ที่ประชุม 3 ฝ่าย
จบไม่ลง เปิดอภิปรายปมเสนอ ‘พิธา’ เป็นนายกฯ รอบ 2 ขัดข้อบังคับการประชุมที่
41 หรือไม่ คาดให้เวลา 2 ชม.
น่าจะจบเร็ว ส่วนโหวตรอบ 3 หากชวดอีก ยังไม่ได้หารือ ดูหน้างานก่อน
ส่วนการแก้รธน.มาตรา 272 ให้รอได้ตัวนายกฯก่อน
วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) ที่รัฐสภา
การหารือโหวตนายกฯ รอบ 2 ในวงถกวิป 3 ฝ่าย มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานการประชุม
และมีตัวแทนจากแต่ละฝ่ายเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมของพรรคเพื่อไทย นำโดย
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรค,
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง
ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคฯ ได้เดินเข้าห้องประชุม พร้อมกับนายสมชาย
แสวงการ และนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ที่เป็นตัวแทนกรรมการประสานงานจากวุฒิสภา
โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าทีมเพื่อไทยและส.ว. ต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มและเป็นมิตรต่อกัน ทั้งนี้นพ.ชลน่าน
ให้สัมภาษณ์ว่าบังเอิญเจอกันในลิฟท์โดยสารเท่านั้นและทักทายกันตามปกติ ไม่มีอะไร
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายเอกนัฏ
พร้อมพันธุ์ ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า 8
พรรคร่วมรัฐบาลติดต่อขอคะแนนเสียงมาบ้างหรือไม่ ซึ่งนายเอกนัฎ
ตอบทีเล่นทีจริงว่า ขอดูสายที่โทรมาแล้วไม่ได้รับก่อน แล้วจึงบอกว่า “ยังไม่มี
บอกให้เขาติดต่อมาหน่อยสิ”
ทั้งนี้ก่อนการประชุมวิป
3 ฝ่ายจะหารือกันเป็นการภายใน นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวกับที่ประชุมว่า
ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ได้รับความร่วมมือ
ทำให้การประชุมเรียบร้อย การอภิปรายและการนับคะแนนได้แล้วเสร็จก่อนเวลา ถึง 2 ชั่วโมง
เป็นเรื่องที่ดีของการเริ่มประชุมรัฐสภาสมัยนี้
ทั้งนี้การประชุมไม่เสร็จสิ้นเพราะไม่ได้ผู้ที่จะเป็นนายกฯ
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกนายกฯ ทำให้เสร็จสิ้น เพื่อให้มีนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ
บริหารประเทศต่อไป จึงนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 19 กรกฎาคม
อย่างไรก็ตามในประเด็นข้อหารือของวิป
3 ฝ่ายวันนี้ มีการหารือใน 2 ประเด็น คือ
การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272
ในประเด็นการโหวตนายกฯ
มีการยกข้อบังคับที่ 41 แห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563
ที่ห้ามเสนอญัตติซ้ำนั้น มี 2 ความเห็นคือ ความเห็นแรก
การเลือกนายกฯ ไม่ใช่ญัตติทั่วไป แต่เป็นกระบวนการเลือกผู้ที่เสนอเป็นนายกฯ
ซึ่งการเลือกนายกฯ มีข้อบังคับแยกออกมาต่างหากในหมวด 9
ประมาณ 4-5 มาตราประกอบด้วย มาตราที่ 136 - 139 และในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า
ห้ามเสนอคนซ้ำ และในข้อบังคับหมวด 9 ว่าด้วยการคัดเลือกนายกฯ
ก็ไม่มีข้อใดห้าม กับอีกฝ่ายหนึ่งที่อ้างว่าเป็นญัตติเดิมตามข้อบังคับที่ 41 ซึ่งหากมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงให้ประธานรัฐสภาพิจารณา ซึ่งนายวันนอร์
กล่าวว่า ในที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน
จะต้องรับฟังความเห็นของสมาชิกในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.66)
แต่จะต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้การประชุมไม่เยิ่นเย้อ
เมื่อถามว่า
สุดท้ายต้องให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยใช่ไหม นายวันนอร์กล่าวว่า
เนื่องจากไม่มีข้อสรุป ก็ต้องรอการอภิปรายจากการประชุม
เพราะการให้ประธานสภาฯวินิจฉัย จะต้องให้มีการอภิปรายให้ครบถ้วนก่อน เข้าใจว่า
น่าจะไม่มีการพูดจากันนานมาก คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 ชม.
ส่วนจะต้องลงมติกันหรือไม่ ต้องดูหน้างานว่า
ตรงตามที่ให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยหรือจะให้ลงมติ แต่ก่อนเลือกนายกฯ จะมี 2 กระบวนการคือ 1.จะใช้ข้อบังคับที่ 41 หรือไม่ และ 2. จะใช้ตามข้อบังคับหมวด 9 หรือไม่ ซึ่งต้องฟังการอภิปรายกันก่อน
ส่วนข้อเสนอยกเว้นข้อบังคับ
นายวันนอร์มองว่า
ต้องมีข้อเสนอและต้องมีมติที่ประชุมเกินกึ่งหนึ่งถึงจะยกเว้นข้อบังคับ
แต่ในที่ประชุมยังไม่มีใครพูดถึง เพราะหากยกเว้นข้อบังคับไป แล้วจะไปใช้ข้อไหน
เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรี มีอยู่ไม่กี่ประเด็นเท่านั้น
จึงคิดว่าไม่มีใครเสนอยกเว้นข้อบังคับ
ผู้สื่อข่าวถามว่า
หากมีการตีความว่าเข้าข่าวตามข้อบังคับที่ 41 และมีการเสนอรายชื่ออื่นที่ไม่ใช่นายพิธา
ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล สามารถทำได้ไหม นายวันนอร์ตอบว่า
ข้อบังคับไม่ได้ห้ามไว้ ส่วนจะมีผู้เสนอชื่อนายพิธาขึ้นมาเลยหรือไม่นั้น
ในที่ประชุมไม่ได้พูดถึง แต่ข้อบังคับการประชุมและรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้
ส่วนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มาตรา 272 นายวันนอร์ตอบว่า
ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องของเจ้าหน้าที่สภาฯ ทั้งญัตติและชื่อผู้เสนอ
กับคำถามว่าต้องรอโหวตนายกรัฐมนตรีก่อนใช่หรือไม่ นายวันนอร์ตอบว่า วันที่ 19 ก.ค.
66 จะเป็นขั้นตอนของการเลือกนายกรัฐมนตรีก่อน ส่วนต่อไปเมื่อข้อเสนอการแก้ไขมาตรา
272 เข้าไปก็ต้องบรรจุ ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีจบก็วาระนี้เข้าได้เลย
แต่ถ้ายังไม่จบก็ต้องรอเลือกนายกรัฐมนตรีให้จบก่อน
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า
ถ้าโหวตพรุ่งนี้ไม่สำเร็จ ครั้งที่ 3 กำหนดไว้เมื่อไหร่ นายวันนอร์ระบุว่า
ยังไม่ทราบต้องดูหน้า
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา #โหวตนายก