วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

‘ก้าวไกล’ ผิดหวัง ส.ว.ตีตกญัตติทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำ หากเป็นรัฐบาลเดินหน้าประชามติทันที


ก้าวไกล’ ผิดหวัง ส.ว.ตีตกญัตติทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ย้ำ หากเป็นรัฐบาลเดินหน้าประชามติทันที

 

วานนี้ ( 21 ก.พ. 66) ที่รัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางแค พรรคก้าวไกล และ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล แถลงข่าวภายหลังที่ประชุม ส.ว. มีมติไม่เห็นด้วยต่อญัตติที่ขอให้ส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยและค่อนข้างผิดหวังกับผลการลงมติ ในฐานะผู้เสนอญัตติ เห็นว่าหลายข้อห่วงใยของคณะกรรมาธิการศึกษาฯ ของวุฒิสภาชุดนี้ ตนและ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้ตอบทุกข้อสงสัยอย่างครบถ้วน แต่กลับไม่ปรากฏความเห็นในเล่มรายงานนี้เลย ทำให้เชื่อได้ว่า กมธ. ชุดนี้ อาจไม่ได้ทำการศึกษาอย่างตรงไปตรงมา

 

ไม่ว่าจะเป็น การอ้างว่าญัตตินี้ไม่มีการตีกรอบเนื้อหาในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งวันนี้ ส.ว. หลายคนก็ได้อภิปรายอย่างถูกต้องว่าญัตตินี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรอบเนื้อหาการแก้ไข เพราะจะเป็นกระบวนการต่อไปที่ต้องยกร่างแก้ไขในมาตรา 256 หรือข้อกังวลเรื่องการจัดประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ซึ่งตนชี้แจงไปแล้วว่าเป็นเพียงข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ได้เป็นการบังคับ

 

อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณ ส.ว. ที่ลงมติเห็นด้วย แม้บางส่วนยังไม่เห็นด้วยกับการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่ถ้า ส.ว. เชื่อในอำนาจสูงสุดของประชาชน ก็ต้องไม่ขัดขวางในญัตติดังกล่าว

 

ด้านพริษฐ์กล่าวว่า การลงมติวันนี้ เป็นอีกครั้งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าวุฒิสภาชุดปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมามีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 26 ร่าง มีเพียงร่างเดียวที่ผ่านไปได้ เหตุผลสำคัญคือการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องได้เสียงเห็นชอบ 1 ใน 3 ของ ส.ว. แต่ครั้งนี้น่าผิดหวังกว่าเดิม เพราะย้อนไปเดือนพฤศจิกายน 2563 ส.ว. เคยลงมติเห็นชอบในวาระรับหลักการญัตติตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งการลงมติในวันนี้ขัดกับการลงมติในครั้งนั้น

 

"ส.ว. บางคนกังวลว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นระเบิดเวลาและนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ผมยืนยันการไปต่อกับรัฐธรรมนูญ 2560 นี่แหละคือระเบิดเวลา เพราะไม่มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีกติกาที่มีเจตนาจะเป็นกลางต่อทุกฝ่าย” พริษฐ์กล่าว

 

พริษฐ์ กล่าวว่า มี 3 ช่องทางที่สามารถจัดประชามติทำรัฐธรรมนูญใหม่ และเป็นวิธีที่ถูกรับรองโดย พ.ร.บ.ประชามติ 2564 ได้แก่ ช่องทางที่ 1 การเข้าชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ เพื่อยื่นไปยัง ครม. ซึ่งปัจจุบันการรณรงค์แคมเปญ RESET Thailand ได้รายชื่อครบแล้ว และอยู่ในขั้นตอนรอการตรวจสอบรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีข้อติดขัดคือ กกต. ต้องการตรวจสอบเอกสารว่าตรงกับระเบียบ กกต. หรือไม่ จึงขอฝากให้ กกต. ไม่สกัดกั้น ไม่ทำให้กระบวนการล่าช้า

 

ช่องทางที่ 2 หาก ครม. เห็นชอบให้มีการจัดทำประชามติ ก็สามารถทำได้เลย ซึ่งตนมองไม่เห็นว่าการจัดทำประชามติจะมีปัญหาอะไร ส.ส.รัฐบาลก็โหวตเห็นชอบให้มีการจัดประชามติ จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลว่าสามารถทำได้เลย

 

และช่องทางที่ 3 หาก 2 ช่องทางนี้ยังไม่สำเร็จ ความหวังสุดท้ายคือ หากพรรคก้าวไกลได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนให้เป็นรัฐบาล ครม.ก้าวไกล พร้อมจัดทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใน 100 วันแรกแน่นอน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล