“หมอเก่ง”
ชี้ ปัญหาภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ ต้องเลิกเป่าลมลงในถุงก้นรั่ว แต่อุดรูรั่วด้วยความเข้าใจ
เห็นใจ และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
วันที่
7 มิถุนายน 2566 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง หรือ หมอเก่ง ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล และคณะทำงานด้านสาธารณสุข พรรคก้าวไกล
ได้โพสต์ถึงแนวทางการแก้ปัญหาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์
ชี้ให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์มีชั่วโมงทำงานมากเกินไป แต่ค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับการทำงาน
ทำให้เสียสมดุลการใช้ชีวิต ขาดกำลังใจในการทำงาน
ปัจจุบัน
บุคลากรทางการแพทย์มีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป
แพทย์จำนวนมากต้องทำงานถึงสัปดาห์ละกว่า 80 ชั่วโมง หรืออาจถึง 100
ชั่วโมง ระยะเวลาการทำงานที่มากเกินไปส่งผลต่อประสิทธิภาพในการให้บริการกับประชาชน
เช่น ความแม่นยำในการตรวจรักษาต่ลง
ส่งผลให้ผู้ป่วยตกอยู่ในความเสี่ยงของการรักษาที่อาจผิดพลาดได้
บุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐมีภาระงานและชั่วโมงการทำงานสูง
แต่ค่าตอบแทนทั้งในและล่วงเวลากลับต่ำอย่างไม่สอดคล้องกัน โดยบางกรณีอาจไม่ได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลาเลย
แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญที่สุด
ภาระงานที่มากเกินไปนั้นทำให้บุคลากรทางการแพทย์สูญเสียสมดุลการใช้ชีวิต
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม
รวมไปถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ไม่เหมาะสม
ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐหมดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ขาดความพึงพอใจในงาน
และนำไปสู่การลาออก
โดยส่วนหนึ่งเข้าไปสู่ภาคเอกชนที่ได้รับผลตอบแทนและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
ที่ประชุมของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐบาล (Transition Team) ซึ่งมี
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้ตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้นมา
หนึ่งในนั้นคือคณะทำงานด้านสาธารณสุข
ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ปัญหาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์เป็นวาระเร่งด่วน
คณะทำงานด้านสาธารณสุขของพรรคก้าวไกลเห็นว่า
ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาเชิงระบบ โดยต้นตอที่สำคัญ ได้แก่
ความจำกัดของบุคลากรและงบประมาณ
การเพิ่มการผลิตแพทย์หรือบุคลากรเพียงอย่างเดียวแต่ไม่อุดรอยรั่ว
ไม่สามารถขจัดปัญหาได้
การลดภาระงาน
การกระจายปริมาณและสถานที่ของงาน รวมไปถึงการเพิ่มตัวช่วยอื่น ๆ
ที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานนั้นมีความจำเป็น นอกจากนี้
การส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้แข็งแรง
ลดความแออัดที่สถานพยาบาลนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำไปควบคู่กัน คณะทำงานฯ
จึงมีวาระต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าไปผลักดัน ได้แก่
(1)
ลดการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์
-
ตั้งเป้าหมายลดชั่วโมงการทำงานและเพิ่มชั่วโมงการพักผ่อนให้เหมาะสม
พรรคก้าวไกลเห็นว่า ชั่วโมงการทำงานแพทย์อย่างแย่ที่สุดไม่ควรเกิน 80 ชั่วโมง/สัปดาห์
พยาบาลไม่ควรเกิน 60 ชั่วโมง/สัปดาห์ และต้องมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ
โดยหากทำงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง หรือทำงานในกะดึก (0.00-8.00
น.) จะต้องได้พักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
ก่อนที่จะกลับมาเริ่มทำงานกะต่อไป
-
ทบทวนค่าตอบแทนใหม่อย่างเป็นธรรม
เนื่องจากอัตราค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีการปรับขึ้นมาเป็นเวลากว่า 4 ปี
มีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มตัวแทนบุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่มต้องการให้มีการปรับเพิ่มขึ้นโดยไม่น้อยไปกว่าอัตราเงินเฟ้อ
และสำหรับบุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่ม เช่น บุคลากรในห้องฉุกเฉิน
ซึ่งปัจจุบันได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลา 8 ชั่วโมง
ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน สมควรมีการพิจารณาปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสม
โดยค่าตอบแทนต้องวางเกณฑ์ที่คำนึงถึงหลัก “ทำมากได้มาก”
ค่าตอบแทนแปรผันตามปริมาณงาน
- แก้ไขระเบียบบางอย่างเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน
เช่น ระเบียบเครื่องแต่งกาย
ที่อนุญาตให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถใส่ชุดสครับในการทำงาน
- สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น
สิทธิการรวมตัวของบุคลากรทางการแพทย์
การเปิดช่องทางร้องเรียนของบุคลากรทางการแพทย์ต่อผู้บริหาร
ความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ดีของบ้านพักบุคลากรทางการแพทย์
เป็นต้น
(2)
ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์
- เพิ่มการทำงานเชิงป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ทำให้คนไทยสุขภาพดี ลดจำนวนการเข้าโรงพยาบาล
ด้วยการยกระดับสิทธิตรวจสุขภาพประจำปีฟรีโดยมีค่าเดินทางให้, ยกระดับสิทธิวัคซีน,
ยกระดับการตรวจหามะเร็งสำหรับกลุ่มเสี่ยง, การจัดทำฐานคะแนนสุขภาพโดยมีแรงจูงใจ
(Personal Health Scoring) และการพัฒนาอบรม อสม.
ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผ่านการฝึกอบรมและให้ได้รับมาตรฐาน
เพื่อช่วยปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ของระบบสุขภาพในชุมชน และลดภาระงานของแพทย์
- กระจายผู้ป่วยในด้านปริมาณและสถานที่
ไม่ให้แออัดที่โรงพยาบาล โดยการ
· ยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้ง Telemedicine และ Telephamarcy เพื่อให้บริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานและทำการจ่ายยาที่สถานบริการใกล้บ้านได้
โดยเฉพาะในกลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCDs)
· พัฒนาศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยระยะประคับประคองที่ติดเตียงสามารถกลับไปอยู่ใกล้บ้านของตัวเองมากขึ้น
ลดความแออัดที่โรงพยาบาล
- กระจายผู้ป่วยด้านเวลาให้บริการ ด้วยการให้ใช้ระบบ Telemedicine คัดกรองผู้ป่วย และ Smart Queing เพื่อจัดคิวผู้ป่วยในช่วงเวลาต่าง
ๆ และสงวนห้องฉุกเฉิน (ER) ไว้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่แท้จริง
- ลดภาระงานเอกสาร ปรับฐานข้อมูลดิจิทัล
ปรับระบบข้อมูลส่วนหนึ่งจาก Intranet เป็น Internet เพื่อให้โรงพยาบาลปลายทางสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วยและทำการส่งตัวได้โดยสะดวก
ร่วมกับ
- ศูนย์บริหารจัดการเตียงกลาง (Central Referal
Center) สงวนเตียงจำนวนหนึ่งจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อเข้าศูนย์บริหารจัดการ
ทำให้การส่งตัวผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลมีความสะดวกมากขึ้น
(3)
เพิ่มการผลิตบุคลากรทางการแพทย์จากทั้งภาครัฐและเอกชน
ต่อยอดการผลิตและส่งเสริมให้เพิ่มขึ้น
เน้นสนับสนุนโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) สนับสนุนสถาบันการผลิตแพทย์เพิ่มจากฝั่งเอกชน
แต่เพิ่มการควบคุมมาตรฐานให้รัดกุมสูงขึ้น
เลิกเป่าลมลงในถุงก้นรั่ว
แต่อุดรูรั่วด้วยความเข้าใจ เห็นใจ และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
การทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อมในการทำงาน
มีกำลังกายและกำลังใจที่ดีในการทำงาน
ย่อมส่งผลต่อผลิตภาพและคุณภาพในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐบาลก้าวไกล #แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์