วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

คาร์ม็อบแนวร่วมฝ่ายปชต. อ่านแถลงการณ์และ 4 ข้อเรียกร้อง นัดรวมตัวอีกครั้งไป กกต. 18 ก.ค. นี้ และให้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ ต่อไป

 


คาร์ม็อบแนวร่วมฝ่ายปชต. อ่านแถลงการณ์และ 4 ข้อเรียกร้อง นัดรวมตัวอีกครั้งไป กกต. 18 ก.ค. นี้ และให้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ ต่อไป


วันนี้ (16 กรกฎาคม 2566) เวลา 17.00 น. ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมจัดขบวนคาร์ม็อบ Respect My Vote และได้ยื่นหนังสือให้ ส.ว. ที่ไม่ได้ไปร่วมประชุมโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา กดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยวันนี้ขบวนคาร์ม็อบได้เคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือที่ “กองทัพบก-กองทัพเรือ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เรียบร้อยแล้วนั้น


หลังจากนั้นได้เคลื่อนขบวนฯ มาที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ หรือ BACC เพื่อปราศรัย โดยมีประชาชนมาร่วมฟังจำนวนหนึ่ง โดยเริ่มเปิดเวทีปราศรัยจากกลุ่มราษดรัม ที่มาตีกลองปลุกใจเหล่าประชาชาชนที่มาฟังปราศรัย และหลังจากนั้นมีแกนนำผลัดเปลี่ยนขึ้นเวทีปราศรัย โดย “เก็ท โสภณ” โมกหลวงริมน้ำ มาสรุปลำดับเหตุการณ์หลังจากยื่นหนังสือกดดันเหล่าผู้นำเหล่าทัพให้ลาออก


ต่อมา 18.10 น. นายอานนท์ นำภา แกนนำคาร์ม็อบ กล่าวปราศรัยว่า ม.112 เป็นแค่ข้ออ้างของฝ่าย ส.ว. แต่จริง ๆ แล้วผู้มีอำนาจกลัวการเปลี่ยนแปลง กลัวพรรคก้าวไกลจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ เปลี่ยนหลักสูตรที่เขาเอาไว้ล้างสมองลูกหลาน กลัวไปจัดการกับตั๋วช้าง กลัวพลเมืองเป็นใหญ่เหนือทหาร กลัวไม่ได้ส่งผู้ว่าฯ ไปปกครองหัวเมือง แล้วประชาชนมีสิทธิ์ไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง ที่สำคัญกลัวเช็กบิลทหารที่เคยอยู่ใน ศอฉ. และมีส่วนในการสลายชุมนุมเสื้อแดงปี 53 เมื่อเขากลัวเราต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นจริง ทั้งขอส่งเสียงถึง 8 พรรคร่วมด้วยว่า พรรคไหนแตกแถวก่อนเป็นเผด็จการ


ทั้งนี้ “ซัน” ได้อ่านแถลงการณ์ ความว่า


แถลงการณ์แนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตย


ตามที่ข้อเท็จจริงได้ปรากฏชัดเจนแล้วว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ในการเลือกตั้งทั่วไปนั้น พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และเมื่อรวมคะแนนเสียงทั้งหมดของ 8 พรรคการเมืองได้คะแนนสูงกว่า 25 ล้านเสียง โดยมีพรรคอันดับ 1 ซึ่งชนะการเลือกตั้งคือพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อันเป็นรัฐบาลผสม ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ซึ่งรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 312 เสียง และได้มีการร่วมลงนามในสัญญาหรือ MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล อันปรากฏตามสื่อสาธารณะและรับทราบกันแล้วนั้น


ต่อมาเมื่อประธานสภารัฐสภาได้เรียกประชมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา กลับปรากฏว่า สมาชิกรัฐสภาอันประกอบด้วย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเดิม และวุฒิสภา ไม่เห็นชอบให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และจะมีการลงมติอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่จะถึงนี้


เราทั้งหลายในนามของประชาชนแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยจึงขอออกแถลงการณ์และเรียกร้องไปยังรัฐสภา รวมทั้งพี่น้องประชาชนทั้งประเทศดังนี้


1. เราขอประณามสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว.ที่ไม่ลงมติไปตามฉันทามติเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ ที่มุ่งหมายให้ฝ่ายประชาธิปไตยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารบ้านเมือง

2. เราขอเรียกร้องให้ ส.ว. ที่ไม่ทำหน้าที่ลงมติเห็นชอบตามเสียงของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด และให้รัฐสภาที่เหลืออยู่ทำการลงมติไปตามเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศต่อไป

3. เราขอเรียกร้องให้ 8 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย ผนึกกำลังกันให้เหนียวแน่น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชน อย่ายินยอมตามเงื่อนไขของ ส.ว. ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะสู้เคียงข้างไปกับพวกคุณ

4. เราขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ออกมาต่อสู้กับแนวร่วมประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย เปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์


ด้วยจิตคารวะและเชื่อมั่นในพลังประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย


อย่างไรก็ตาม กลุ่มแกนนำ นัดรวมตัวอีกครั้งวันที่ 18 ก.ค. เพื่อไปยื่นหนังสือถึง กกต. และขอให้ประชาชนเตรียมตัวให้พร้อมเพราะมีนัดหมายในวันที่ 19 ก.ค เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 2 และขอให้ติดตามประกาศจากกลุ่มแกนนำต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #RespectMyVote #โหวตนายก #สวต้องเคารพเสียงประชาชน #ม็อบ16กรกฎา66