วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ธิดา ถาวรเศรษฐ : หากข้ามเส้นนี้ไป ‘เพื่อไทย’ ไม่เหมือนเดิม


ธิดา ถาวรเศรษฐ : หากข้ามเส้นนี้ไป ‘เพื่อไทย’ ไม่เหมือนเดิม


โดย VOICE online เผยแพร่เมื่อ 26 กรกฎาคม 2566


ท่ามกระแสข่าวดีลลับ รัฐบาลขั้วข้าม และสมการตัวเลขที่นั่งในสภาที่บีบคั้น ‘เพื่อไทย’ กำลังอยู่บนทางแพร่งที่ต้องเลือก ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตแกนนำ นปช. วิเคราะห์การเดินข้ามเส้น เดิมพันนี้ส่งผลกระทบอย่างไรกับ ‘เพื่อไทย’ และการต่อสู้ของประชาชน เพื่อไทยเท่าทันชนชั้นนำแค่ไหน เข้าใจประชาชนหรือไม่ ย้ำชนะแล้ว อย่ายกธงขาวยอมแพ้ก่อน แนะก้าวไกลชะลอเสนอแก้ไข 112 เพื่อรอการตกผลึกของสังคมไทย


ธิดา ให้ความเห็นต่อความเป็นได้หากจะมีการพลิกขั้วเกิดขึ้น ด้วยความหวังดีต่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะประชาชนคนหนึ่งว่า หากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะส่งผลเสียต่อประชาชน การต่อสู้ของประชาชน รวมทั้งส่งผลเสียต่อพรรคเพื่อไทยเอง เพราะเจตจำนงของการเลือกตั้งครั้งสะท้อนชัดว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการฝ่ายอนุรักษนิยม


ถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชน แม้พรรคก้าวไกลจะชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่นี่ก็ถือว่าเป็นชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่ถูกกระทำมามากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาด้วย และใครจะได้เป็นนายกฯ ไม่สำคัญเท่าประชาชนไทยมีความคิดว่า ไม่ต้องการฝ่ายขั้วอำนาจเดิม หรือฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว”


การเลือกตั้งที่ผ่านมาต่างจากสมัยที่ไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งช่วงปี 2544 เพราะเวลานั้นสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองนิ่งแล้ว แต่สำหรับตอนนี้ไม่ใช่ คนใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยเจตนารมณ์ของการต่อสู้ทางการเมือง หากพรรคเพื่อไทยพลิกข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาล ถือว่าเป็นการอ่านเกมผิด


สังคมไทยมันซับซ้อน โครงสร้างชั้นบนของคนจำนวน 1% และเครือข่ายวางไว้แน่นหนามาก และกลุ่มจารีตเหล่านี้ยังต้องการรักษาอำนาจตัวเองเอาไว้เหมือนเดิม เกมการเมืองเวลานี้ไม่เหมือนกับการทำธุรกิจ และการต่อสู้แบบการเมืองทั่วไป


เขาใช้เกมสกปรกทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องเรียนรู้คือ ต้องรู้ว่ากลุ่มจารีตนิยมเป็นอย่างไร คิดอย่างไร และที่สำคัญที่สุดต้องเรียนรู้ด้วยว่า ประชาชนเป็นอย่างไร และคิดอะไรอยู่


หากทำการเมืองด้วย DNA แบบนักธุรกิจ และนักการเมืองทั่วไป มองได้ว่าที่สุดแล้วไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร แต่สำหรับการต่อสู้ที่ยาวนานของประชาชนมองในมุมนั้นไม่ได้ เพราะประชาชนแยกมิตร และศัตรูออกจากกัน ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างถาวร และการเมืองครั้งนี้ไม่ใช่การเมืองที่ย้ายไปแล้วจะกลับได้ แต่จะเป็นการไปแล้วไปเลย


ธิดา ย้ำว่าไม่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยข้ามขั้ว เพราะที่ผ่านมามองเห็นพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้ของประชาชน และเป็นความหวังของประชาชน แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยมีแต่ DNA ของนักธุรกิจอาจจะมองไม่เห็นและไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้


เมื่อถามว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกซึ่งไม่มีพรรคใดแลนด์สไลด์ หรือรวมเสียงกันได้มากเกิน 376 เสียงเพื่อเอาชนะเสียง สว. ได้ กลายเป็นสถานการณ์ที่บีบคั้นให้พรรคเพื่อไทยต้องเดินไปตามเกมที่ถูกวางไว้หรือไม่


ธิดา เห็นว่า ประวัติของพรรคเพื่อไทยที่ต่อเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน คู่ขนานมากับการต่อสู้ของประชาชน ในฐานะพรรคการเมืองที่ถูกกระทำมาโดยตลอด สถานการณ์ที่เป็นอยู่สามารถเข้าใจได้ แต่ปัจจัยสำคัญคือ พรรคเพื่อไทยต้องการที่อยู่ในฐานะใด ยังต้องการเป็นพรรคการเมืองที่เป็นความหวังของประชาชนต่อไป หรือจะกลายเป็นพรรคการเมืองประเภทเดียวกันกับพรรคภูมิใจไทย ที่ไปทางซ้ายก็ได้ ขวาก็ได้ และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ พรรคเพื่อไทยเข้าใจชนชั้นนำแค่ไหน


อาจารย์คิดว่าพรรคเพื่อไทยต้องเข้าใจชนชั้นนำให้ลึกซึ้ง และต้องเข้าใจประชาชนให้ทันกับเหตุการณ์ที่สถานการณ์เปลี่ยนไป การที่ไม่ได้เข้าใจชนชั้นบนอย่างจริงจังก็อาจจะทำให้วางแผนพลาดได้ มุมมองแบบนักธุรกิจคือ การมองว่าถ้าถูกหลอกบ้างก็ไม่เป็นไร แม้จะเป็นปฏิปักษ์กัน แต่ก็สามารถร่วมหุ้น ร่วมลงทุนด้วยกันได้ แต่สำหรับการเมืองไทยไม่ใช่อย่างนั้น การเมืองไทยมีฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยอย่างถาวร ที่พยายามช่วงชิงอำนาจจากประชาชน เพื่อทำให้ตัวเองเข้มแข็งมาตลอด มิตรที่พรรคเพื่อไทยควรจะมองให้เห็นคือประชาชน และพรรคการเมืองที่ยืนอยู่กับประชาชน“


หากการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยเป็นไปเช่นนั้นจริง ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเวลานี้กลุ่มคนที่เป็นอนุรักษนิยมเหลือน้อยมาก และหากคิดว่าการย้ายข้ามขั้วเป็นสิ่งที่จำเป็น นั่นหมายความว่าตัวเองได้ย้ายข้ามเส้นแบ่งไปแล้ว ก็ย่อมต้องรับความจริงว่า พรรคเพื่อไทยจะอยู่ในสถานะที่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้วในสายตาประชาชน


ขณะเดียวกันหากเกิดรัฐบาลข้ามขั้ว พรรคเพื่อไทยจะถูกฐานเสียงของตัวเองโจมตี และคนส่วนใหญ่ 70 % เป็นเสรีนิยมหมดแล้ว


หาก 8 พรรคจับมือแน่น อาจจะต้องรอ 10 เดือน ข้อเสนอระหว่างนี้คืออะไร


ธิดา มองว่า หากเพื่อไทยตัดสินใจจับมือกับ 8 พรรคเดินหน้าต่อไป โจทย์ที่ต้องทำคือ ก้าวไกลจำเป็นต้องชะลอการแก้ไขมาตรา 112 ออกไปก่อน โดยใช้เวลาทำความเข้าใจกับสังคม อย่างน้อย 1-2 ปี เพื่อรอให้สังคมตกผลึกก่อน ต้องทำให้สังคมเข้าใจว่าก้าวไกล ไม่ใช่เด็กดื้อ ที่ยืนยันที่จะผลักดันเดินหน้าเฉพาะประเด็นของตัวเอง


ขณะเดียวกับ MOU ระหว่าง 8 พรรคร่วมก็จำเป็นต้องปรับแก้ให้เป็นข้อตกลงที่กว้างๆ ประเด็นอะไรที่ยังเป็นข้อถกเถียงของสังคมก็ให้นำมาถกเถียงแล้วก็พยายามที่จะให้ได้ข้อยุติที่มันมีปัญหาน้อยที่สุด ไม่ใช่ไม่มีเลย เพื่อไม่ให้พรรคก้าวไกลเสียสัจจะกับประชาชน จัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องทำก่อน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทั้งปีกอนุรักษนิยม และปีกเสรีนิยมยอมรับร่วมกันได้ ให้ยึดผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง สังคมมันเปลี่ยนมาถึงขั้นนี้แล้ว


ในส่วนของประชาชน ก็ต้องเข้มแข็ง และการที่เพื่อประกาศยืนอยู่กับประชาชน นั้นก็จะยิ่งทำให้ประชาชนแข็งแกร่งมากขึ้น หากฝ่ายนั้นยังไม่ยอม ก็ต้องทำให้การต่อสู้นอกสภาเกิดขึ้น และเป็นการต่อสู้ที่ภาษาฝ่ายซ้ายเรียกว่า รู้ประมาณ มีเหตุผล ได้ประโยชน์ รู้ประมาณ ไม่ใช่ดึงดันจะเอาแบบที่ตัวเองต้องการหมด


ภายใต้เกมการเมืองนี้ ธิดา เชื่อว่า ฝ่ายความมั่นคง หรืออาจจะมีฝ่ายที่อยู่สูงกว่านั้น เข้ามามีบทบาทสำคัญในการคุมควบเกมหลังการเลือกตั้ง และสามารถตั้งธงนำให้กับ ส.ว. และพรรคการเมืองขั้วเดิมได้ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า พวกเขากลัวพรรคก้าวไกลมาก เพราะฉะนั้นตัวก้าวไกลต้องลดความเข้มข้นในการไปรื้อทลายอะไรต่างๆ ลงไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งบทบาทนี้เพื่อไทยทำได้ดีกว่า แบบเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจ แต่ไม่ใช่ภาพที่มองว่าเป็นพวกประนีประนอม อ่อนข้อ แล้วก็ถูกหลอก ก็คือทำงานจริง ต้องเข้าใจประชาชนจริง


การฉีก MOU แล้วข้ามขั้วไปคือ การมองไม่เห็นคุณค่าของชัยชนะในระบบ ชัยชนะในการเลือกตั้งของประชาชน  แม้หลังจากการเลือกตั้งพวกเขายังไม่ยอมแพ้ แต่ข้ามขั้วจึงเป็นการเลือกที่จะยอมแพ้ของเราเอง ทั้งที่เราชนะ หากเพื่อไทยไปยอมแพ้ง่ายๆ ประชาชนก็จะแพ้ไปด้วย


เมื่อถามว่า หากยังจับมือกันแน่น  และรอ 10 ให้ สว.หมดวาระ โอกาสที่จะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย และมีการใช้กลไกต่างๆ บดขยี้พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เพื่อดึงเสียงข้างน้อยให้กลายเป็นเสียงข้างมากจะมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่


ธิดามองว่า อย่าเพิ่งคิดไปไกลถึงขั้นนั้น และอย่ากลัว ต้องปล่อยความกลัวให้เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่ให้ความกลัวเป็นเรื่องของผู้ชนะ และในความจริงแล้วอาจจะไม่ต้องรอถึง 10 เดือน ฉากการเมืองถัดไปจะเกิดขึ้นก่อน ไม่ออกซ้าย ก็ออกขวา ในสภาเขามี 188 กับ สว. 250 เสียง เรามี 312 เสียง นอกสภาเขามีองคาพยพกลไกอำนาจต่าง ส่วนเรามีประชาชน 27 ล้านเสียง ดูเหมือนเขาจะได้เปรียบ แต่สิ่งที่เขาไม่มีคือความชอบธรรมทางการเมือง


ถ้าพรรคเพื่อไทยเพียงแต่ต้องการเป็นรัฐบาลอย่างเดียว และไม่ได้คิดถึงประชาชนที่กำลังนั่งดูกันอยู่ อันนี้น่าจะเป็นอันตรายต่อพรรคเพื่อไทยเอง อาจารย์ว่าไม่สงบและไม่คุ้ม”


ธิดา เสนอว่า เวลานี้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นโอกาสที่ดีแล้ว ต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ และมองเห็นภาพรวมของประเทศ มองเห็นประชาชน และหยิบเอาปัญหาสำคัญของประชาชนมาใส่ใน MOU มันอาจจะไม่สำเร็จทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็จะช่วยสถานการณ์เบาลง และช่วยกันลองดูต่อไป แต่ทั้งหมดก็คือว่าคนเปลี่ยนไปแล้ว พรรคเพื่อไทยต้องเข้าใจว่าสังคมไทยเปลี่ยน โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ ในพรรคเพื่อไทยมีผู้ใหญ่ตั้งหลายคน แต่ถ้าใช้ DNA นักธุรกิจกับนักการเมือง มานำ บางทีสายตาที่มองประชาชนอาจจะมองไม่เห็นความจริง


ที่สำคัญก็คือเพื่อไทยจะได้ทำในสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริง สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน แล้วยังสามารถเติบโตได้ คือตรงนี้ต้องวิเคราะห์สังคมเป็น วิเคราะห์ประชาชนเป็น คือรู้จักมิตร รู้จักศัตรู รู้จักประชาชน แต่ถ้าคิดแต่เพียงไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร มีแต่ DNA นักการเมือง มันก็จะกลายเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์


ฉะนั้นต้องถามตัวเองว่า ฐานตัวเองอยู่ที่ไหน แล้วต้องการจะเป็นสถาบันพรรคการเมืองต่อไปรึเปล่า หรือต้องการเป็นรัฐบาลครั้งเดียว ถึงแม้เป็นรัฐบาลครั้งเดียวก็ไม่น่าจะคุ้ม ไม่ต้องพูดถึงอนาคตแล้ว เพราะว่ามันจะอยู่อย่างยากลำบาก เพราะคนมันจะโกรธมาก”


เสื้อแดงไม่ใช่สัญลักษณ์ของ ‘เพื่อไทย’ เราก่อเกิดจากการต้าน รปห.

ธิดา กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลข้ามขั้วจะเจอกับแรงต้านทั้งของมวลชนด้อมส้ม รวมทั้งฐานเสียงของตัวเองที่รู้สึกผิดหวัง หากสังเกตคนที่ไปร่วมม็อบที่แยกอโศกกับ บก. ลายจุดจะมีคนทั้งสองกลุ่มนี้


คนเสื้อแดงเนี่ยตั้งแต่ต้น เขาเกิดมาเพราะต่อต้านรัฐประหารนะ สีแดงคือสัญลักษณ์ของการไม่เอารัฐธรรมนูญ 50 สีแดงไม่ใช่สัญลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย เป็นสีแดงของการต่อต้านรัฐประหาร แล้วคนเสื้อแดงไม่เคยสู้เพื่อทางเศรษฐกิจเลย แต่สู้ทางการเมืองมาตลอด ต่อต้านรัฐประหารมาตลอด เวลาเด็กออกมา เขาก็ออกมากับเด็ก”


ธิดา ย้ำว่า DNA ของคนเสื้อแดงคือการต้านรัฐประหาร คัดค้านรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร และนี่คือ DNA ของแท้ไม่ใช่เสื้อแดงที่ไปนั่งประจบประแจงอยู่แถวพรรค แต่นั่นก็เป็นเสื้อแดงที่จัดอยู่ในกลุ่ม FC พรรค เขาไม่ได้มีความคิดที่กว้างขวางแล้ว ไม่ได้มองเห็นภาพประชาชนทั้งประเทศ เขามองเห็นแค่พรรค


ส่วนกรณีที่มีหลายคนพูดว่า การจะชนะในเกมนี้ได้ จำเป็นต้องดำเผด็จการมาเป็นพวก หรือดึงเผด็จการมาเป็นนั่งร้าน ธิดา เห็นว่า เป็นการมองเผด็จการโดยขาดความเข้าใจ ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาลไทยรักไทย การเมืองดูเหมือนจะเดินต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา สุดท้ายก็ถูกดึงกลับ เกิดรัฐประหาร 2549 และรัฐประหารซ้ำในปี 2557


ถ้าคนคิดว่าการข้ามขั้วคือ การประนีประนอม ในคนที่จุดยืนฝ่ายการต่อสู้อย่างแบบประชาชน และอาจารย์ที่ผ่านการต่อสู้มาตลอดยาวนาน ไม่เอาหรอกวิธีนี้ มันไม่ใช่วิธีการที่จะประสบความสำเร็จจริงๆ คุณคิดว่าคุณจะไปหลอกเขาได้เหรอ พวกนั้นเก่งจะตาย มีแต่เขาจะมาหลอกเรา เขาหลอกคุณทักษิณมากี่รอบแล้ว เพราะเราซื่อกว่า เชื่อง่ายกว่า มองโลกในแง่ดีมากกว่า เขาไม่ต้องการให้ประาชนเข้มแข็ง ไม่ต้องการให้ตัวแทนที่ประชาชนรัก”


ที่มา : https://www.voicetv.co.th/read/rvxmisXFr


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คนเสื้อแดง #เพื่อไทย #ตั้งรัฐบาล