วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

"ส. ศิวรักษ์" รุดให้กำลังใจ ตะวัน-แบม ยกย่องทั้งคู่เป็นเหมือนแสงเทียนแห่งความกล้าหาญ สับเละ กระบวนการยุติธรรมไทย แย่ยิ่งกว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มวลชนหลายกลุ่มเข้าร่วมจองที่ค้างแรม

 


"ส. ศิวรักษ์" รุดให้กำลังใจ ตะวัน-แบม ยกย่องทั้งคู่เป็นเหมือนแสงเทียนแห่งความกล้าหาญ สับเละ กระบวนการยุติธรรมไทย แย่ยิ่งกว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มวลชนหลายกลุ่มเข้าร่วมจองที่ค้างแรม


วันที่ 25 กุมภาพันธ์  2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวกรณีน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และน.ส. อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม นอนอดอาหารประท้วงอยู่ในเต็นท์หน้าศาลฏีกา เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ยังรอผลการพิจารณาของศาลในวันที่ 2 ของการอดอาหารประท้วงหน้าศาลฏีกา


บรรยากาศตลอดทั้งวันคึกคักไปด้วยแนวร่วมม็อบปล่อยเพื่อนเราจากกลุ่มต่าง ๆ ที่เริ่มทยอยเดินทางมาสมทบ อาทิ กลุ่มทะลุแก๊ส ที่มาทำหน้าที่เป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง กลุ่มปล่อยเพื่อนเรา ที่ชุมนุมค้างคืนเรียกร้องปล่อยเพื่อนเราอยู่บริเวณหน้าศาลอาญารัชดามากว่า 1 เดือน  นำโดยนายภราดร เกตุเผือก หรือ ลุงดร ก็ย้ายสถานที่การชุมนุมค้างคืนมารวมกับกลุ่มของตะวัน-แบม โดยยึดพื้นที่บริเวณริมรั้วศาลฎีกา ไม่ไกลจากเต็นท์ของ ตะวัน-แบม ขณะเดียวกันมีการขึงผ้าใบบังแดดริมรั้วศาลฎีกา ติดตั้งเครื่องปั่นไฟ สำหรับจ่ายไฟในเต็นท์ที่พักของตะวัน-แบม


นอกจากนี้ยังมีการปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุมโจมตีขบวนการยุติธรรม ทำให้ด้านหน้าศาลฎีกาไม่ต่างอะไรกับหมู่บ้านชั่วคราวของมวลชนหลายกลุ่ม



ต่อมาเมื่อเวลา 16.50 น. นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ วัย 89 ปี นักเขียนชื่อดัง เดินทางมาเยี่ยมตะวัน-แบม แต่ไม่ได้รับการอนุญาต จึงนำหนังสือที่เจ้าตัวเขียนชื่อ ทันโลกถึงธรรม มามอบให้ผ่าน น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ ที่รู้จักในหมู่คนเสื้อแดง ว่า แหวน พยาบาลอาสาวัดปทุม ซึ่งดูแลด้านการปฐมพยาบาลให้กับทั้งคู่เป็นผู้รับแทน


น.ส.ณัฏฐธิดา กล่าวสรุปอาการทั้งคู่ให้ ส. ศิวรักษ์ ทราบว่า เบื้องต้นผู้ที่จะมาเข้าเยี่ยมได้จะมีเฉพาะพ่อแม่และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านสุขภาพของ ตะวัน-แบม เนื่องจากเกรงจะเกิดการติดเชื้อโดยเฉพาะโรคโควิด-19 เพราะทั้งคู่อยู่ในสภาวะที่อ่อนแอมาก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตะวันสามารถคุยโต้ตอบได้ แบมก็เช่นกัน ค่าความดันยังปกติ เป็นห่วงคือค่าออกซิเจนในเลือด หนังสือที่มามอบให้นั้นขอ ให้น้องทั้งสองคนหายก่อนก็คงจะอ่านได้ 


ด้าน ส. ศิวรักษ์ กล่าวว่า ที่มาเพราะต้องการให้กำลังใจ และถือว่าทั้งคู่เปรียบเหมือนเป็นประทีปนำทางให้พวกเรา รู้สึกเสียดายที่กระบวนการยุติธรรมบ้านเราไม่เห็นความสำคัญของชีวิตคน  อยากให้ศาลที่ดูแลคดีเหล่านี้มีน้ำใจความเป็นมนุษย์และมีมนุษยธรรมบ้าง ตอนนี้รู้หรือไม่ว่าเด็ก 2 คนกำลังจะตาย  นี่หรือคือความยุติธรรมของศาล ตนอยากจะถามด้วยความเคารพ


"ศาลพระภูมิยังทำอะไรให้ จนมีคนไปบนบาน แต่นี่แย่ยิ่งกว่าศาลพระภูมิอีก ศาลอะไรกัน ตนพูดแบบนี้ ท้าให้มาจับข้อหาหาหมิ่นประมาทได้เลย ตนยินดีให้จับอีกคน บ้านเมืองวันนี้ไม่มีขื่อมีแป รัฐบาลประยุทธ์ที่ว่าเลวแล้ว แต่ถ้าจะพึ่งศาลก็พึ่งไม่ได้ ไม่คิดว่าเมืองไทยจะเป็นแบบนี้ เด็กทั้งสองคนคือสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ ส. ศิวรักษ์ กล่าว


ขณะที่ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อยากให้กำลังใจน้องทั้งสองคน เข้าใจและเห็นด้วยกับอุดมการณ์ แต่ในทางหนึ่งก็อยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาชีวิตของทั้งคู่ไว้ ขอเรียกร้องไปยังผู้มีอำนาจเข้าใจถึงความตั้งใจและให้ความยุติธรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งไม่ใช่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมเพียงแค่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง


ต่อมาในเวลาประมาณ 17.30 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นัดหมายมวลชนเดินทางมาร่วมชุมนุมยืนหยุดขัง 1.12 ชม.ที่ ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 262 มี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส. ศิวรักษ์ และรศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เป็นต้น เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่ว


กระทั่งเวลา 18.42 น.ครบเวลาเสร็จสิ้นกิจกรรม นายพันธ์ศักดิ์ แกนนำกลุ่ม จึงชักชวนมวลชนหันหน้าเข้ารั้วศาลฎีกา พร้อมชู 3 นิ้วและกล่าวคำแสดงเจตนารมณ์ว่า  “ปล่อยเพื่อนเรา, ปล่อยผู้บริสุ,ทธิ์, คืนสิทธิการประกันตัว, ยกเลิก 112, ศักดินาจงพินาศประชาราษฎร์จงเจริญ ตะวัน-แบม สู้ ๆ” ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินทางกลับบางส่วนปักหลักค้างแรมหน้าศาลฏีกาเป็นเพื่อนตะวัน-แบม ต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแบม #คืนสิทธิประกันตัว