91 ปี อภิวัฒน์สยาม ครช. ออกแถลงการณ์ 3 ข้อเรียกร้อง ตามหาหมุดคณะราษฎร คืนความยุติธรรมคดีการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ร่วมวางดอกไม้จุดเทียนหน้าหมุด พร้อมรำวงฉลองวันชาติ
วันนี้ (24 มิ.ย. 66) ที่ลานหน้าหน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และแนวร่วมเครือข่าย จัดงาน "มุ่งหน้าธรรมศาสตร์ เฉลิมฉลองวันชาติราษฎร" เนื่องในวาระ 91 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475
เวลา 17.00 น. เสียงเพลงเพื่อราษฎร โดยอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ และบทกวี โดยเจษฎา ศรีปลั่ง จากเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี
จากนั้น 17.40 น. ปาฐกถา “91 ปี อภิวัฒน์สยาม กับการสร้างประชาธิปไตยด้วยรัฐธรรมนูญประชาชน” โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
ต่อมาผู้ดำเนินรายการกล่าวเชิญชวนผู้ร่วมงาน ร่วมร้องเพลงวันชาติ 24 มิถุนา ตามด้วยการพูดคุยในวงเสวนา “เล่าฝัน ความหวังรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดย น.ส.บุณยนุช มัทธุจักร หรือ แตงโม ตัวแทนจาก โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง และ น.ส.จิรนุช เปรมชัย จากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ
ภายหลังเสร็จสิ้นวงเสวนา มีการจัดพิธีรำลึกอภิวัฒน์สยาม 2475 บทกวีจาก "รอนฝัน ตะวันเศร้า"
จากนั้นตัวแทน ครช.ได้เชิญกลุ่มเครือข่ายแนวร่วมพร้อมพวงมาลารำลึก 91 ปีอภิวัฒน์สยาม ของแต่ละกลุ่ม อาทิ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง, พิพิธภัณท์สามัญชน, เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี สมัชชาคนจน, โดมรวมใจ, โคราชอภิวัฒน์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง, เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ, คณะรณรงค์เพื่อเราจะธรรมนูญฉบับประชาชน เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน สหสภาพคนทำงาน, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง, กลุ่ม 24 ประชาธิปไตย, คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ ยืนด้านหน้าเวที
ตามด้วยการ ‘แถลงการณ์เครือข่ายประชาชน รำลึกการอภิวัฒน์สยาม 247’ เนื่องในวันชาติราษฎร 24 มิถุนายน 2566 ใจความว่า
ตั้งแต่เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มาจนถึงวันนี้ ก็เป็นเวลากว่า 91 ปีแล้วที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระะบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย การปกครองที่มอบความหวังและศักดิ์ศรีแก่ราษฎร มอบอำนาจในการตัดสินใจกำหนดความเป็นไปแห่งชีวิตของราษฎรทั้งหลาย ดังความตอนหนึ่งในคำประกาศของคณะราษฎรที่ว่า ‘ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร”
ทว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็ประสบกับอุปสรรคหลายครั้ง เพราะชนชั้นนำหาทางจะทำลายอำนาจของประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อกลับไปสู่อำนาจแบบเดิม ทำให้ประชาชนถูกปิดปาก ถูกบิดกั้นจินตนาการอันเสรีโดยกฎหมายที่ถูกสร้างและใช้อย่างไม่เป็นธรรม ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ทำให้ตลอด 91 ปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยการทำลาย การตั้งคำถาม การต่อสู้ของประชาชนที่ไม่เคยหยุดนิ่งและศิโรราบแก่อำนาจที่คุกคามประชาชน จนหลายคนถูกจำกัดอิสรภาพ ถูกทำให้บาดเจ็บล้มตาย ไปจนถึงบังคับให้สูญหาย
ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดนั้น ก็กลายเป็นเครื่องมือเสริมความชอบธรรมให้แก่บรรดาซนชั้นนำ ทั้งยังมีเนื้อหาประชาชนยากที่จะเข้าใจ กระบวนการร่างและแก้ไขที่ไม่มีเสียงของประชาชน รวมถึงอำนาจพิเศษบางอย่างที่คุ้มครองป้องกันรัฐธรรมนูญในบางประเด็นมิให้อาจถูกแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงได้ กฎหมายสูงสุดจึงไม่เคยเป็นกติกาที่รับรองคุณค่าของประชาชนและจำกัดอำนาจรัฐที่จะคุกคามประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเครือข่ายประชาชนที่มาร่วมฉลองวันชาติราษฎรในวันนี้ ขอประกาศเจตจำนงที่จะ “สืบสานและรักษา” มรดกการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด พร้อมกับ “ต่อยอดและพัฒนา” ให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยวัฒนาถาวรในแผ่นดินนี้ พร้อมกับประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อไว้ ณ ที่แห่งนี้ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในเวลาย่ำค่ำของวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ได้แก่
1. เรียกร้องให้มีการตามหาสัญลักษณ์ของประชาชนที่หายไป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่คณะราษฎรได้สร้างขึ้น อาทิ หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์วีรชนกบฏบวรเดชที่หลักสี่ และชื่อค่ายทหารที่เคยเป็นชื่อของประชาชน
2. เรียกร้องให้ศาลยุติการดำเนินคดี และคืนความยุติธรรมให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง ยุติการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ต้องขังทางการเมือง ผู้ลี้ภัย และผู้ถูกบังคับให้สูญหาย
3. รัฐสภา โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ จะต้องมีการพิจารณาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือร่างใหม่ทั้งฉบับ เป็นการเร่งด่วนโดยทันที รัฐธรรมนูญดังกล่าวต้องเป็นของประชาชน มาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.ร. และรัฐสภาต้องรับฟัง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกหมวดทุกมาตรา หรือร่างกฎหมายต่างๆ โดยไม่ปัดตกหรือเลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเหตุใด
ในวันชาติราษฎรนี้ เราทั้งหลายขอยืนยันว่า "ประเทศนี้เป็นของราษฎร อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนี้ จึงต้องเป็นของประชาชน" ดังที่คณะราษฎรได้อภิวัฒน์และมอบอำนาจสูงสุดให้แก่ราษฎรทั้งหลาย ในย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475
จากนั้นตัวเเทนเครือข่ายกลุ่มนักกิจกรรมต่าง ๆ ได้นำพวงหรีดไปแขวน บริเวณด้านหลังหมุดคณะราษฎรจำลองเท่าขนาดจริง ก่อนที่ประชาชนจะทยอยวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึก ก่อนที่จะร่วมรำวงย้อนยุคเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนา และแยกย้ายเวลาประมาณ 20.00 น.
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #91ปีอภิวัฒน์สยาม #ครช #คณะราษฎร