วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

‘ชัยธวัช’ เรียกร้อง ส.ส.-ส.ว.เคารพผลเลือกตั้ง เลือก ‘พิธา’ คืนความปกติ-อนาคตให้สังคมไทย ขอ ‘ประชาชน’ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย คุ้มครองความกล้าหาญและมโนธรรมสำนึกสมาชิกรัฐสภา

 


‘ชัยธวัช’ เรียกร้อง ส.ส.-ส.ว.เคารพผลเลือกตั้ง เลือก ‘พิธา’ คืนความปกติ-อนาคตให้สังคมไทย ขอ ‘ประชาชน’ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย คุ้มครองความกล้าหาญและมโนธรรมสำนึกสมาชิกรัฐสภา


วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ตนคงไม่จำเป็นต้องอภิปรายถึงเรื่องคุณสมบัติของพิธา รวมถึงนโยบายของพรรคก้าวไกลในรัฐสภาแห่งนี้ เพราะประชาชนทั้งประเทศรวมถึงสมาชิกรัฐสภาต่างได้ใช้วิจารณญาณของตัวเอง พิจารณาและลงมติ 1 คน 1 เสียงเท่าเทียมกัน ผ่านการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566


ในเมื่อผลปรากฏว่า พรรคก้าวไกลซึ่งได้เสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ชนะการเลือกตั้ง สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ทั้งสิ้น 312 เสียง จากพรรคการเมือง 8 พรรค พิธาควรได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตามครรลองปกติของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เรื่องมันควรจะเรียบง่าย ตรงไปตรงมาแบบนี้ ไม่ใช่หรือ


บรรยากาศที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงวันนี้ กลับทำให้เกิดคำถามดังๆ ในใจของพี่น้องประชาชนจำนวนนับล้านๆ คน ที่กำลังดูการพิจารณาของรัฐสภาในวันนี้ด้วย เกิดคำถามดังๆ ในใจของเขาว่าหากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง แล้วเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ตกลงอำนาจอธิปไตยของประเทศนี้เป็นของปวงชนชาวไทยตามที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ หรือเป็นของใครกันแน่ และยังมีคำถามคำโตๆ ว่าตกลงประชาชนอยู่ตรงไหนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


คำถามในใจของพี่น้องประชาชนเหล่านี้สะท้อนอะไรและมีนัยยะสำคัญอย่างไรกับสังคมบ้านเมือง อันที่จริงคำถามทำนองนี้ในใจของพี่น้องประชาชนไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เป็นคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ


ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราผ่านอะไรมาบ้าง ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง ผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้ง ผ่านการพยายามเขียนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลังรัฐประหารมาแล้ว 2 ฉบับ ผ่านแม้กระทั่งการพยายามจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร 1 ครั้ง ผ่านการยุบพรรคการเมือง ยุบแล้วยุบอีก ผ่านการชุมนุมของประชาชนฝ่ายต่างๆ และการปะทะกันบนท้องถนนนับไม่ถ้วน สุดท้ายมีผู้ถูกดำเนินคดี จำคุก บาดเจ็บ รวมถึงเสียชีวิตรวมแล้วนับร้อยนับพันจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ทราบว่าจะยุติเมื่อไร


ทว่า เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ผ่านมาเกือบ 2 ทศวรรษ สังคมไทยยังไม่สามารถให้คำตอบที่ดีได้ต่อคำถามดังกล่าวในใจของพี่น้องประชาชน และยังไม่สามารถหาคำตอบที่พวกเรายอมรับร่วมกันได้สักที ปัญหาก็คือ ตราบใดที่พวกเรายังไม่สามารถหาคำตอบอย่างนี้ได้ สังคมไทยก็จะหยุดนิ่ง จมดิ่ง เวียนวนอยู่ในวงจรเดิมๆ มองไม่เห็นอนาคตไปอีกนาน


อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้แทนราษฎร ในฐานะสมาชิกรัฐสภา และในฐานะตัวแทนพรรคก้าวไกล ตนเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาและการลงมติของรัฐสภาในวันนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญของพวกเราที่จะเริ่มต้นในการแสวงหาคำตอบครั้งใหม่ให้แก่สังคมไทย สมาชิกหลายท่านอาจไม่เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลในบางเรื่อง ท่านอาจกังวลใจกับความเปลี่ยนแปลงที่พวกเรากังวลใจหรือไม่รู้จัก มีข้อกล่าวหามากมายที่ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการอภิปรายของสมาชิก ไม่ว่าความกังวลใจว่าพวกเราพยายามจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือระบอบการปกครองหรือไม่ พวกเราพยายามที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่กลายเป็นสถาบันหลักของชาติอีกหรือไม่ เจตนาที่แท้จริงของการเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลาย ๆ นโยบายของเราเป็นอย่างไร


“ประเด็นสำคัญที่อยากจะกล่าวไว้ คือไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอใด ๆ ของเราพรรคก้าวไกล อยู่บนฐานความคิดที่ว่าสถาบันหลักของชาติหรือสถาบันการเมืองใดๆ ก็ตาม จะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความยินยอมพร้อมใจของประชาชน ไม่มีสถาบันใดที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยการกดปราบบังคับ นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะเตือนให้สติกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสังคมไทย กับผู้มีอำนาจทุกฝ่าย ขอให้ตั้งสติและมองการณ์ไกลเข้าใจสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน แล้วเล็งเห็นให้ได้ว่าวิธีการอะไร กุศโลบายอะไรที่ดีที่สุด ที่จะสามารถรักษาสิ่งที่พวกเรารัก สิ่งที่หลายคนหวงแหนให้ดำรงอยู่ได้ในสังคมที่มีพลวัตตลอดเวลา เราไม่เชื่อว่าสิ่งใดๆ จะคงอยู่ได้ด้วยการสถิตอยู่เหมือนเดิมทุกประการแล้วจะมั่นคงสถาพร”


“มีการกล่าวไปไกลถึงขนาดที่ว่า การเลือกการลงมติให้คุณพิธาจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการไม่รักชาติ เป็นการไม่เคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พวกผมพยายามบอกว่ามันไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต้องอยู่เหนือการเมือง ต้องอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง มันอันตรายมากที่เมื่อไรต่างฝ่ายต่างดึงเรื่องนี้เข้ามาพัวพันในความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งก็เห็นอยู่แล้วว่าตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลเป็นอย่างไร เราพยายามเสนอว่าต้องช่วยกันนำสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากความขัดแย้งทางการเมือง และการยิ่งนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาปะทะกับผลการเลือกตั้ง ยิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง ใครจะรับผิดชอบกับผลกระทบจากการกระทำแบบนี้”


ชัยธวัชทิ้งท้ายว่า ขอเชิญชวนสมาชิกรัฐสภา ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในที่ประชุมแห่งนี้ ลงมติให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุผลไม่ใช่เพราะทุกท่านรักพิธา ไม่ใช่เพราะทุกท่านเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลไปเสียทุกเรื่อง แต่เพราะจะเป็นการลงมติเพื่อคืนความปกติให้แก่ระบบรัฐสภาของไทย เป็นการลงมติเพื่อแสดงความเคารพต่อประชาชน เป็นการลงมติที่ให้โอกาสครั้งใหม่แก่สังคมไทย และเป็นการลงมติเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาคำตอบแห่งยุคสมัยร่วมกันให้ได้


“ผมขออวยพรให้ประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาทุกท่านที่จะตัดสินใจอย่างกล้าหาญตามมโนธรรมสำนึก และตามเจตจำนงของประชาชนที่ได้แสดงออกไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566” เลขาธิการพรรคก้าวไกลระบุ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม็อบ13กรกฎาคม66 #โหวตนายก #โหวตให้พิธาเป็นนายก