วันพุธที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2566

‘ปดิพัทธ์’ ชี้แจงข้อกฎหมาย ยันผู้ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สามารถเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้ มั่นใจ 8 พรรคร่วมรักษาเจตจำนง จัดตั้งรัฐบาลของประชาชนสำเร็จ

 


ปดิพัทธ์’ ชี้แจงข้อกฎหมาย ยันผู้ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สามารถเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้ มั่นใจ 8 พรรคร่วมรักษาเจตจำนง จัดตั้งรัฐบาลของประชาชนสำเร็จ

 

วันนี้ (14 มิ.ย. 66) ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ชี้แจงกรณีวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนระบุผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หากอยู่ระหว่างถูกฟ้องร้องมีคดีความ และมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถเสนอชื่อผู้นั้นเป็นนายกฯ ได้ โดยอ้างกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อปี 2562

 

ปดิพัทธ์ กล่าวว่า วิษณุคงเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงบ่อย ตัวบทกฎหมายก็มีจำนวนมาก โดยตนขอชี้แจงเป็นรายประเด็นรวม 3 ประเด็น เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าความจริงเป็นอย่างไร

 

ประเด็นที่หนึ่ง หากมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ว่าสิ้นสมาชิกภาพไปแล้วหรือไม่ ซึ่งสำหรับพรรคก้าวไกล ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ที่ปัจจุบันกำลังถูกบรรดานักร้องทางการเมือง ร้องเรียนกรณีการถือหุ้นไอทีวี เข้าข่ายถือหุ้นสื่อ เป็นลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)

 

ตนมั่นใจว่าพิธาสามารถชี้แจงกรณีหุ้นสื่อไอทีวีได้ และเดินหน้าตามกระบวนการสู่การเป็นนายกฯ ตามความคาดหวังของประชาชน แต่หากเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ และศาลเห็นควรให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ก็เป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการเป็น ส.ส. เท่านั้น แต่โดยคุณสมบัติ พิธายังคงเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นคนละตำแหน่งและคนละกรณี จึงย่อมไม่ส่งผลทางกฎหมายต่อการเสนอชื่อพิธาต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ

 

ดังนั้น ความเห็นของวิษณุที่ว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะไม่สามารถเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ จึงไม่ถูกต้อง

 

กรณีเคยเกิดขึ้นแล้วกับธนาธรเมื่อปี 2562 ครั้งเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และมีการอ่านคำสั่งในวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ต่อมามีการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เพื่อลงมติเลือกนายกฯ ขณะนั้นมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ธนาธร ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งไม่ได้มีปัญหาทางกฎหมายใดๆ โดยผลการลงมติของรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ ชนะจนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ

 

ดังนั้น ที่วิษณุกล่าวว่ากรณีธนาธร “โหวตเลือกนายกฯ ไปแล้ว 2 วัน จึงถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 สมัย” นั้น น่าจะเป็นการจดจำช่วงเวลาคลาดเคลื่อน

 

ประเด็นที่สอง กรณีการเข้าชื่อตรวจสอบสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ที่วิษณุระบุว่า “ถ้าฝั่ง ส.ว. จะยื่นก็ใช้ 25 คน” นั้น

 

เมื่อกลับไปดูมาตราดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่ากำหนดให้ ส.ส. ‘หรือ’ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ‘แต่ละสภา’ มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ‘แห่งสภานั้น’ สิ้นสุดลง

 

หมายความว่า ให้สมาชิกของแต่ละสภาสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกของสภาเดียวกัน เช่น ส.ส. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ว. จึงไม่ได้หมายความว่าให้ ส.ส. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ว. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบ ส.ส. ตามที่วิษณุระบุ

 

ดังนั้น เมื่อพิธาเป็น ส.ส. จะให้ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อมาตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพิธา ที่เป็น ส.ส. ตามที่วิษณุกล่าว ก็ดูเป็นความเข้าใจรัฐธรรมนูญผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป

 

ประเด็นที่สาม ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวว่า กรณีผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีขั้นตอนกฎหมายใดที่ขัดขวางไม่ให้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ และวิษณุระบุว่า “ปกติการแต่งตั้งตำแหน่งใดก็ตาม เป็นพระราชอำนาจ กรณีแต่งตั้งข้าราชการประจำ ผู้พิพากษาอัยการอธิบดี หรือแม้แต่ขอประธานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้มีข้อตกลงกับสำนักพระราชวังมา 2-3 ปีแล้วว่าให้เข้มงวดกวดขัน ถ้ามี ก็ให้กราบบังคมทูลขึ้นไปว่า มีเหตุแบบนี้อยู่ แล้วจะโปรดเกล้าฯ อย่างไร ก็แล้วแต่” โดยในกรณีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ ผู้ที่รับผิดชอบคือประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

ตนเห็นว่าการให้ความเห็นของวิษณุแบบนี้ แม้เป็นความพยายามอธิบายกระบวนการที่ทำกันมา แต่ต้องไม่ลืมว่าตำแหน่งอื่นๆ ที่ยกตัวอย่างคือข้าราชการประจำ ต่างจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายการเมืองโดยแท้และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน การยกมาเปรียบเทียบแบบนี้ จะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และกระทบต่อพระราชสถานะทรงดำรงความเป็นกลางทางการเมืองและศูนย์รวมจิตใจ ในเมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นผู้มีอำนาจและต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว วิษณุก็ไม่ควรอ้างถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าตนเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ตนพร้อมรับผิดชอบ

 

ปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รัฐบาลเดิมควรส่งมอบงานให้ว่าที่รัฐบาลใหม่ ตนพูดเช่นนี้ไม่ได้ต้องการละลาบละล้วงหรือล่วงเกินใคร แต่ต้องการร่วมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่ผู้ได้รับมอบความไว้วางใจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง จะได้รับส่งมอบงานเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นรัฐบาล ทำงานรับใช้ประชาชนต่อไป

 

ส่วนการให้ความเห็นของอาจารย์วิษณุ ไม่ทราบว่าให้ความเห็นในฐานะอะไร ถ้าในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ก็คงจะไม่ดีต่อภาพลักษณ์ในการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเท่าใดนัก เพราะประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าอาจารย์วิษณุในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำลังชี้นำใครหรือองค์กรใดอยู่หรือไม่ แต่ถ้าพูดในฐานะนักวิชาการ อดีตอาจารย์สอนกฎหมาย ก็คงห้ามปรามกันไม่ได้ เพราะเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนคนหนึ่ง” ปดิพัทธ์กล่าว

 

ปดิพัทธ์ ทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าจะไม่มีใครหรือองค์กรใด สามารถขัดขวางเจตจำนงของประชาชนที่มอบความไว้วางใจให้พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคกว่า 27 ล้านเสียง ซึ่งจะเป็นพลังให้มุ่งหน้าสู่การจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนจนสำเร็จ เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยและเพื่อส่งมอบนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #จัดตั้งรัฐบาล #เลือกตั้ง66