กสม.
ชี้ ‘เจ้าหน้าที่ คฝ.’ ใช้ความรุนแรงสกัดกั้นผู้ชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 ละเมิดสิทธิ กระทบเสรีภาพสื่อมวลชน
วันที่
2 มิถุนายน 2566 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(กสม.) มีมติเห็นควรให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กรณีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “ราษฎรหยุด APEC 2022”
กับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) บริเวณถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 เป็นผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
รวมถึงสื่อมวลชนด้วย
ซึ่งอาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน
โดยกสม.
ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย
และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า
เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
กรณีข้างต้น กสม. เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง
การชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 เมื่อวันที่ 16 – 18 พ.ย.2565 เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่
เห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประจำกติกา ICCPR ได้อธิบายเงื่อนไขและขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบไว้ในความเห็นทั่วไป
ฉบับที่ 37 (General comment No. 37 on the right of peaceful assembly) ว่า การชุมนุมที่มีเพียงแต่การผลักหรือดันกัน
หรือการขัดขวางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะหรือการสัญจรของผู้คน
หรือการขัดขวางการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่นับว่าเป็น “ความรุนแรง”
การใช้ความรุนแรงเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมบางคนไม่ควรที่จะถูกนำไปเหมารวมว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมคนอื่น
ๆ และไม่อาจสรุปได้ว่าการชุมนุมทั้งหมดนั้นเป็นไปโดยไม่สงบ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวเห็นว่า
แม้ผู้ชุมนุมบางกลุ่มหรือบางรายในการชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 จะมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าใช้ความรุนแรง เช่น การสาดพริกและเกลือคั่วร้อนใส่เจ้าหน้าที่
หรือ การใช้ท่อนไม้ตีแขนเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่กำลังจับกุมผู้ชุมนุม
แต่ไม่ถึงกับเป็นพฤติการณ์ที่ปรากฏอย่างแพร่หลายในที่ชุมนุม
จึงไม่อาจนำไปเหมารวมได้ว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีเจตจำนงที่จะใช้ความรุนแรง
ประกอบกับแกนนำรวมถึงผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ได้ห้ามปรามผู้ชุมนุมที่ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่
คฝ. อยู่เป็นระยะด้วย จึงเห็นว่า การชุมนุมในภาพรวมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ
อันถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบหรือเงื่อนไขที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
จึงมีผลผูกพันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและประกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวด้วย
ประเด็นที่สอง
การควบคุมดูแลการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 เจ้าหน้าที่ คฝ.
ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า
เมื่อพิจารณาตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.
2558
ประกอบแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย
(United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law
Enforcement) ซึ่งกำหนดว่า ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ
เจ้าหน้าที่ต้องพยายามใช้การเจรจาต่อรองเพื่อคลี่คลายสถานการณ์
หลีกเลี่ยงการใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนจนถึงที่สุดก่อน
หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
การใช้กำลังและอาวุธต้องใช้เพียงเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์
โดยการใช้กระบองต้องไม่ตีบริเวณอวัยวะสำคัญ และต้องแจ้งเตือนก่อนการใช้
ส่วนการยิงกระสุนยางให้ยิงต่อเป้าหมายที่กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตของผู้อื่น
ต้องกำหนดเป้าหมายโดยชัดเจน
จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า
เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน 2 ประเภท ได้แก่
กระบองและกระสุนยาง ซึ่งยิงผู้ชุมนุมโดยไม่เลือกเป้าหมายที่ชัดเจน
และไม่แจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบก่อน
ทำให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บหลายราย
จนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ทั้งยังปรากฎด้วยว่า เจ้าหน้าที่ใช้วัตถุอื่น ๆ ได้แก่
ขวดน้ำ ขวดแก้ว และท่อนไม้ ขว้างปาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้ง
ซึ่งวัตถุเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องมือควบคุมฝูงชนที่จะสามารถใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้
การกระทำข้างต้นจึงไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย
จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน
นอกจากนี้
การใช้กำลังในการเข้าจับกุมผู้ชุมนุม เห็นว่า เจ้าหน้าที่ คฝ.
ใช้กำลังที่เกินกว่าความจำเป็นเพื่อการควบคุมตัวหลายครั้ง เช่น
การผลักจนล้มหรือการรุมเตะและชก
ทั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ถูกจับกุมบางรายมีท่าทีที่ยอมจำนนและไม่ขัดขืน
และแม้บางรายจะแสดงอาการขัดขืนอยู่บ้าง
แต่ก็ไม่ได้มีอาวุธที่จะใช้ต่อต้านจนถึงขนาดที่ผู้ถูกร้องจะต้องใช้กำลังเข้ารุมทำร้าย
ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย
การเข้าจับกุมตัวผู้ชุมนุมในหลายครั้งจึงมีลักษณะเกินความจำเป็น
ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
และละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนเช่นเดียวกัน
ประเด็นที่สาม
การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ คฝ.
มีการกระทำที่กระทบต่อเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนหรือไม่ เห็นว่า
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติกา ICCPR ได้ระบุถึงการคุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไว้ในความเห็นทั่วไป
ฉบับที่ 37 ว่า สื่อมวลชนและบุคคลอื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่สังเกตการณ์หรือการรายงานเหตุการณ์การชุมนุมต้องได้รับความคุ้มครอง
และจะถูกห้ามมิให้ทำหน้าที่หรือจำกัดการทำหน้าที่โดยมิชอบไม่ได้
เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการที่ประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้อย่างเต็มที่
การที่เจ้าหน้าที่
คฝ. ปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุมกรณีนี้โดยปราศจากความระมัดระวัง
ขัดต่อกฎหมายและมาตรฐานสากลที่ควรจะต้องปฏิบัติ จนทำให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ
รวมถึงมีการใช้กำลังทำร้ายและคุกคามสื่อมวลชนให้ปฏิบัติตามคำสั่ง
ทั้งยังพยายามขัดขวางหรือปิดบังไม่ให้สื่อมวลชนรายงานข่าวโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น
ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ของรัฐในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่สื่อมวลชน
อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
และเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญ
จากเหตุผลดังกล่าว
กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2566 จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(สตช.) สรุปได้ว่า
ให้เร่งรัดหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกรายที่รับผิดชอบในการออกคำสั่งและเจ้าหน้าที่
คฝ. ที่ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนโดยไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่กำหนด
และต้องติดตั้งกล้องพกพาที่ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละรายให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากลด้วย
และให้สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ คฝ.
ที่เกี่ยวข้องในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้อำนวยความสะดวกในการชุมนุม
ไม่แทรกแซงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ไม่ห้าม จำกัด ขัดขวาง
หรือรบกวนการชุมนุมโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
หลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการรักษาความสงบเรียบร้อย
โดยควรมุ่งเน้นการลดความตึงเครียดของเหตุการณ์ไม่ให้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย
หากมีสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้กำลังในการควบคุมดูแลการชุมนุมหรือเครื่องมือควบคุมฝูงชน
ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
และระมัดระวังผลกระทบต่อผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์
ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ในพื้นที่การชุมนุม และประชาชนโดยทั่วไป
รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์หรือเปิดช่องทางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังเข้าควบคุมดูแลการชุมนุมและการใช้กำลังเข้าจับกุมที่เกินกว่าความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนในเหตุการณ์การชุมนุมดังกล่าว
ยื่นคำขอให้มีการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
สำหรับมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. มีข้อเสนอให้ สตช.
กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ควบคุมสั่งการดูแลการชุมนุมสาธารณะ
ให้สื่อสารและประสานงานกับผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจของฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา
เพื่อให้การบริหารจัดการชุมนุมเป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้
ให้ผู้จัดการชุมนุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ
กำชับและย้ำเตือนผู้ชุมนุมโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ให้ระมัดระวังการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย งดเว้นการใช้ความรุนแรง
การแสดงพฤติกรรมในลักษณะยั่วยุที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง
หรือกระทำการในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย.