ยังไม่มีรายงาน คกก.ไต่สวน เรียก ‘พิธา’
ให้ข้อมูล ปัดตอบยื่นศาลรธน. ก่อนโหวตนายกฯ
วันที่ 29 มิถุนายน 2566 นายแสวง บุญมี
เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่า เรื่องนี้มีความสลับซ้อนทางกฎหมาย
สืบเนื่องมาจากคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง
โดยสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ตามห้วงเวลา สถานะ วิธีการ และการวินิจฉัย
โดยเงื่อนไขแรก ก่อนการเลือกตั้ง
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเป็นเรื่องของผู้สมัครซึ่งจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง
โดยจะเชิญผู้มีลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติมาชี้แจงหรือไม่มาชี้แจงก็ได้
ก่อนส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีทั้งหมด 37 คดี
สำหรับเงื่อนไขที่สองนั้น
หลังการเลือกตั้งแต่ยังไม่ได้ประกาศรับรอง ส.ส. หากพบว่า ขาดคุณสมบัติ
และมีลักษณะต้องห้าม คณะกรรมการไต่สวนจะดำเนินการตามมาตราร 151
ซึ่งเป็นการดำเนินคดีอาญา และเป็นอำนาจของคณะกรรมการไต่สวนที่จะเชิญ พิธา
มาให้ข้อมูล ตามระเบียบ ซึ่งส่วนตัวยังไม่ได้รับรายงานเพราะเป็นความลับของคณะกรรมการไต่สวน
สำนักงาน กกต. ไม่อาจแทรกแซงได้ โดยกรอบระยะเวลาการไต่สวน 20 วัน จะหมดลงในวันที่
3 ก.ค.นี้ ยังไม่มีการขอขยายระยะเวลาไต่สวนแต่อย่างใด
ส่วนหลังประกาศรับรอง ส.ส.
จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ
โดยมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย จะเชิญหรือไม่เชิญผู้ถูกกล่าวหาก็ได้
ซึ่งขณะนี้มีผู้ร้องแล้วหลายราย แต่ต้องมีหลักฐานเพียงพอให้ กกต.พิจารณาด้วย
เมื่อถามว่า
การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 82 จะต้องยื่นก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่
แสวง กล่าวว่า กกต.ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน และมีความเห็นก่อน
ส่วนจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนโหวตเลือกนายกฯ นั้น ไม่เป็นประเด็นที่
กกต.จะมาพิจารณา
แสวง กล่าวอีกว่า
ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้สอบถามไปยังอัยการสูงสุดว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง
กรณี พิธา และพรรคก้าวไกล หาเสียงแก้ ม.112 จะมีผลมาถึง กกต.หรือไม่ แสวง กล่าวว่า
ตามกฎหมายพรรคการเมือง เราจะพิจารณาว่า การกระทำนั้นมีอำนาจให้กระทำหรือไม่
และกระทำตามขั้นตอนหรือไม่
แต่หากผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวล้มล้างระบอบการปกครองจะต้องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา
49