"ชัยธวัช"มั่นใจประชุมประธานสภาฯ "เพื่อไทย-ก้าวไกล"
หาข้อสรุปที่ดีได้ พร้อมเผยความคืบหน้ารัฐบาลใหม่
มั่นใจมีฉากทัศน์เดียวเลือกพิธาเป็นนายกฯ
วันนี้
(26 มิถุนายน 2566) ที่พรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน
เลขาธิการพรรคก้าวไกล
ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการหารือตำแหน่งประธานสภาระหว่างพรรคเพื่อไทย
และพรรคก้าวไกล ว่า ทางพรรคก้าวไกลจะพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยในวันที่ 28 มิ.ย. หลังจากวันที่ 27 มิ.ย. พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมส.ส.ในพรรค
คาดว่าในวันที่ 28 นี้จะได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ
ซึ่งจะนำไปเสนอในที่ประชุม 8 พรรคร่วม ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ ส่วนแนวทางที่จะเสนอให้พรรคก้าวไกลเป็นประธานสภา
เรายังเสนอเช่นนั้นอยู่ หลักการทั่วไปแล้ว ประธานสภาควรจะเป็นของพรรคอันดับที่ 1 ซึ่งคงต้องให้เวลาพรรคเพื่อไทย ได้พูดคุยกันและหาข้อสรุป
ซึ่งเป็นกระบวนการภายในพรรค เราไม่มีเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้พรรคเพื่อไทย
ยกเก้าอี้ประธานสภาให้กับพรรคก้าวไกล ตนคิดว่าเป็นหลักการทั่วในระบบรัฐสภา
พวกเราควรจะช่วยกันฟื้นฟูระบบประชาธิปไตย ให้ระบบการเมืองกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยปกติ
เมื่อถามว่า
ทางสมาชิกเพื่อไทยบางส่วนกล่าวว่า เก้าอี้ประธานสภาต้องเป็นของพรรค
เพื่อไทยเท่านั้น จะมีผลต่อการเจรจาหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า
ต้องให้ผ่านการประชุมภายในของพรรคเพื่อไทย ก่อน แต่ตนคิดว่าน่าจะได้ข้อสรุปที่ดี
ที่จะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันประสบความสำเร็จ เรายังเชื่อว่าพรรค เพื่อไทย
ก้าวไกลยังคงมุ่งมั่นที่จะทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง
ที่อยากให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมมาบริหารประเทศ แทนรัฐบาลชุดที่ผ่านมา
สำหรับความคืบหน้าในการพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา
ชัยธวัชกล่าวว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ จะรอดูในขั้นแรกคือการเลือกประธานสภาฯ เชื่อว่า
ส.ว.ส่วนใหญ่ ยังมีมาตรฐานเหมือนปี 2562
ว่าถ้าพรรคการเมืองใดสามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรได้
ก็สมควรได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การเลือกประธานสภาฯ
จะสะท้อนว่าการจับมือร่วมกันระหว่าง 8
พรรคการเมืองที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ยังคงมีความเหนียวแน่นเหมือนเดิม
เมื่อผ่านเรื่องนี้ไปแล้ว จะทำให้ ส.ว.
จำนวนมากมีความเชื่อมั่นว่าพรรคก้าวไกลยังเป็นแกนนำในการรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรได้
กระแสข่าวที่บอกว่ามีการขอให้พรรคก้าวไกลลดเพดานเรื่องมาตรา
112 นั้น ชัยธวัชกล่าวว่า
นโยบายและความเหมาะสมของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค
ประชาชนได้แสดงออกและตัดสินใจใช้วิจารณญาณของตนเองไปแล้วผ่านการเลือกตั้ง
“ดังนั้น ในขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาฯ
เรายังหวังว่าทุกฝ่ายที่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง
จะยึดมั่นว่าถ้าพรรคการเมืองไหนสามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรได้
ชนะการเลือกตั้งมาแล้วได้อันดับที่ 1
ก็ควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี อันนี้เป็นกระบวนการที่ควรจะเป็นในระบบรัฐสภา”
เชื่อว่า
ส.ว.จำนวนมาก จะยึดมั่นในหลักการนี้ เพราะเมื่อปี 2562 แม้พรรคที่ชนะอันดับ 1 ไม่สามารถขึ้นเป็นนายกฯ ได้ เพราะเกิดกระบวนการที่ไม่ปกติ และพรรคอันดับ 2 สามารถรวบรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ส.ว. ก็ให้เหตุผลนี้ในการโหวต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ส่วนข้อกังวลอื่น
ๆ ในอนาคต ว่าพิธาหรือพรรคก้าวไกลหรือรัฐบาลของพรรคก้าวไกล จะไปสร้างปัญหาอะไรหรือไม่นั้น
ชัยธวัชกล่าวว่าใครเป็นนายกฯ หรือรัฐบาล
ก็ไม่สามารถทำอะไรที่ฝืนความเห็นชอบของเสียงส่วนใหญ่ได้
ถ้าไปสร้างความขัดแย้งทำให้สังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้
มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหารหรือในสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขกฎต่าง ๆ แม้จะมีความเห็นไม่เหมือนกัน
แต่กระบวนการหาข้อยุติควรพูดกันในรัฐสภา ซึ่งเป็นกระบวนการนิติบัญญัติปกติ
เป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยหาข้อยุติ
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคก้าวไกลเตรียมฉากทัศน์ไว้กี่แบบในวันโหวตนายกฯ
ชัยธวัชเชื่อว่าจะมีฉากทัศน์เดียวคือเลือกพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้ามีฉากทัศน์อื่น
ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง ทั้ง ๆ ที่เราเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง ทั้ง ๆ
ที่ในสังคมประชาธิปไตย กระบวนการการเลือกตั้งน่าจะเป็นกระบวนการหาข้อยุติระหว่างฝักฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันที่ดีที่สุดแล้ว
ตามฉากทัศน์ที่ได้วางเอาไว้
การโหวตนายกฯ ต้องจบภายในครั้งเดียว ถ้ากระบวนการดำเนินไปแบบไม่ปกติ
ไม่มีความชัดเจนทางการเมือง ก่อให้เกิดความกังวลในเสถียรภาพในทางการเมืองแบบนี้
ก็จะกระทบกับหลายภาคส่วน ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังรอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วนหลายเรื่อง
นี่เป็นเรื่องแปลกที่เมื่อมีการเลือกตั้งและผลออกมาค่อนข้างชัดว่าขั้วไหนได้รับเสียงจากประชาชนหรือเสียงข้างมาก
แต่เศรษฐกิจกลับตอบรับในทางลบ
เพราะมีความกังวลใจในเรื่องความชัดเจนว่าผลในการจัดตั้งรัฐบาลจะสอดคล้องเป็นไปตามเสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งหรือไม่
ดังนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายคือดำเนินให้เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าถ้าในวันโหวต
พรรคเพื่อไทยพลิกชนะได้เป็นนายกฯ พรรคก้าวไกลจะสามารถรวมกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่
ชัยธวัชกล่าวด้วยความมั่นใจว่า
ตนและพรรคก้าวไกลเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีความมุ่งมั่นและความจริงใจในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกล
เราและอีกหลายพรรคได้ผ่านการต่อสู้ผลักดันเพื่อให้ประเทศไทยกลับไปเป็นประชาธิปไตยมาแล้ว
เราเคยต่อต้านการรัฐประหารร่วมกันมาแล้ว เราเคยไม่เห็นด้วยกับการใช้กระบวนการพิเศษจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
เราไม่เห็นด้วยกับเมื่อปี 2562 ที่พรรคที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งไปใช้เงื่อนไขหรืออำนาจพิเศษ
ไปรวบรวมเสียงข้างมาก แล้วก็ขึ้นมาเป็นรัฐบาลแทนได้
“ผมยังเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยยังมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยร่วมกับพรรคก้าวไกล”
ชัยธวัชกล่าว
ส่วนกรณีที่มีความกังวลว่าการเสนอให้วันชาติเป็นวันที่
24 มิถุนายน จะกระทบกับการตัดสินใจของ ส.ว. หรือไม่ ชัยธวัชกล่าวว่า
ข้อเสนอพูดถึงประวัติศาสตร์ว่าวันที่ 24
มิถุนายนเคยถูกกำหนดเป็นวันชาติ ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว ในอดีตก็เคยมีการเสนอให้วันสำคัญทางการเมืองในทางประชาธิปไตยเป็นวันหยุด
เพื่อให้ความสำคัญกับคุณค่าในทางประชาธิปไตย เช่น วันที่ 14
ตุลาคม เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลาย
และตนคิดว่ายังไม่ใช่ประเด็นที่จะมาถกเถียงกันในตอนนี้
สุดท้าย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษากรณีพรรคก้าวไกลฟ้อง นพ.วรงค์
เดชกิจวิกรม ชัยธวัชกล่าวว่า ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่มาจนถึงพรรคก้าวไกล
เราพยายามจะไม่ฟ้องร้องใครถ้าไม่ถึงที่สุดจริง ขๆ
เราเป็นพรรคที่มีนโยบายส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชน
แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นการกล่าวหาใส่ร้ายเกินไปจริงๆ
และมีกระบวนการอย่างต่อเนื่อง โดยกรณีนี้เข้าใจว่าเป็นการฟ้องละเมิด
เรียกค่าเสียหาย ก็ต้องรอดูผลคำวินิจฉัยของศาลต่อไป
ส่วนกรณีที่เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องเรียนพิธา
ทั้งเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและกรณีหุ้นไอทีวี
ชัยธวัชกล่าวว่าการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนเรื่องอื่นหากจะมีประเด็นในทางกฎหมาย เช่น มีการไปร้องศาล
ร้อง ป.ป.ช. หรือร้อง กกต. ก็เป็นไปตามกระบวนการปกติ
ซึ่งจนถึงวันนี้เรายังไม่ได้รับหนังสือจาก กกต. ที่เรียกให้ไปชี้แจงแต่อย่างใด
แต่ก็พร้อมเสมอในการชี้แจงข้อเท็จจริง
“อย่างเช่นกรณีหุ้นไอทีวี พวกเราพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง
จากที่ได้นำเสนอผ่านสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย ก็น่าจะชัดเจนแล้วว่าสถานะไอทีวีเป็นอย่างไร
จริงๆ นอกจากเรียกทางพรรคก้าวไกลและคุณพิธาไปชี้แจงแล้ว ก็อยากให้ กกต.
เรียกไอทีวีไปด้วยเหมือนกันว่ากระบวนการที่ผ่านมาในการประชุมที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่ารายงานไม่ตรงข้อเท็จจริงหรือข้อพิรุธต่างๆ
ในรายงานงบการเงินเป็นอย่างไร และไอทีวียังยืนยันหรือไม่ว่าตกลงตัวเองเป็นบริษัทสื่อหรือไม่กันแน่
จึงจะมีความสมบูรณ์ในการพิจารณา” ชัยธวัชกล่าว