“สมคิด” งัดคำสั่งแฉ “ประยุทธ์” ใช้อำนาจแทรกแซงแต่งตั้งคนสนิทนั่งผู้บริหารระดับสูง ปปง. เอื้อประโยชน์พวกพ้อง สร้างเครือข่ายจนเหิมเกริมทุจริต-พัวพันรับสินบน
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีพฤติกรรมที่ส่อทุจริตประพฤติมิชอบของผู้บริหารสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มิได้ปฏิบัติหรือดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยนโยบายเร่งด่วนเรื่องด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยเรื่องที่ตนจะอภิปรายนี้เกิดขึ้นในหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตโดยตรง คือ ปปง. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย ซึ่งแทนที่พล.อ.ประยุทธ์ จะกำกับสำนักงาน ปปง. ให้เป็นหน่วยงานที่เข้ามาแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจังและเข้มงวด แต่กลับใช้อำนาจ ม.44 ในฐานะหัวหน้า คสช. แทรกแซงโอนย้ายข้าราชการตำรวจนายหนึ่งขึ้นมาเป็นเลขาธิการ ปปง. ซึ่งก็คือ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่า ตำรวจนายนี้สนิทสนมกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองใหญ่รายหนึ่ง คำสั่งดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาภายในสำนักงาน ปปง. ตามมามากมายภายในองค์กร โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากการแต่งตั้งคนสนิทของตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ปปง. ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายปกติ และใช้อำนาจพิเศษแต่งตั้งคนของตนเองเข้ามาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง. โดยไม่ต้องมีการสรรหา
จากนั้นถัดมาในปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์
ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 38/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ซึ่งคำสั่งดังกล่าว เสมือนเป็นคำสั่งให้เหลือกรรมการ ปปง.
ผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิม 6 คน เหลือเพียง 4 คน
พล.อ.ประยุทธ์จงใจใช้อำนาจแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในสำนักงาน ปปง.
โดยมีเจตนาให้เกิดการสืบทอดอำนาจพิเศษแก่บุคคลให้เครือข่ายของตน
ด้วยการแต่งตั้งบุคคลในเครือข่ายของตนให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไม่เว้นช่วงระยะเวลา
ดังนี้
1. ก่อนที่อดีตเลขาธิการ ปปง.
ซึ่งเป็นบุคคลในเครือข่ายของพล.อ.ประยุทธ์ จะหมดวาระ ในวันที่ 30 กันยายน 2560 ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรี
(ครม.) ของพล.อ.ประยุทธ์ ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560
อนุมัติแต่งตั้งอดีตเลขาธิการ ปปง. คนดังกล่าว ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ปปง. ล่วงหน้า ทั้งที่ในขณะนั้นยังดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง.
และให้ทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปปง. ต่อเนื่องที่พ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการ
ปปง. และต่อมาได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานกรรมการ ปปง. และ
2. ภายหลังที่พล.อ.ประยุทธ์
มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นบุคคลในเครือข่ายของพล.อ.ประยุทธ์
ได้ใช้วิธีการออกประกาศคณะกรรมการ ปปง. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการ
ปปง. พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 โดยข้อ 3 ของประกาศดังกล่าว กำหนดให้
เลขาธิการ ปปง. เสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง.
ต่อคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ ปปง. และในกรณีที่เลขาธิการ ปปง. ไม่เสนอรายชื่อหรือเสนอรายชื่อตนเอง
ให้ประธานกรรมการ ปปง.มีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมแทนเลขาธิการ ปปง. ได้ด้วย
นอกจากนี้ในการคัดเลือกผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง.
ดังกล่าวยังมีความผิดปกติที่จงใจไม่ประกาศเชิญชวนให้บุคคลภายนอกหน่วยงานสมัครเข้ารับคัดเลือก
เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงาน ปปท. / สำนักงาน คปภ. / สำนักงาน ป.ป.ช.
หรือสำนักงาน กกต.
นายสมคิด กล่าวว่า
จากการใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงาน ปปง. ของพล.อ.ประยุทธ์
เพื่อให้คนสนิทของตนเข้าไปควบคุมหน่วยงานดังกล่าว และอาศัยเป็นเครื่องมือเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและพวกพ้องของตนเองให้เกิดการผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม
และใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
หรือกลุ่มทุนที่เป็นคู่แข่งกับกลุ่มทุนในเครือข่ายของพวกพ้องตน
แต่หากบุคคลใดแม้พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นผู้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน
ปปง. แต่หากไม่ตอบสนองนโยบายก็จะใช้อำนาจพิเศษตามม.44 เช็คบิลทันที เช่น
อดีตเลขาธิการ ปปง. ท่านหนึ่ง ที่ทำงานไม่ตอบสนองนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์
ที่ขณะนั้นต้องการกำจัดกลุ่มธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญของกลุ่มบริษัทที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับบริษัทในกลุ่มเครือธุรกิจของนายตู้ห่าว
ซึ่งมีหลานของพล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปเกี่ยวข้องและมีผลประโยชน์ในธุรกิจดังกล่าวด้วย
ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 12/2561
ปลดออกจากตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง. ทั้งที่ทำงานได้เพียง 46 วัน
ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ว่างลง และให้รองเลขาธิการ ปปง.
ท่านหนึ่งรักษาราชการแทนเรื่อยมา
โดยไม่มีการดำเนินการประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่ง
เลขาธิการ ปปง. แต่อย่างใด เนื่องจากต้องการรอให้บุคคลในเครือข่ายของพล.อ.ประยุทธ์
และผู้ใกล้ชิด เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าว
ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563
ครม.ประยุทธ์ ได้มีมติอนุมัติแต่งตั้ง นายตำรวจท่านหนึ่ง
ซึ่งเป็นคนสนิทของประธานกรรมการ ปปง. ในขณะนั้น
โอนย้ายจากข้าราชการตำรวจมาดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ ปปง. และต่อมาอีกเพียง 8
เดือน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564
ครม.ประยุทธ์ได้อนุมัติแต่งตั้งนายตำรวจคนดังกล่าวให้มาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง.
“บุคคลที่พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งในสำนักงาน ปปง. นับแต่ปี 2559 เรื่อยมา จนสามารถควบคุมสั่งการในสำนักงาน ปปง. ได้ทั้งหมด ทำให้กลุ่มบุคคลในเครือข่ายของพล.อ.ประยุทธ์ เหิมเกริมเพราะคิดว่าผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ปปง. เป็นพรรคพวกเดียวกันทั้งหมด และไม่มีผู้ใดสามารถตรวจสอบได้ และเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์และมีความสนิทสนมกับกลุ่มผู้กระทำความผิดในมูลฐานฟอกเงิน เช่น มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายไปร่วมงานทอดกฐินด้วยกันที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงมีการส่ง พวงหรีดไปร่วมแสดงความเสียใจกับกลุ่มผู้ต้องหาคดีการพนันออนไลน์ นอกจากนี้กลุ่มบุคคลในเครือข่ายที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้แต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่ง ยังถูกร้องเรียนเรื่องการทุจริตและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมของกลุ่มบุคคลดังกล่าวหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับการเรียกรับสินบนในคดีพนันออนไลน์และในคดีฟอกเงินของทุนจีนสีเทาที่ปรากฏเป็นข่าว, การทุจริตต่อหน้าที่ด้วยการให้ความช่วยเหลือดผู้กระทำความผิดในลักษณะต่าง ๆ เพำื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตน, การทุจริตเบียดบังงบราชการลับไปเป็นประโยชน์ส่วนตน โดยใช้สำนักงาน ปปง. ชั้น 3 เป็นสถานที่เรียกรับสินบนในคดีต่าง ๆ และใช้เป็นสถานที่บันเทิง ดื่มเหล้า/ไวน์ กับผู้ต้องหาในคดีพนันออนไลน์ด้วย " นายสมคิดกล่าว
นายสมคิด กล่างอีกว่า
กลุ่มบุคคลเหล่านี้กระทำการไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย
และสนใจต่อสายตาของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน ปปง. จนเป็นที่ครหาภายในสำนักงาน ปปง.
กันเอง และกลุ่มผู้บริหารกลุ่มนี้ ได้ใช้วิธีการต่างๆ
เพื่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจแก่บุคคลในเครือข่ายของตน โดยไม่สนใจข้อร้องเรียนใดๆ
ดังจะเห็นได้จากภายหลังที่ประธานกรรมการ ปปง. ครบวาระในวันที่ 30 กันยายน 2564
กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ปปง.
ชุดใหม่เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการชุดเดิม
โดยปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาเป็นปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
เพื่อรอให้เลขาธิการ ปปง. ในขณะนั้นเกษียณอายุราชการ
และแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในทันที
และถูกวางตัวให้เป็นประธานกรรมการ ปปง.
ซึ่งเป็นการจงใจไม่ให้มีการเว้นช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่สำคัญ
เพื่อให้เกิดการสืบทอดอำนาจพิเศษแก่บุคคลในเครือข่ายของพวกพ้องตนเอง ทั้งนี้ พฤติกรรมเรื่องการทุจริตและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมของกลุ่มบุคคลดังกล่าวตามที่ผมได้อภิปรายมามีเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานด้วยกันเอง
ทนเห็นพฤติกรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่ได้ และได้บันทึกคลิปวิดีโอ
พฤติกรรมการกระทำของกลุ่มผู้บริหารระดับสูงดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน แต่ปัจจุบันคลิปดังกล่าวบางส่วนได้ถูกนำไปแลกเปลี่ยนกับชายคนหนึ่งที่ออกมาร้องเรียนในเรื่องนี้จนปรากฏเป็นข่าว
และทำให้ประธานกรรมการ ปปง. ทำหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565
ทั้งที่เพิ่งทำหน้าที่ได้เพียง 2 เดือนเศษ นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสำนักงาน ปปง. โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการแต่งตั้ง
เลขาธิการ ปปง. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ปปง.
ได้มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง
เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
และคณะกรรมาธิการดังกล่าวได้จัดทำรายงานเสนอต่อประธานสภาวุฒิสภา
พร้อมทั้งมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของกรรมาธิการสามัญ แต่เมื่อวันที่ 13
กุมภาพันธ์ 2566 วุฒิสภากลับไม่นำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการสามัญไปพิจารณาทบทวน
แต่กลับมีมติเห็นชอบในการแต่งตั้งเลขาธิการ ปปง. ตามที่พล.อ.ประยุทธ์
นำเสนอวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ
นายสมคิด กล่าวว่า
จากข้อมูลทั้งหมดที่ตนได้อภิปราย แสดงให้เห็นว่า
พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีความจริงใจที่จะปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พฤติกรรมของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปในทำนอง
“พูดอย่างทำอย่าง” เห็นแก่ประโยชน์พวกพ้อง ป่าวประกาศในสถานที่ต่างๆ ว่า
“ตนเองไม่ทุจริต” แต่ปล่อยพวกพ้องคนสนิทกระทำทุจริตเสียเอง ทั้งนี้
ตนมีข้อซักถามว่า
1. กรณีที่ผู้บริหารระดับสูงในสำนักงาน ปปง.
ซึ่งเป็นหน่วยงานปราบปรามการทุจริตที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้กำกับดูแล
มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
จนกระทั่งประธานคณะกรรมการ ปปง. ได้ลาออก พล.อ.ประยุทธ์
มีแนวทางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อย่างไร
เพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อประชาชน หรือจะปล่อยให้เรื่องยุติแค่เพียงการลาออก
โดยไม่สอบสวนอะไรเลยใช่หรือไม่
2. พล.อ.ประยุทธ์
มีมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติ
มิชอบในวงราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาว่า จะลดการทุจริตและประพฤติ
มิชอบอย่างจริงจังและเข้มงวดกับผู้กระทำผิดอย่างไร และ
3. หากพล.อ.ประยุทธ์
ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายของตนเองที่ได้แถลงต่อรัฐสภาได้
กระผมของเสนอแนะให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกในวันนี้ และควรหยุดความคิดที่จะไปต่ออีก 2
ปีเถิด
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เพื่อไทย #ประชุมสภา #ประยุทธ์