วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566

“พิธา” นำทีม ส.ส.ก้าวไกล ยกขบวนรายงานตัว เชื่อ คุยส.ว.เข้าใจ ไม่ติดปมแก้ไข ม.112 ยืนยัน จุดยืนรักษาสถาบันด้วยการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามการเวลา

 


“พิธา” นำทีม ส.ส.ก้าวไกล ยกขบวนรายงานตัว เชื่อ คุยส.ว.เข้าใจ ไม่ติดปมแก้ไข ม.112 ยืนยัน จุดยืนรักษาสถาบันด้วยการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามกาลเวลา


วันนี้ (27 มิถุนายน 2566) เวลา 09.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้งหมด 151 คน เดินทางมารายงานตัวเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา พร้อมระบุว่า ในครั้งนี้จำนวนส.ส.ของพรรคก้าวไกลมีมากกว่าตอนเป็นพรรคอนาคตใหม่ถึง 2 เท่า แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่ตัวเลขจำนวนส.ส. แต่เป็นความตั้งใจที่เราจะทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ซึ่งเหตุผลที่เลือกมาในวันนี้มีหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเพราะตนเองติดโควิด-19 และเพราะเป็นวันที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องด้วยเป็นวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับแรก


อย่างไรก็ตาม สำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของส.ว.ต่อจากนี้ ตนไม่ได้กังวลใจ เพราะแต่ละท่านคงมีดุลยพินิจในการโหวตเลือก ดังนั้นหากส.ส.ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภา ส่วนตัวเชื่อว่าส.ว.ก็คงจะโหวตให้ตามมติที่มาจากประชาชน จึงเชื่อว่าหากส.ว.ยึดหลักการให้มั่น ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ต้องกังวล พร้อมยืนยันว่าที่ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเจรจากับส.ว.เป็นความจริง แต่คงมีส.ว.เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีโอกาสได้พูดคุยกับสื่อมวลชน ดังนั้นขอให้รอเวลาไปก่อน


เมื่อถามว่า ความคืบหน้าในการเจรจากับส.ว.นี้ ตีเป็นตัวเลขส.ว.จำนวนกี่คน นายพิธา กล่าวว่า เพียงพอสำหรับโหวตให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน ซึ่งเรื่องที่พูดคุยกับส.ว.นั้น ก็มีด้วยกันหลายประเด็นที่เป็นข้อกังวลใจ จึงได้เน้นย้ำให้ส.ว.ส่วนใหญ่ยึดหลักการโหวตนายกรัฐมนตรีแบบเดียวกับปี 2562 กล่าวคือหากสภาผู้แทนราษฎรรวมเสียงข้างมากได้ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องฝืนมติของประชาชน


อย่างไรก็ตาม นายพิธา ไม่ได้ตอบคำถามว่าได้พูดคุยประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ทั้งนี้ เมื่อถามถึงส.ว.ส่วนใหญ่ที่ยังมีปัญหากับนโยบายแก้ไขมาตรา 112 นายพิธา ยืนยันว่า การแก้ไขมาตรานี้มีการพูดคุยอย่างกว้างขวางในสังรมตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และยังถือเป็นทางออกของสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาการใช้มาจราดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมือง รังแกเยาวชนคนเห็นต่าง ไม่เป็นผลดีกับสถาบันใดเลย


“และการจะรักษาสิ่งทีเรารักคือให้มีการแก้ไขตามบริบท ของสังคมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นเรื่องนี้คงไม่เป็นประเด็นที่ทำให้เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลสะดุดลง แต่เมื่อมีข้อมูลหลายฝ่ายอาจจะมีการเข้าใจผิด ย้ำว่าแก้ไขคือแก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก และเมื่อได้พูดคุยกับส.ว.ก็เข้าใจกันมากขึ้น ว่าในการรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประมุขก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศไทยในยุคที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อย ๆ”


ขณะเดียวกันเมื่อถามต่อว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้ไปไม่ถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายพิธา ระบุว่าหากมีก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเหมือนเป็นการเอาเสียงที่มาจากการเบือกตั้งของประชาชนมาปะทะกับสถาบันโดยตรง จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอันตรายอย่างยิ่ง ดังนั้นเราไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้าง


ส่วนสำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้อัยการสูงสุดพิจารณารับหรือไม่รับคำร้อง กรณีมีผู้ร้องเรียนให้พรรคก้าวไกลยุติการหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 นายพิธา กล่าวว่าเป็นเรื่องระหว่าง 2 หน่วยงาน ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะการแก้ไขเพียงกฎหมายเดียวไม่ใช่การล้มล้างระบอบการปกครอง จึงเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริงไปมาก ดังนั้นพรรคก้าวไกลขอยืนยันหลักการว่าเราจะรักษาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ทั้งนี้ นายพิธา ไม่ได้ตอบคำถามว่าพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคก้าวไกลหรือไม่ แต่ระบุเพียงให้รอการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยในวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.)


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธา #พรรคก้าวไกล #ก้าวไกล