประมาณ
2.งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ รัฐบาลกำหนดไว้ จำนวน 1,150,144.0
ล้านบาท คิดเป็น 33.0 %ของวงเงินงบประมาณ
3.
งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รัฐบาลกำหนดไว้ จำนวน 214,601.7 ล้านบาท คิดเป็น 6
นายกฯ
กล่าวสรุปหลังอ่านคำแถลงฯ 41
หน้า ว่า งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2567 นี้มีงบประมาณรายจ่าย
3,480,000 ล้านบาท
โดยจะมีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2,787,000 ล้านบาท
และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท
แม้ว่างบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน
แต่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นกว่าร้อยละ 11.9 ทำให้สามารถจัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า
717,722.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 4.1 และสามารถชดใช้เงินคงคลังและชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361.1 ล้านบาทอีกด้วย
ซึ่งจะทำเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาลมีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้นในปีงบประมาณ
พ.ศ. 2568 อีกด้วย
“การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้
จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว
โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ
ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
โดยมีเป้าหมายที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
และเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐา ทิ้งท้าย