วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2568

เครือข่ายแรงงานพรรคประชาชนจัดรวมพลสมาชิกสัมพันธ์ “ษัษฐรัมย์” สรุปผลงานทีมประกันสังคมก้าวหน้า ขยาย-ปกป้องประโยชน์ผู้ประกันตนสำเร็จหลายเรื่อง “ธนาธร” บรรยายสถานการณ์ภาคยานยนต์ไทย ชี้ไทยเสี่ยงปรับตัวเป็นอีวีไม่ทัน แม้ระยะสั้นยังมั่นคง แต่ระยะยาวกระทบหนักแน่

 


เครือข่ายแรงงานพรรคประชาชนจัดรวมพลสมาชิกสัมพันธ์ “ษัษฐรัมย์” สรุปผลงานทีมประกันสังคมก้าวหน้า ขยาย-ปกป้องประโยชน์ผู้ประกันตนสำเร็จหลายเรื่อง “ธนาธร” บรรยายสถานการณ์ภาคยานยนต์ไทย ชี้ไทยเสี่ยงปรับตัวเป็นอีวีไม่ทัน แม้ระยะสั้นยังมั่นคง แต่ระยะยาวกระทบหนักแน่


วันที่ 29 มิถุนายน 2568 ที่สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคประชาชนจัดกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานในปัจจุบัน โดยภายในงานมีการบรรยายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในระบบประกันสังคม โดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนในคณะกรรมการประกันสังคม ทีมประกันสังคมก้าวหน้า และการบรรยายเกี่ยวกับทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในปัจจุบัน โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า


โดยในส่วนของษัษฐรัมย์ ได้บรรยายถึงสถานการณ์ในระบบประกันสังคม โดยระบุว่าในช่วงเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาหลังทีมประกันสังคมก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งเข้าสู่การทำงานในเดือนมีนาคม 2567 เป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน อาจไม่ได้มีอำนาจมากมาย แต่พูดได้อย่างเต็มปากว่าเราชนะทั้งทางความคิด วัฒนธรรม และทางการเมือง


กองทุนประกันสังคมมีงบบริหารจัดการ 6,000 ล้านบาท มากกว่าหลายกระทรวงแม้จะมีสถานะเทียบเท่าแค่กรม มีผู้ประกันตนมากกว่า 15 ล้านคน เงินประกันสังคมเข้าจากนายจ้างและผู้ประกันตนราว 80,000 ล้านบาทเท่ากัน สมทบจากรัฐบาลประมาณ 50,000 ล้านบาท ปีหนึ่งมีเงินเข้าประกันสังคมราว 2 แสนล้านบาท จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือ 40% งบประมาณการลงทุนของประกันสังคม 2.7 ล้านล้านบาท โดยกองที่ใหญ่ที่สุดคือกองเงินบำนาญและเงินสวัสดิการเด็กขนาด 2.2 ล้านล้านบาท


ษัษฐรัมย์กล่าวต่อไปว่า การบริหารประกันสังคมไม่ได้ง่าย แต่ยังนับเป็นโชคดีที่ภายในคณะกรรมการฯ 21 คน ฝั่งนายจ้างไม่ได้เป็นเอกภาพ ขณะที่ฝ่ายรัฐและข้าราชการก็มีหลายส่วนที่มีความเห็นสอดคล้องกัน เมื่อฝ่ายผู้ประกันตนกล้ายืนขึ้นทักท้วงในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและยืนยันในสิ่งที่ควรทำ บอร์ดประกันสังคมก็สามารถผลักดันหลายเรื่องให้ประสบความสำเร็จได้ ภายใต้อำนาจที่มีอยู่อย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็น


1) เพิ่มเงินสวัสดิการเด็กแบบถ้วนหน้า จาก 800 บาทเป็น 1,000 บาท ที่ในอดีตต้องใช้เวลาถึง 7 ปีในการเพิ่มแต่ละครั้ง ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ให้เด็ก 1.2 ล้านคน โดยไม่ได้กระทบกับกองทุนแต่อย่างใด


2) เพิ่มเงินประกันการว่างงาน สูงสุดเป็น 9,000 บาท หรือ 60% ของค่าจ้าง มีคนได้ใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ถึง 80,000 คนต่อปี


3) ปรับสูตรบำนาญ ที่เดิมใช้วิธีการคำนวณคือนำเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายนำมาเป็นฐานค่าจ้าง ซึ่งปัจจุบันมีคนเสียประโยชน์จากสูตรบำนาญนี้ขั้นต่ำ 4 แสนคน เปลี่ยนมาเป็นการใช้สูตรคำนวณเงินเดือนตลอดอายุ นำเงินในอดีตมาปรับตามเงินเฟ้อ โดยจะมีมาตรการเปลี่ยนผ่านในช่วงการเยียวยาอีก 5 ปี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 และมาตรา 39 ได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้น 4-6 แสนคนในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ขณะนี้อยู่ในระดับอนุกรรมการ เตรียมเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์แล้ว


4) ลดค่าใช้จ่ายบริหารสำนักงานลง 10% จาก 6,000 ล้านบาท ทั้งค่าใช้จ่ายด้านไอที การดูงานต่างประเทศ และงบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกันตน


5) เพิ่มผลตอบแทนการลงทุนเป็น 70,000 ล้านบาทต่อปี ป้องกันการลงทุนที่ผิดพลาดมูลค่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะขยายอายุกองทุนไปได้อีก 5 ปีจากการคำนวณเบื้องต้น เนื่องจากงบประมาณของประกันสังคมจำนวนมากอยู่ในอำนาจการพิจารณาของอนุกรรมการชุดต่างๆ ทำให้ทีมประกันสังคมก้าวหน้าตัดสินใจเข้าไปเป็นอนุกรรมการในชุดต่างๆ แม้จะไม่ได้เป็นประธานแต่ก็มีบทบาทในการต่อสู้และตรวจสอบอย่างเต็มที่ จนสามารถขัดขวางการลงทุนที่ผิดพลาดได้หลายรายการ และยังคงเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายงานการประชุมของอนุกรรมการทุกชุด


ษัษฐรัมย์กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวออกมาบ่อยครั้งว่ากองทุนประกันสังคมกำลังจะเงินหมด จะล้มละลาย มีการคำนวณว่าอีก 27 ปี หรือหลังปี 2585 ถ้าโครงสร้างประชากรไม่มีการเปลี่ยนแปลง เด็กเกิดไม่มากขึ้น อัตราการสมทบเท่าเดิม กองทุนประกันสังคมจะต้องใช้เงินสำรอง และเมื่อใช้เงินสำรองก็หมายความว่าจะมีเงินเหลือไปใช้ในการลงทุนน้อยลง จนกระทั่งราวปี 2599 เงินจะหมด 


แต่ตนต้องเรียนว่าการบริหารเงินบำนาญประกันสังคมด้านหนึ่งไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นความท้าทายที่ต้องจัดการ มันไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร ถ้าสามารถสร้างผลตอบแทน มีการลงทุนที่ได้รับกำไรเพิ่มเติม จะสามารถขยายอายุออกไปได้อีก 5 ปี เหมือนที่เราทำสำเร็จมา แต่ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม เช่น การตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ขยายสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนเกิดความไว้ใจสมทบต่อเนื่อง ขยายเพดานการสมทบจากรัฐบาลให้มีความเท่าเทียมกัน หากรวมกับมาตรการอื่นๆ ได้ ก็จะสามารถขยายอายุกองทุนออกไปได้อีกถึง 20 ปี แต่นี่คืออำนาจของผู้บริหารที่ต้องเข้ามาจัดการในส่วนนี้ เช่น การปรับสูตรบำนาญ แม้ในระยะสั้นดูเหมือนต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ในระยะยาวจะทำให้คนรุ่นถัดไปมีโอกาสได้ใช้สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมอย่างเต็มที่


“แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ แต่มันเป็นก้าวเล็กๆ ที่เปลี่ยนชีวิตคนมหาศาล และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าประกันสังคมก้าวหน้าคือก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการ อุดมคติและความเป็นจริงไปด้วยกันได้” ษัษฐรัมย์กล่าว


ในส่วนของธนาธรที่ร่วมบรรยายถึงสถานการณ์ของภาคยานยนต์ ระบุว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มที่สำคัญคือการเข้ามาของยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับทั่วโลก ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2557 สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้ามีเพียง 0.4% ของการผลิตรถยนต์ทั่วโลก ปี 2562 เพิ่มเป็น 1% ปี 2563 เพิ่มเป็น 3% และปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 19% การเติบโตของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในอัตราที่เร็วมาก 


ที่สำคัญคือสัดส่วนของผู้ประกอบการจีนเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 2557 มาเป็น 33% ในปี 2567 และหากดูเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า 3 บริษัทที่ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกมากที่สุดคือ เทสลา โฟล์คสวาเกน และบีวายดี อีกทั้งจะเห็นได้ว่าบริษัทที่ครองส่วนแบ่งมากที่สุดในโลกมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ จากเดิมที่เป็นเทสลา วันนี้มาเป็นบีวายดีครองส่วนแบ่งมากที่สุดในโลกแล้ว


ธนาธรกล่าวต่อไปว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในวันนี้ถึงจุดที่อิ่มตัวแล้ว ไม่น่าจะกลับไปสู่การผลิตในยุครุ่งโรจน์ได้ การรักษาระดับให้ได้ปีละ 1.8-2 ล้านคันใน 10 ปีข้างหน้าจะเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เคยเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยจะไม่สามารถเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจได้อีกแล้ว จะไม่มีการลงทุนใหญ่เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต การลงทุนในอนาคตจะมีเพียงการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรที่หมดอายุการใช้งาน และจะไม่มีการจ้างงานใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในอนาคตมีแต่จะทรงตัวและค่อยๆ ลดลง


ปัจจัยที่มีผลมากในระยะยาว คือตราบใดที่การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยปรับห่วงโซ่อุปทานไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ทัน โอกาสที่จะได้ส่งออกเพิ่มขึ้นก็จะไม่เกิดขึ้น ขณะที่การบริโภคภายในไม่มีทางเพิ่มขึ้นและมีแต่จะลดลง จากอัตราประชากรเกิดใหม่ที่น้อยลงและอัตราการเสียชีวิตของประชากรที่สูงขึ้นในอัตราเร่งที่น่ากังวลใจมาก


ธนาธรกล่าวต่อไปว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้วรัฐบาลออกนโยบายมาชุดหนึ่ง เพื่อหวังให้มีการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า คือนโยบาย 30/30 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยต้องมีสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเป็น 30% ภายในปี 2030 โดยวิธีการคือรัฐบาลให้เงินสนับสนุนบริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 1 แสนบาทต่อคัน หรือหากนำเข้าก็ต้องผลิตคืนในประเทศ


สิ่งที่เกิดขึ้นคือบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีนเข้ามาผลิตในประเทศไทยกันจำนวนมาก แต่เมื่อได้เงินสนับสนุนไปแล้วกำลังซื้อของคนไทยลดลง หนี้ครัวเรือนสูง เกิดการแข่งขันตัดราคาจนบริษัทขาดสภาพคล่อง บริษัทผลิตคืนไม่ได้ ก็เท่ากับบริษัทกำลังจะได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลไปฟรีๆ อย่างในกรณีของบริษัทเนต้า (NETA) ที่ล้มละลายไป เอาเงินจากรัฐไปแล้วอย่างน้อย 2,600 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้รัฐบาลก็คงไม่ได้เงินคืนแล้ว และผู้บริโภคก็คงต้องรับกรรมไป


ธนาธรกล่าวต่อไปว่า ปัญหาคือบริษัทจีนหลายบริษัทที่รับปากว่าจะผลิตในประเทศไทยเป็นการซื้อที่ดินเข้ามาตั้งโรงงานเฉยๆ อุปกรณ์วัสดุก่อสร้างมาจากจีน บริษัทก่อสร้างมาจากจีน ชิ้นส่วนทั้งหมดก็มาจากจีน โรงงานหนึ่งเกิดการจ้างงานคนไทยไม่น่าเกิน 300-500 คน ที่สำคัญคือมาเบียดบังส่วนแบ่งการตลาดของผู้ประกอบการเดิมด้วย แนวโน้มนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก หลายผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน การแข่งขันด้านราคารุนแรงจากบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจีน จนบริษัทรถยนต์ระดับโลกเกิดปัญหาเต็มไปหมด


ทั้งหมดจะนำมาสู่การปรับตัวที่เยอะมากในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย แม้จะไม่โตแต่ก็จะไม่ลดลงอย่างมีนัยยะในเร็ววัน เพราะอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปอย่างไรก็จะไม่หมดลงไปในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า แต่ในระยะ 10 ปีน่าจะเริ่มเห็นผลแล้วถ้าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไม่ทัน แนวโน้มหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากคือการเสนอให้มีการพูดคุยกับบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ให้ย้ายฐานการผลิตเครื่องยนต์สันดาปมาอยู่ในเมืองไทย เป็นทางออกให้อุตสาหกรรมยานยนต์ตายช้าๆ แต่อยู่ยาวๆ


ธนาธรกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยส่งเสริมหรือผลักดันให้บริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาผลิตในประเทศไทยเลย บริษัทจีนที่เข้ามาก็ไม่มีบริษัทไหนที่เอาเทคโนโลยีต้นทางเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ ระบบควบคุม อุปกรณ์หลักๆ ไม่มีส่วนไหนที่ผลิตในประเทศเลย


โดยสรุปแล้วอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูงมาก แต่ไม่ใช่ระยะใกล้ เพราะอุตสาหกรรมยายยนต์ไม่สามารถย้ายฐานการผลิตแบบทันทีได้ ใน 2-3 ปีข้างหน้าสถานะของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะยังมั่นคง ไม่ขึ้นหรือลงอย่างหวือหวา แต่หลังจากนั้น 5 ปีขึ้นไปจะมีแต่แนวโน้มที่ลดลง


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประกันสังคมก้าวหน้า