“ชนก” อัด รบ.ประยุทธ์
ยาเสพติดเกลื่อน ไร้มาตรการฟื้นฟู-บำบัดผู้เสพ
ผลักภาระประชาชนเผชิญความเสี่ยงทุกด้าน ชี้ ถ้าเลือกตั้งครั้งหน้า
เพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะทำให้ดู
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ น.ส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย
พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติกรณีเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด
ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ
ประกาศเรื่องยาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วนสำคัญ 1 ใน 12
ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ตลอดระยะเวลาของการบริหารประเทศโดยพล.อ.ประยุทธ์
ปัญหายาเสพติดล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งด้านป้องกัน ปราบปราม
บำบัดฟื้นฟู จากที่ท่าน ส.ส.มนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม
พรรคเพื่อไทยได้อภิปรายก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการป้องกัน
ปราบปรามยาเสพติด ที่เป็นต้นน้ำของปัญหา ยิ่งบริหารประเทศปริมาณยาเสพติดที่ถูกจับกุมยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ในปี 2564 ประเทศไทยสามารถการจับกุมยาไอซ์จำนวน 22,126
กิโลกรัม และยาบ้ากว่า 592 ล้านเม็ด
เป็นปริมาณมากที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งตัวเลขนี้ส่งผลต่อไปถึง “ผู้เสพในฐานะผู้ป่วย” ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้
กระทรวงยุติธรรมมีแนวทางลดทอนความเป็นอาชญากรรม เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
ทำให้ผู้เสพยาในฐานะผู้ป่วย ออกจากเรือนจำมาอยู่ในสังคมเพิ่มมากขึ้น
แต่กลับถูกเติมปัญหาด้วยการปลดล็อคกัญชาซึ่งทำให้ ผู้เสพ ผู้ติด
ในฐานะผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งจากที่ตนกล่าวมา
ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติดเพิ่มสูงขึ้น
แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่มีระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพรองรับ
โดยจากข้อมูลสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
กระทรวงสาธารณสุข 2564 จำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติด
จำนวนมากถึง 622,172 ราย มารักษาต่อเนืองครบ 1 ปี จำนวน 360,486 ราย คิดเป็น 57.94% ไม่มารักษาต่อเนืองครบ 1 ปี จำนวน 261,686 ราย คิดเป็น 42.06% และในจำนวน 622,127 รายนี้ ผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้สารเสพติดและมีแนวโน้มก่อความรุนแรง
เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการบำบัดทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างต่อเนื่อง
มารับการรักษาต่อเนื่องครบ 1 ปี จำนวน 28,250 ราย คิดเป็น 52.82% ไม่มารับการรักษาต่อเนื่องครบ 1
ปี จำนวน 25,234 ราย คิดเป็น 47.18% ตัวเลขนี้ชี้ถึงจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาไม่ต่อเนื่อง 1
ปีมีความเสี่ยงที่จะกลับมาใช้สารเสพติดอีกครั้ง
หมายถึงความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการบำบัดฟื้นฟูที่ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องครบ
1 ปี นี้ยังไม่รวมถึงปัญหาแวดล้อม เช่น สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยจิตเวช,
แพทย์จิตเวชที่ขาดแคลน โดยข้อมูลกรมสุขภาพจิต แพทย์จิตเวช 1 คนต้องดูแลประชาชนมาถึงแสนคน
และขาดบุรุษพยาบาลที่มีความรู้ความเข้าใจผู้ป่วยจิตเวช
สุดท้ายรัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์
ได้ปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรง และเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน
น.ส.ชนก กล่าวว่า
งบประมาณเกี่ยวกับยาเสพติดที่จัดสรรให้หน่วยงานหลัก
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 9 กระทรวง 26 หน่วยงาน 2 ส่วนราชการเพื่อการป้องกันปราบปรามและฟื้นฟู
ปี 2564 งบประมาณเกี่ยวกับยาเสพติด 6,129 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 1,058 ล้านบาท ปี 2565
งบประมาณเกี่ยวกับยาเสพติด 4,281 ล้านบาท
กระทรวงสาธารณสุข 744 บาท
แต่โครงการการติดตามผู้บำบัดได้งบประมาณเพียง 10 ล้านบาท
และโครงการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพของกรมการแพทย์มีงบประมาณ 219 ล้านบาท
ซ้ำร้ายกว่านั้นจิตแพทย์ที่ถือเป็นบุคลากรหลักของการบำบัดที่ต้องเร่งผลิตจิตแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจและความเชี่ยวชาญในการฟื้นฟูบำบัดผู้เสพในฐานะผู้ป่วยงบสำหรับกรมสุขภาพจิดกลับมีเพียง
60 ล้านบาทเท่านั้น
เมื่อเทียบกับการที่ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็น เช่น เหตุการณ์ ส.ต.อ.ปัญญา คําราบ (ตร.นอกราชการ)
มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเสพยา
ก่อเหตุใช้อาวุธมีดและปืนทําร้ายผู้คนในศูนย์เด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์
ตรงนี้ถือว่าการจัดสรรงบประมาณน้อยมาก
“ย้อนกลับไปในปี 2544 ทันทีที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ได้ประกาศสงครามกับยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ จำนวนคดียาเสพติดและผู้เกี่ยวข้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ภายใต้แนวคิดหลัก ภายใต้แสงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ต่อมารัฐบาล
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ
เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้แนวคิดหลัก ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย
เพื่อให้ผู้เสพติดได้รับการบำบัดอย่างถูกต้อง
จนทำให้คดียาเสพติดลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
ที่สืบทอดอำนาจมาจากเผด็จการ ที่มีทั้งกฎหมายพิเศษอย่าง ม.44 จัดการกับทุกปัญหาของประเทศจนต่อเนื่องมาเป็นรัฐบาล
แต่คดียาเสพติดยังเพิ่มขึ้นทุกปี ภายใต้แนวคิดหลัก
"ร้อยนายกฯก็แก้ปัญหายาเสพติด-พนันไม่ได้”
หากการเลือกตั้งที่จะมาถึงพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เข้ามาบริหารประเทศ
เพื่อไทยมายาเสพติดต้องหมดไป คืนชีวิตปลอดภัยให้ประชาชน เราจะทำให้ดู” น.ส.ชนก
กล่าว