“เท้ง-ณัฐพงษ์”
เรียกร้องรัฐบาลทบทวนไม่ให้กองทัพมีอำนาจตัดสินใจใช้มาตรการใด ๆ
ต่อกรณีพิพาทไทย-กัมพูชาโดยลำพัง หวั่นสถานการณ์บานปลาย ชี้
แก้ปัญหาชายแดนเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาความนิยมของนายกรัฐมนตรี
จากกรณี
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศมาตรการปราบอาชญากรรมข้ามชาติ
ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการเข้า-ออกจุดผ่านแดน
ห้ามให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปเล่นการพนันในพื้นที่ชายแดน
ระงับบริการอินเทอร์เน็ตไปยังหน่วยงานทางการทหาร และความมั่นคงของรัฐบาลกัมพูชาทั้งหมด
รวมถึงระงับการส่งออกสินค้าที่เกื้อหนุนต่อกิจกรรมของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ
ช่วงดึกของวันที่
23 มิ.ย. 68 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
หัวหน้าพรรคประชาชน ได้โพสต์แสดงความเห็นว่า
การดำเนินมาตรการต่อกัมพูชาต้องมีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาความนิยมของนายกรัฐมนตรี
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการยกระดับมาตรการปราบปรามเครือข่ายอาชกรรมทางไซเบอร์ข้ามชาติที่มีฐานสำคัญอยู่ในกัมพูชา
ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้แถลงต่อสื่อมวลชนในวันนี้
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการที่ท่านนายกฯ
ได้มอบอำนาจในการควบคุมจุดผ่านแดนหรือด่านชายแดนไทย-กัมพูชาให้แก่กองทัพ
ผมเห็นว่า
การที่รัฐบาลปล่อยให้กองทัพมีอำนาจตัดสินใจออกมาตรการควบคุมชายแดนไทย-กัมพูชาได้โดยลำพังนั้น
เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
เพราะผิดหลักการประชาธิปไตยที่กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน
และในกรณีการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชานั้น
กองทัพมีหน้าที่รับผิดชอบในการใช้มาตรการทางทหารเพื่อป้องกันประเทศ
ในขณะที่นายกรัฐมนตรีต้องมีบทบาทนำและรับผิดชอบในภาพรวม
โดยบูรณการมาตรการทั้งทางด้านการทหาร ทางด้านการทูต ทางด้านเศรษฐกิจ
ทางด้านข้อมูลข่าวสาร และอื่นๆ อย่างเป็นเอกภาพ และคำนึงถึงผลกระทบด้านความมั่นคง
ปัญหาเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างรอบด้าน
การที่รัฐบาลยอมให้กองทัพมีอำนาจออกมาตรการควบคุมชายแดนไทย-กัมพูชาได้ด้วยตนเองนั้น
กองทัพอาจตัดสินใจด้วยมิติด้านความมั่นคงด้านเดียว
แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อมิติอื่นๆ นอกเหนือจากที่ตนรับผิดชอบ
ทำให้การบริหารสถานการณ์ไม่เป็นเอกภาพ และอาจมีการใช้มาตรการอย่างไม่ได้สัดส่วน
ซึ่งเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา
กองทัพได้ตัดสินใจออกมาตรการปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชาทั้งหมด
ซึ่งเป็นมาตรการที่จะส่งกระทบรุนแรง ไม่ใช่แค่ต่อชาวกัมพูชา
แต่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนไทยด้วย
เสี่ยงที่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมโดยไม่จำเป็น
เราต้องไม่ลืมว่า
มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ เช่น มาตรการจำกัดการนำเข้า-ส่งออกสินค้าบางประเภท
หรือมาตรการควบคุมด่านชายแดนนั้น มีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดการเผชิญหน้าทางการทหาร
ซึ่งมาตรการนี้เปลี่ยนแปลงหรือผ่อนคลายได้หากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการทหารเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว
ดังที่ปรากฏให้เห็นก่อนหน้านี้ว่า เพียง 2 วันหลังจากไทยมีมาตรการควบคุมด่านชายแดน
สถานการณ์ความตึงเครียดทางทหารระหว่างไทย-กัมพูชาได้ผ่อนคลายลง
นำไปสู่การลาดตระเวนร่วมโดยปราศจากอาวุธ
และทางการกัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า
ทางการไทยกลับไม่ได้ปรับระดับมาตรการควบคุมด่านชายแดนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
จนกระทั่งเกิดกรณีการปล่อยคลิปเสียงระหว่างท่านนายกฯ แพทองธาร กับฮุน เซน
ผมเข้าใจดีว่า
หลังจากมีเสียงเรียกร้องให้ท่านนายกฯ
ต้องรับผิดชอบต่อกรณีคลิปเสียงดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ท่านนายกฯ
ย่อมต้องการที่จะลดแรงกดดันทางการเมืองต่อตนเอง
แต่ผมขอเน้นย้ำว่า
การดำเนินการต่อกรณีพิพาทไทย-กัมพูชานั้น
ต้องไม่ทำเพียงเพื่อแก้ปัญหาคะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรี
แต่ควรพิจารณาโดยมีเป้าหมายเพื่อการนำกัมพูชากลับมาสู่โต๊ะเจรจาและการแก้ปัญหาด้วยกลไกทวิภาคี
นำไปสู่ข้อตกลงที่นานาชาติยอมรับ และเพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
รัฐบาลควรนำ
“ไพ่ในมือ” หรือมาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมดมาพิจารณาใช้ให้เหมาะสม
สอดคล้องกับสถานการณ์และเป้าหมาย การตัดสินใจใดๆ ต้องประเมินจากภาพรวมทั้งหมด
ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยงานใดตัดสินใจเองจากเหตุการณ์เฉพาะหน้า
เพราะแต่ละหน่วยงานย่อมคำนึงถึงผลกระทบเฉพาะในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น
ผมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนไม่ให้กองทัพมีอำนาจตัดสินใจใช้มาตรการใดๆ
ต่อกรณีพิพาทไทย-กัมพูชาได้โดยลำพัง อำนาจในการตัดสินใจและความรับผิดชอบต้องเป็นของรัฐบาล
โดยยึดถือเป้าหมายคือการคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ
ไม่ใช่เพียงเพื่อพิทักษ์ความอยู่รอดของรัฐบาล
รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรอบคอบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ทั้งนี้
ผมสนับสนุนให้เน้นมาตรการที่สามารถกดดันไปยังเครือข่ายผู้มีอิทธิพลทางการเมืองของกัมพูชาโดยตรงแทนที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนวงกว้าง
เช่น การปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมทางไซเบอร์ข้ามชาติดังที่ท่านนายกฯ
ได้แถลงในวันนี้
นอกจากนี้
รัฐบาลควรเร่งสืบสวนสอบสวนและเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนายลิม กิมยา
นักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชา ในใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ผมเชื่อว่า
การดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังจะส่งผลดีต่อการคลี่คลายสถานการณ์ไทย-กัมพูชา
รวมทั้งจะส่งผลดีต่อตัวท่านนายกฯ
เองที่ถูกมองได้ว่ามีส่วนรู้เห็นให้ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในกัมพูชาสามารถกระทำผิดกฎหมายในไทยได้
ซึ่งเท่ากับเป็นการปล่อยให้ผู้นำต่างชาติละเมิดกระบวนการยุติธรรมและอธิปไตยของประเทศ