วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567

“ณัฐพงษ์” อภิปรายปิดวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.งบปี 67 ชี้ จิ้มตรงไหนก็ “ไม่ตรงปก” บุญเก่าความสำเร็จสมัยทักษิณอาจส่งมาไม่ถึงรัฐบาลนี้ แนะ 5 ก้าวปฏิรูปกระบวนการจัดสรรงบประมาณใหม่ทำได้ทันที

 


ณัฐพงษ์” อภิปรายปิดวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.งบปี 67 ชี้ จิ้มตรงไหนก็ “ไม่ตรงปก” บุญเก่าความสำเร็จสมัยทักษิณอาจส่งมาไม่ถึงรัฐบาลนี้ แนะ 5 ก้าวปฏิรูปกระบวนการจัดสรรงบประมาณใหม่ทำได้ทันที

 

วันที่ 5 มกราคม 2567 ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปรายปิดในส่วนของพรรคก้าวไกล ก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการในเวลาต่อมา

 

ณัฐพงษ์ ระบุว่าครั้งหนึ่งพรรคเพื่อไทยเคยเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ส่งต่อความสำเร็จจากยุครัฐบาลทักษิณ 1 ที่มีทั้งการปฏิรูประบบราชการ และการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สู่ยุค “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เต็มไปด้วยนโยบายต่างๆ ที่ดำเนินการจนประสบความสำเร็จ ซึ่งทำในรูปแบบของกองทุน เป็นนโยบายกึ่งการคลังแทบทั้งสิ้น

 

ในยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายมากำกับดูแลวินัยการเงินการคลัง ทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินการโดยอาศัยเครื่องมือปฏิรูปกระบวนการงบประมาณและการบัญชีภาครัฐไปพร้อมกันได้ ทำให้สามารถดำเนินนโยบายจนประสบความสำเร็จ

 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อไป ว่าแต่แรงส่งเดิมหรือ “บุญเก่า” กำลังจะส่งมาไม่ถึงรัฐบาลนี้ นอกจากกำลังจะถูก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังค้ำคอแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่จะทำให้รัฐบาลคิดใหญ่ทำไม่เป็น คิดไปทำไป หรือคิดอย่างทำอย่าง เพราะจะใช้วิธีการเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว จะไปหวังพึ่งวิธีการกึ่งการคลัง ก็ไม่เหลือพื้นที่อีกแล้วเพราะมี ม.28 ค้ำคออยู่

 

ดังนั้น การดำเนินนโยบายให้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณและนโยบายทางการคลังแบบปกติ ซึ่งมีหัวใอยู่ที่กระบวนการจัดทำงบประมาณ แต่การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็ไม่ได้สะท้อนวิกฤติของประเทศในด้านต่างๆ เลย ไม่ว่าจะเป็น

 

1) วิกฤติทางการคลัง ที่ตัวเลขรายได้รัฐต่อจีดีพีกำลังมีปัญหา หากเปรียบกับการรักษาโรค ถ้าไม่รักษาตั้งแต่วันนี้ ประเทศอาจจะตายได้ในวันข้างหน้า เช่น ที่ รมว.พลังงาน ชี้แจงล่าสุดเกี่ยวกับประเด็น กฟผ. มีการยืนยันว่าตัวเลขประมาณการรายได้ของรัฐผิด เพราะไม่ได้ปรับลดเงินปันผลของ กฟผ. ที่จะทำให้รัฐบาลมีรายได้ลดลง

 

2) วิกฤติความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่รัฐบาลบอกว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า แต่งบประมาณกลับถูกจัดสรรอย่างผิดฝาผิดตัว ไม่เพียงพอ และยังเพิ่มงบประมาณในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอีก 1.5 หมื่นล้านบาท โดยที่ของเก่าแทบไม่เคยถูกใช้ ดังนั้น ปัญหาอยู่ที่วิธีการไม่ใช่ตัวเงิน เช่น งบประมาณที่จัดสรรให้เอสเอ็มอี จากเดิมที่จัดสรรแบบกระจุกตัวก็ต้องเปลี่ยนเป็นการจัดสรรแบบทั่วถึง งบประมาณสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ จากที่จัดสรรแบบเหวี่ยงแหก็ต้องเปลี่ยนเป็นการจัดสรรแบบพุ่งเป้า เป็นต้น

 

3) วิกฤติสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น pm 2.5 ที่วันนี้ประชาชนในกรุงเทพฯ กำลังเผชิญปัญหา แต่เมื่อเปลี่ยนฤดูกาล ปัญหาก็จะไปตกอยู่กับประชาชนในภาคอื่นเหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว การจัดสรรงบประมาณแบบต่างคนต่างทำแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว ต้องคิดเป็นระบบเป็นโครงสร้างจึงจะจัดการปัญหาฝุ่น pm 2.5 ได้ ปัญหาคือนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่าเรื่องนี้สามารถใช้งบกลางได้ แต่คำถามก็คือรัฐบาลไม่ได้คิดถึงปัญหานี้ล่วงหน้าหรือ ถึงต้องจัดไว้ที่งบกลางเช่นนั้น

 

เช่นเดียวกับกรณีเงินอุดหนุนเฉพาะกิจควบคุมไฟป่าสำหรับท้องถิ่น ที่มีการขอมา 1.7 พันล้าน แต่รัฐบาลกลับจัดสรรให้เพียง 50 ล้านบาท ท้องถิ่นจะจัดการไฟป่าได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีกรณีภัยแล้ง ที่มีปัญหาไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำทางการเกษตรเท่านั้น แต่มีปัญหาไปถึงพื้นที่นอกเขตชลประทานด้วย แต่การจัดสรรงบประมาณในปัจจุบันกลับให้ความสำคัญกับพี่ใหญ่อย่างกรมชลประทาน มากกว่ากรมทรัพยากรน้ำ กรมน้ำบาดาล และกรมพัฒนาที่ดิน ที่มีความสำคัญในการพัฒนาแห่งน้ำนอกเขตชลประทานไม่แพ้กัน

 

4) วิกฤติความเหลื่อมล้ำ จะเห็นได้ว่าจากงบประมาณปี 2567 เต็มไปด้วยปัญหาทั้งเบี้ยยังชีพคนชราที่ไม่เพิ่มขึ้น เงินเด็กเล็กที่ไม่ถ้วนหน้า เบี้ยสนับสนุนคนพิการก็ถูกตัด วันนี้คนไทยมากกว่า 5 ล้านคนไม่มีบ้านเป็นของตัวเองจากราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น ไม่สอดคล้องกับค่าแรงที่ไม่ขึ้นตาม แต่งบประมาณด้านความเสมอภาคทางสังคมก็ยังคงตั้งเหมือนเดิม และยังคงใช้ตัวชี้วัดเหมือนเดิมที่ทำมาทุกปี

 

นอกจากนี้ แม้จะเป็นที่เห็นตรงกันว่าการลดความเหลื่อมล้ำต้องใช้การกระจายอำนาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ แต่งบประมาณปี 2567 กลับเป็นปีแรกนับแต่การเลือกตั้ง 2562 เป็นต้นมา ที่สัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลต่ำลงเหลือ 29.1% โดยนับรวมงบถ่ายโอน รพ.สต. และงบกลุ่มจังหวัดเข้าไปแล้ว

 

5) วิกฤติทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทยกำลังเจอวิกฤติแรงงานที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด วิกฤติสังคมสูงวัย หากจะให้คนวัยทำงานสามารถแบกรับวิกฤตินี้ได้มากขึ้น มีแต่ต้องเพิ่มทักษะและขีดความสามารถ ให้สามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากขึ้นและมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาเด็กเกิดต่ำ ซึ่งควรจะเป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว แต่จากงบปี 2567 จะเห็นได้ว่ายังคงไม่มีการจัดสรรงบด้านนี้อย่างดีเพียงพอเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนอยากมีบุตร

 

6) วิกฤติความมั่นคง เช่น ในเรื่องของความสงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีคดีที่เป็นปมของคนไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือกรณีตากใบ ที่นายกรัฐมนตรีควรจะต้องเป็นผู้คลี่ปมให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ซึ่งกระบวนการด้านนิติรัฐนิติธรรมนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณด้วยซ้ำ แต่นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ทราบหรือไม่ว่าในช่วง 3 วันที่ผ่านมานี้เอง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้ายังคงดำเนินคดีฟ้องร้องผู้ชุมนุมในพื้นที่อยู่เลย

 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อไป ว่าโดยรวมแล้วนี่คือวิกฤติของการจัดสรรงบประมาณที่ “ไม่ตรงปก” ไม่ว่าจะจิ้มไปที่ไหนในเล่มงบประมาณจะเจอได้ทุกจุด เช่น การใช้ชื่อโครงการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก แต่การใช้งบประมาณมีแต่การติดอุปกรณ์ในสนามบิน, แผนงานเกษตรสร้างมูลค่าก็กลายเป็นแต่การตั้งงบประมาณใช้หนี้ ธ.ก.ส., แผนงานสร้างรายได้การท่องเที่ยวก็กลายเป็นงบประมาณตัดถนน 7.7 พันล้านบาท, แผนงานพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็กลายเป็นการตัดถนนถึง 52%, แผนงานพัฒนาแรงงาน ก็เต็มไปด้วยการตั้งตัวชี้วัดที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น การวัดจำนวนนักศึกษาว่าไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเท่าไร

 

สิ่งนี้จะทำให้บุญเก่าที่ทำสำเร็จไว้ในรัฐบาลชุดก่อนจะตกมาไม่ถึงรัฐบาลชุดนี้ เพราะระบบงบประมาณของประเทศกำลังมีปัญหา และทางออกก็คือการปฏิรูปกระบวนการจัดทำงบประมาณใหม่ ที่ตนและพรรคก้าวไกลขอเสนอให้รัฐบาลสามารถนำไปดำเนินการได้ทันที 5 ก้าว ประกอบด้วย

 

1) การเอาจริงกับการปฏิรูปกระบวนการจัดทำงบประมาณให้โปร่งใสและประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณฯ มีอุปสรรคในการได้รับความร่วมมือจากสำนักงบประมาณ ในการให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ สำนักงบประมาณวันนี้ยังไม่ได้ส่งข้อมูลคำของบประมาณตามที่เรียกเอกสารไป ตนจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงบประมาณส่งข้อมูลคำขอนี้ให้กรรมาธิการในทันที

 

2) รัฐบาลต้องปฏิรูปกระบวนการอนุมัติงบประมาณในสภาผู้แทนราษฎรหรือในคณะกรรมาธิการวิสามัญเสียใหม่ โดยเฉพาะในการแบ่งอนุกรรมาธิการวิสามัญ ที่ก่อนหน้านี้แบ่งตามของที่ซื้อ ทั้งที่ สส.ควรพิจารณาว่าโครงการใดเหมาะหรือไม่กับยุทธศาสตร์การพัฒนา บริบทโลก และความต้องการของประชาชนในประเทศ ตนจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียืนยันว่าในปีงบประมาณนี้จะมีการปฏิรูปกระบวนการอนุมัติงบประมาณใหม่ ผ่านเสียงข้างมากของรัฐบาลในชั้นกรรมาธิการ ให้การแบ่งอนุกรรมาธิการฯ เป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ

 

ณัฐพงษ์กล่าวว่าทั้ง 2 ก้าวข้างต้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันที ส่วนหลังจากนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถดำเนินการในปีงบประมาณต่อๆ ไปได้ ประกอบด้วย

 

3) มาตรการเชิงนโยบาย ในการเลือกที่จะตั้งงบประมาณให้โครงการใดและเลือกที่จะไม่ตั้งงบประมาณให้โครงการใด ซึ่งต่างก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยการวางหลักเกณฑ์ให้สำนักงบประมาณ ไม่ปล่อยให้ต่างคนต่างตั้งงบเข้ามา ใช้เป็นช่องทางหากินอย่างไม่มีการควบคุม และไม่เป็นไปตามนโยบายหรือหลักเกณฑ์ที่จำเป็น

 

4) การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ (zero-based budgeting) เพราะแม้สำนักงบประมาณกำลังจะมีการนำระบบ e-budgeting มาใช้ แต่ถ้ากระบวนการจัดสรรงบประมาณยังคงใช้วิธีการเหมือนเดิมก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย การจัดทำงบประมาณแบบฐานศูนย์ใหม่ขึ้นทุกปี จะทำให้การจัดสรรงบประมาณรับมือความท้าทายใหม่ ๆ ได้

 

เช่น หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล การนำเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยนายกรัฐมนตรี จะระบุได้ว่าโครงการใดเป็นโครงการที่รัฐมนตรีจัดมาเองเพื่อผลักดันนโยบาย ซึ่งตนขอเรียกว่า “งบภารกิจ”และโครงการใดบ้างที่ผูกพันมาจากรัฐบาลชุดก่อน หรือเป็นภารกิจขั้นพื้นฐานของหน่วยงาน ซึ่งเรียกว่า “งบหน่วยงานประจำ” ให้สภาพิจารณาเป็นคนละก้อนกันโดยใช้วิธีการพิจารณาที่แตกต่างกัน อภิปรายเจาะกันไปที่งบภารกิจของรัฐบาลว่าสอดคล้องหรือไม่กับความต้องการของประเทศ ส่วนงบของข้าราชการประจำ สภาจะเน้นพิจารณาไปที่การออกแบบมาตรการเชิงนโยบายเพื่อทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

5) จัดสรรงบประมาณแบบภารกิจนำ (Mission-Oriented) ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนและพรรคก้าวไกลอยากเห็นในการจัดสรรงบประมาณ โดยเน้นผลลัพธ์ที่มุ่งเป้าให้ประเทศบรรลุได้ 1 ภารกิจ เช่น ภารกิจด้านสร้างการเติบโตสีเขียว แม้มีแผนสภาพัฒน์อยู่แล้ว แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มีแผนหรือไม่ แต่อยู่ที่การทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน หนึ่งภารกิจอาจมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย การจัดโครงการควรเป็นไปตามภารกิจ ขีดเส้นแบ่งให้ชัดว่าอะไรเป็นภารกิจพื้นฐานที่หน่วยงานทำอยู่แล้วและเกี่ยวข้อง กับโครงการที่รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มและออกแบบมาตรการเชิงนโยบาย

 

ณัฐพงษ์ยังกล่าวต่อไป ว่าสุดท้ายตนเชื่อว่าพรรคก้าวไกลได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ไม่ตอบโจทย์และไม่สะท้อนปัญหาของประเทศอย่างไรบ้าง นายกฯ ที่ได้รับโอกาสบริหารประเทศครั้งแรกในชีวิตแล้ว ขอให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

 

โจทย์ของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ใช่คำถามว่าจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ แต่เป็นคำถามว่าเราพร้อมบริหารประเทศหรือไม่ การพิจารณางบประมาณ 3 วันที่ผ่านมาไม่ใช่การทำลายล้างท่าน แต่เป็นเวทีซ้อมมือเพื่อเอาชนะ ด้วยการทำงานที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพและข้อเสนอการบริหารประเทศได้ดีกว่า ด้วยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานอย่างเข้าใจปัญหาและรู้วิธีการแก้ปัญหา แข่งกันเอาชนะใจประชาชน” ณัฐพงษ์กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชุมสภา #งบประมาณ67