วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เปิดข้อเรียกร้อง คปช.53 ต่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภา

 


เปิดข้อเรียกร้องของ คปช.53 ต่อพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภา


รายละเอียดหนังสือข้อเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบายทวงความยุติธรรมให้วีรชนคนเสื้อแดง และประชาชนทั่วไปในปัจจุบันที่ถูกกระทำจากการเป็นผู้เห็นต่างทางการเมือง พร้อมข้อเสนอนโยบายทางการเมืองและการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้


วันที่  23  กุมภาพันธ์ 2566

                                      

เรื่อง  ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองในการทำนโยบายและการปฏิบัติในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาลในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566


เรียน  หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา (พรรคเพื่อไทย/พรรคก้าวไกล/พรรคเสรีรวมไทย/พรรคประชาชาติ/พรรคเพื่อชาติ/พรรคพลังปวงชนไทย)


สืบเนื่องจากการชุมนุมของประชาชนคนเสื้อแดงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารเข้าปฏิบัติการสลายการชุมนุมตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ดำเนินการเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนคนเสื้อแดงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และมีคำสั่งดำเนินการปิดล้อม สกัดกั้นและใช้อาวุธกับประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์  และบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 และมีคำสั่งให้สลายการชุมนุมผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 99 ศพ และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก สำหรับการตายของประชาชนยังไม่ได้ทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพอีก 62 ศพ


หลังจากนั้นก็มีการจับกุมคุมขังอย่างเร่งรีบ และมีรางวัลในการจับกุม รวมทั้งปัญหาการดำเนินคดีที่น่าเคลือบแคลง โดยไม่ยอมรับพยานที่มีน้ำหนักจริงอย่างเพียงพอ มีผลให้ถูกคุมขังยาวนานและไม่ได้ประกันตัว จนเมื่อต้องพ้นโทษเพราะศาลยกฟ้อง จำนวนมากก็ไม่ได้รับการเยียวยาชดเชย ต้องติดคุกฟรี สภาพการในอดีตก็กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันที่เกิดกับกลุ่มเยาวชนผู้เห็นต่างทางการเมือง อันเนื่องจากการทำรัฐประหาร 2557 และคณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อมาผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยจอมปลอมที่อำนาจไม่ได้เป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง  มีผลให้คดีความการปราบปรามประชาชน 10 เมษายน ถึง พฤษภาคม 2553 ได้รับผลกระทบโดยที่การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนปลายหยุดชะงักและถูกเบี่ยงเบนเนื่องจากอำนาจรัฐของการทำรัฐประหารต่อเนื่อง


ในวาระที่คดีความยังมีเวลาเหลือเพียง 7 ปี คณะประชาชนทวงความยุติธรรมที่ประกอบด้วย ญาติวีรชนผู้สูญเสีย ทนายความที่ได้ร่วมดำเนินคดีตั้งแต่ต้น และกลุ่มคนเสื้อแดง ผู้ถูกกระทำจากการปราบปรามครั้งนั้น ได้ร่วมกันเรียกร้องความยุติธรรมในห้วงเวลาใหม่ที่หวังว่าพรรคการเมือง นักการเมือง จะได้ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลง สร้างประเทศไทยใหม่ในระบอบประชาธิปไตยจริง เราจึงมีข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง ดังต่อไปนี้


1. ทำการเร่งรัดตรวจสอบและผลักดันคดีความกรณีปี 2553 ที่ถูกแช่แข็งและบิดเบือน ไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนที่ถูกปราบปรามเข่นฆ่าได้ (ตามเอกสารที่ส่งมาด้วย) นับจากการทำรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อมิให้มีการฆ่าประชาชนกลางถนนซ้ำซากโดยผู้กระทำและสั่งการ “ลอยนวลพ้นผิด” ซึ่งอาจเกิดได้อีกในอนาคต รวมทั้งตรวจสอบผลักดันคดีความในช่วงเวลาปัจจุบัน อันเป็นคดีความทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน ให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรมที่เป็นสากล ไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติและกลั่นแกล้งทางการเมือง


2. แก้ไขกฎหมาย  กรณีที่ทหารและนักการเมืองทำความผิดต่อประชาชน พลเรือน ให้ขึ้นศาลพลเรือน  ไม่ใช่ทหารขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมือง  ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  ทำให้ทหารและนักการเมืองไม่ได้ถูกดำเนินคดีเฉกเช่นประชาชนทั่วไป


3. เมื่อได้เป็นรัฐบาล ขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553  ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด  ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่อัยการศาล ICC ได้มาแจ้งไว้กับรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2555


4. ดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง โดยการใช้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ ตามสัดส่วนประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ  เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค โดยคำนึงถึงสนธิสัญญาตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ได้ลงนามไว้ในสหประชาชาติ รวมทั้งสนธิสัญญากรุงโรมที่ยังไม่ได้ลงนาม ก็ควรได้ลงนามในอนาคตหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว


5. แก้ไขกฎหมายอื่น อันเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร รวมทั้ง พ.ร.บ.องค์กรรัฐซ้อนรัฐ กอ.รมน. และกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง


6. ดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง เพราะ 3 แหล่งนี้เป็นกระบวนการกลุ่มอภิชนที่ยึดครองประเทศไทย ยึดอำนาจจากประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชน อำนาจกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นถึงปลาย อำนาจองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ล้วนต้องยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งกองทัพ โครงสร้างการบริหารขององค์กรเหล่านี้ ต้องให้อำนาจประชาชนควบคุมได้ ไม่ใช่สมคบกันจัดการประชาชน และมีที่มาจากกลุ่มอภิชนด้วยกัน


7. กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาค แก้ปัญหาระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย และการคอรัปชั่นส่งนายใหญ่ตามลำดับ ให้ผู้บริหารผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและถูกตรวจสอบได้ง่าย


8. ให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตา ส.ส. ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป หรือมิฉะนั้นก็ไม่ต้องมีวุฒิสมาชิกเลย เพราะตราบเท่าที่องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง วุฒิสมาชิกถูกแต่งตั้งจากรัฐทหารจารีต อำนาจประชาชนก็ถูกจัดการทำลาย ยุบพรรคการเมืองโดยง่าย จับกุมคุมขัง ลงโทษประชาชนผู้เห็นต่างเหมือนเช่นทุกวันนี้


ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียงปัญหาหลักที่มีผลต่อกระบวนการยุติธรรมและการปราบปรามประชาชนเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต


พรรคการเมืองที่สยบต่ออำนาจที่ปล้นมาจากประชาชน เท่ากับพรรคการเมืองนั้นไม่ใช่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจริง


ข้อเสนอเราเป็นเพียงบางส่วน มิใช่ข้อเสนอทั้งหมดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้เข้าสู่สังคมอารยะ ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ การศึกษา ปัญหาสังคมและสาธารณสุข ที่ยังต้องแก้ไขทั้งสิ้น  แต่เพื่อทวงความยุติธรรม เราจึงพูดเฉพาะประเด็นหลัก ๆ ทางการเมืองการปกครอง กระบวนการยุติธรรม และกองทัพที่ไม่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยจริง


ขอแสดงความนับถือ

คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53)

.

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #คนเสื้อแดง #ทวงความยุติธรรม