วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2566

“หมอหวาย” ชี้กรณี "หยก" ควรให้เด็กใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบก็ได้โดยไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่น-ใช้ท่าทีสุภาพจะดึงดูดแนวร่วมได้ดีกว่า

 


“หมอหวาย” ชี้กรณี "หยก" ควรให้เด็กใส่หรือไม่ใส่เครื่อแบบก็ได้โดยไม่ละเมิดสิทธิ์คนอื่น-ใช้ท่าทีสุภาพจะดึงดูดแนวร่วมได้ดีกว่า


เมื่อวานนี้ (14 มิถุนายน 2566) นพ.สลักธรรม โตจิราการ หรือ หมอหวาย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีที่เกิดขึ้นกับ “หยก” ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนวัย 15 ปี ตามที่ได้ทราบกันแล้วนั้น โดยหมอหวายได้โพสต์ข้อความว่า


กรณีหยกประท้วงการบังคับใส่เครื่องแบบที่โรงเรียนด้วยการใส่ชุดไปรเวทมาโรงเรียนจนเกิดการปะทะคารมกันในวันนี้ ผมคิดว่าเรื่องการบังคับใส่เครื่องแบบมาเรียน น่าจะเปลี่ยนเป็นว่า นักเรียนจะใส่เครื่องแบบมาหรือไม่ใส่เครื่องแบบมาก็ได้ แต่ถ้าไม่ใส่เครื่องแบบ การแต่งกายจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและไม่รบกวนสิทธิ์ของผู้อื่น เช่นไม่มีหิดเหาตามตัว ไม่มีกลิ่นเหม็นจนรบกวนสมาธิของผู้อื่น ถ้าเป็นสถานที่ที่อาจมีการบาดเจ็บ เช่น หอผู้ป่วย จะต้องใส่เครื่องป้องกันให้รัดกุม เช่น รองเท้าหุ้มส้น ไม่เปิดให้เห็นหลังเท้า เช่นนี้แล้วนักเรียนจะได้ฝึกใช้เสรีภาพในแบบที่เคารพสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยยังขาด เพราะไม่เคยมีพื้นที่ให้นักเรียนทดลองใช้เสรีภาพว่าใช้ได้ถึงระดับไหนที่ยังไม่รบกวนสิทธิ์ของผู้อื่น คนไทยโตมาเลยมักจะพบว่าด้านหนึ่งก็บังคับผู้อื่นจนไม่คำนึงถึงสิทธิ์ของผู้อื่นเลย หรืออีกด้านหนึ่งก็ใช้เสรีภาพแบบที่ไม่คำนึงถึงถึงสิทธิ์ของผู้อื่น ก็เพราะเราไม่มีพื้นที่ให้คนได้ฝึกฝนการใช้เสรีภาพโดยเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นนั่นเอง


นอกจากนั้นการออกแบบเครื่องแบบที่ดี ทั้งลักษณะภายนอกที่ดูดีและสัมผัสที่นุ่มสบายเมื่อสวมใส่จะทำให้นักเรียนอยากใส่เครื่องแบบมากขึ้นโดยไม่ต้องบังคับ  ยกตัวอย่างเช่นลูกของผม ย้ายจากโรงเรียนที่บังคับให้ใส่เครื่องแบบมาเรียนที่โรงเรียนที่ไม่บังคับให้ใส่เสื้อของโรงเรียนยกเว้นวันศุกร์ ปรากฏว่าลูกผมเลือกใส่เสื้อของโรงเรียนไปเรียนเกือบทุกวันเองโดยไม่ได้มาจากการบังคับแต่อย่างใด


เรื่องการเคารพสถานที่นั้น ผมคิดว่าในโลกยุคนี้สถานที่ต่าง ๆ ในโลกสากลล้วนพยายามลดกติกาในเรื่องเครื่องแต่งกายมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามามากขึ้นครับ การตั้งเงื่อนไขมาก ๆ จะทำให้คนไม่อยากมาเข้าร่วมครับ


การเคลื่อนไหวของหยกกับการตอบสนองของทางโรงเรียน กรณีช่วงแรกก่อนเรื่องวันนี้หยกใส่เสื้อไปรเวท ยังเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าทำได้ โดยอาจต้องยอมรับว่าทางโรงเรียนมีสิทธิ์ลงโทษในกรอบที่ไม่ล้ำเส้น เช่นตัดคะแนนความประพฤติ แต่ไม่ใช่การพูดถึงการไล่ออกโดยไม่มีการแจ้งผู้ปกครองและการสอบสวนอย่างเป็นระบบ ถ้าคิดว่าเด็กทำผิดกฎ ผู้ใหญ่ควรแสดงให้ดูว่าเราทำตามกฎกติกาจะดีกว่า ส่วนเรื่องที่ว่าหยกอัดเสียงคู่สนทนาไว้ แน่นอนโดยมารยาทควรจะขอคู่สนทนาก่อน แต่ถ้าไม่ได้ขอ การตอบโต้ก็ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่นแค่แจ้งโดยไม่ต้องใช้อารมณ์ว่าควรจะแจ้งคู่สนทนาก่อน และหากนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคู่สนทนาถือว่าอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิ์ก็เท่านั้นครับ


ส่วนเรื่องวันนี้ที่มีความพยายามปีนเข้ารั้วโรงเรียนและต่อว่ายามโดยคำหยาบคาย ผมเองคิดว่าการใช้คำหยาบไม่เหมาะสมเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพูดกับยามซึ่งเป็นแค่ฟันเฟืองเล็ก ๆ ไม่ใช่ตัวการใหญ่ แต่ก็เข้าใจได้ เพราะหยกกับเพื่อนคงยังรู้สึกโกรธเคืองจากเหตุการณ์ในห้องปกครอง ถ้าผมจะพูดกับหยกคงบอกว่าผมเข้าใจประเด็นที่หยกเรียกร้องครับ การใช้ท่าทีสุภาพจะทำให้คนเห็นภาพที่ตัดกับความป่าเถื่อนได้ดีและสามารถดึงดูดแนวร่วมได้ดีกว่าการแรงมา-แรงกลับครับ


สุดท้าย สังคมไทยมีค่านิยมเรื่องเด็กควรเชื่อฟังผู้ใหญ่ก็จริง แต่ก็มีค่านิยมอีกอย่างว่าผู้ใหญ่ควรมีเมตตาต่อเด็กด้วย ถ้าจะเรียกร้องให้เด็กทำตามค่านิยมของสังคมไทย ก็ควรดูว่าผู้ใหญ่ได้ทำตามค่านิยมของสังคมไทยหรือยังครับ


อ้างอิง : https://www.facebook.com/profile.php?id=692245758


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #หยก #ค่านิยมของสังคมไทย