วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

‘พิธา’ แถลงนโยบายสิ่งแวดล้อมกลางน้ำ ยัน ‘ก้าวไกล’ เอาจริงปัญหาโลกร้อน ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น Net Zero ในปี 2050


พิธา’ แถลงนโยบายสิ่งแวดล้อมกลางน้ำ ยัน ‘ก้าวไกล’ เอาจริงปัญหาโลกร้อน ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น Net Zero ในปี 2050

 

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ชุมชนปากคลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงเปิดนโยบาย “สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า” ซึ่งเป็นชุดนโยบายที่ 7 จากทั้งหมด 9 ชุดนโยบาย

 

การเปิดนโยบายครั้งนี้มีจุดเด่นคือการตั้งโพเดียมกลางน้ำ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการกล่าวถ้อยแถลงของรัฐมนตรีการต่างประเทศ ของประเทศตูวาลู ในช่วงการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) โดยพิธากล่าวว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่าปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนมากกว่าที่คิดและส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประชาชน เช่น ปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงและถี่ขึ้น

 

จากตัวอย่างพื้นที่ปทุมธานีที่เป็นสถานที่แถลงนโยบาย คนในชุมชนนี้บอกว่าในอดีตน้ำท่วม 2-3 เดือนต่อปี แต่ปัจจุบันน้ำท่วม 5-6 เดือนต่อปี หรือเมื่อ พ.ศ. 2549 พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมี 10 ล้านไร่ ตอนนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 27 ล้านไร่ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของธนาคารโลกที่ระบุว่าปี 2011-2045 (พ.ศ. 2554-2588) โลกร้อนจะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไทยราว 3 ล้านล้านบาท ผลิตพืชต่างๆ ได้น้อยลง เช่น ข้าวน้อยลง 13% มันลดลง 21% อ้อยลดลง 35%

 

หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า รัฐบาลอาจบอกว่าเราสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับสหประชาชาติ แต่ตัวเลขเหล่านั้น เราเก็บเอง เขียนรายงานเอง ต่างจากการประเมินโดยองค์กรระหว่างประเทศ ที่บอกว่าการรับมือในเรื่องนี้ของไทยอยู่ในระดับ “ไม่เพียงพอขั้นวิกฤติ” (Critically Insufficient) และหากทำตามนโยบายปัจจุบันของรัฐบาลต่อไป จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศา ในขณะที่ความพยายามของทั้งโลก ต้องการให้ต่ำกว่า 2 องศา

 

ปัญหาโลกร้อนเป็นภัยความมั่นคงของยุคปัจจุบัน นี่คือศัตรูตัวจริงของรัฐบาล ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารแบบเดิมอีกต่อไป ดังนั้น พรรคก้าวไกลต้องการประกาศศึกกับภาวะโลกร้อน โดยมีนโยบายที่ชัดเจน ทั้งในเชิง ‘รับ’ เพื่อรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และในเชิง ‘รุก’ ที่รุกไปที่ต้นตอของปัญหา เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้จริง ควบคู่กับสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม” พิธากล่าว

 

สำหรับชุดนโยบาย “สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล ต้องการเอาจริงกับปัญหาโลกร้อน ผ่านนโยบายเชิงรุกและเชิงรับ ต่อไปนี้

 

A. เชิงรุก: เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

 

ด้านการผลิตไฟฟ้า = เปิดตลาดเสรี ส่งเสริมไฟฟ้าสะอาดพลังงาน:

1. "หลังคาสร้างรายได้" เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ครัวเรือน

2. "ปลดล็อกระเบียบ" สร้างตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรีของประชาชน

3. "ประกันราคา" ไฟฟ้าพลังงานสะอาด สำหรับครัวเรือน

4. "ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด" ภายใน 2035 (พ.ศ.2578)

 

ด้านการเกษตร = ป้องกันการเผา เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้:

5. กำจัดการเผาภายใน 3 ปี งบปรับตัวตำบลละ 3 ล้านบาท 1,000 ตำบล

6. เปลี่ยนการเผาเป็นเงินในกระเป๋าเกษตรกร งบอุดหนุนปลูกข้าว “เปียกสลับแห้ง” แทนการเผา สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปฟางข้าว-ซังข้าวโพดแทนการเผา

7. 1 ฟาร์มปศุสัตว์ 1 บ่อหมักก๊าซชีวภาพ (เป็นอย่างน้อย) เปลี่ยนมีเทนเหลือทิ้งให้เป็นพลังงาน

 

ด้านอุตสาหกรรม = จำกัดการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม:

8. กำหนดเพดานและเปิดตลาด (Cap & Trade) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยนโควตา

9. PRTR – กฎหมายเปิดข้อมูล บังคับให้ทุกโรงงานเปิดข้อมูล สารพิษอันตรายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ด้านการขนส่ง = ปรับปรุงการขนส่งให้สะอาดที่สุด:

10. รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ภายใน 7 ปี

11. “วันขนส่งฟรี” รณรงค์ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว

12. เปลี่ยนรถไฟดีเซลเก่าเป็นไฟฟ้า

13. ตรวจสภาพรถยนต์ฟรี! ปีละครั้ง

14. ควบคุมปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง

 

ด้านขยะอาหาร = Zero Food Waste กำจัดขยะอาหารเหลือทิ้ง:

16. เพิ่มค่าขยะอาหารในห้างใหญ่ บังคับแยกขยะ-เก็บข้อมูล-ทำบัญชีขยะอาหาร

17. อาหารเหลือทิ้งแลกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมให้ชุมชนทำปุ๋ยจากอาหารเหลือทิ้ง เพื่อเป็นคูปองซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ ขยะเหลือทิ้ง 1 กิโล แลกได้ 1 บาท

 

ด้านพื้นที่สีเขียว = ป่าแลกเงิน เพิ่มพื้นที่สีเขียว:

18. ต้นไม้ปลดหนี้ รัฐจ่ายหนี้ค้างให้เกษตรกร ในฐานะค่าเช่า แลกกับใช้ที่ดินของเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น

19. ต้นไม้บำนาญ คนปลูกได้รับรายได้เป็นรายเดือน 1,200 บาท/ไร่/เดือน เป็นเวลา 20 ปี

20. ต้นไม้ทุนรัฐบาล อุดหนุนงบเกษตรกรปลูกป่า 4,000 บาท/ไร่ ในช่วงเวลา 3 ปี

21. ต้นไม้ชุมชน อุดหนุนปลูกป่าชุมชน 4,000 บาท/ไร่/ปี จำนวน 1,000 ชุมชน

22. เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ด้วยการเพิ่มงบท้องถิ่น ผ่านนโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า

 

B. เชิงรับ: ช่วยประชาชนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแล้ว

 

23. กองทุนปรับตัวรับมือภัยพิบัติ-น้ำท่วม

24. เตือนภัยทั่วถึง ครอบคลุมทุกท้องถิ่น

25. ท้องถิ่นประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติได้

26. ทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดรายลุ่มน้ำ

27. ศูนย์พักพิง-อพยพมีมาตรฐาน ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณ

28. ชดเชยเป็นธรรมและทันควัน

29. ประกันภัยพืชผล ฟรี ในทุกพื้นที่รับน้ำ

 

นอกเหนือจากนโยบายด้านโลกร้อน พรรคก้าวไกลยังมีนโยบายสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆ ที่จะชี้แจงรายละเอียดอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ เช่น การจัดการขยะ ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาช้างป่า ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหามลพิษทางแสง

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล