วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2568

'ทนายแจม' ยก 3 ประเด็นนิรโทษกรรมและความจำเป็นที่ต้องรวมม.112 ชี้หากไม่รวม จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไร้ทางออก จี้เพื่อไทยแสดงความกล้าหาญ-จริงใจ นำพาสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช้วิธีส่งสัญญาณ "ตีกรอบ" ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังจะเข้าพิจารณาในสภาฯ


'ทนายแจม' ยก 3 ประเด็นนิรโทษกรรมและความจำเป็นที่ต้องรวมม.112 ชี้หากไม่รวม จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไร้ทางออก จี้เพื่อไทยแสดงความกล้าหาญ-จริงใจ นำพาสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช้วิธีส่งสัญญาณ "ตีกรอบ" ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังจะเข้าพิจารณาในสภาฯ


วันนี้ (29 มิถุนายน 2568) ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน โพสข้อความ ระบุว่า 3 ประเด็นข้อคิดเห็นในฐานะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ. นิรโทษกรรมและความจำเป็นที่จะต้องรวมคดีมาตรา 112


จากกรณีที่คุณ วิสุทธ์ ไชยอรุณ ประธานวิปรัฐบาลและสส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์​กับสื่อมวลชนในประเด็นที่สภาผู้แทนราษฎรเตรียมจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในลำดับต้นทันทีที่เปิดสมัยประชุมว่า “ทุกฉบับจะต้องไม่มีเรื่องมาตรา112”


แจมในฐานะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ขอยืนยันจุดยืนในฐานะกรรมาธิการสัดส่วนพรรคประชาชน และขอย้ำกับรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยว่าการตัดคดีมาตรา112 ออกจากร่างนิรโทษกรรม ไม่สอดคล้องกับหลักความสมานฉันท์ปรองดองและเจตนารมณ์หลักของการนิรโทษกรรม


ขอชี้แจงความเห็นของดิฉันต่อเรื่องนี้ จำนวน 3 ประเด็น ดังนี้:


[ ประเด็นที่ 1 : คดีมาตรา 112 มีจำนวนมาก และสะท้อนลักษณะของคดีการเมืองอย่างชัดเจน ]

ข้อมูลจากเอกสารในชั้นกรรมาธิการระบุว่า คดีตามมาตรา 112 มีจำนวนมากกว่าหลักร้อย แต่เป็น “หลักพันคดี” และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแกนนำหรือนักกิจกรรมการเมือง หากแต่รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีเครือข่าย และไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม


ที่สำคัญคือ มีคดีจำนวนไม่น้อยที่สิ้นสุดด้วยคำพิพากษายกฟ้อง และผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งสะท้อนถึง ปัญหาการตีความกฎหมายที่กว้างเกินสมควรทำให้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือได้ง่าย และการบังคับใช้ที่อาจละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างร้ายแรง


หากรัฐบาลยังไม่สามารถให้ทางออกกับคดีมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปเหล่านี้ได้ ก็เท่ากับปิดโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผู้คนจำนวนมาก และ ทำให้สังคมไม่อาจก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองไปได้อย่างแท้จริง


ดิฉันจึงเห็นว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสครั้งนี้ในการ เรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชน และขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

เพราะหากจะมีสิ่งใดที่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในช่วงเวลานี้ได้ นั่นคือ “ความกล้าหาญในการนิรโทษกรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”


[ ประเด็นที่ 2: หากนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีมาตรา 112 จะยิ่งทำให้รัฐบาลไม่สามารถหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองได้เลย ]

การนิรโทษกรรม คือเครื่องมือทางกฎหมายที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลในขณะนั้นใช้เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและให้สังคมได้ก้าวข้ามบาดแผลทางการเมือง


หากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่จะมีขึ้นนี้ถูกออกแบบให้ เว้น คดีมาตรา 112 โดยเฉพาะ

ทั้งที่คดีมาตรา 112 คือแกนกลางของข้อเรียกร้องทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน


หากรัฐบาลเลือกใช้เครื่องมือนิรโทษกรรมเพื่อคลี่คลายปัญหา แต่กลับเว้น “หัวใจของข้อขัดแย้ง” เอาไว้ ก็เท่ากับปฏิเสธโอกาสในการสร้างความไว้วางใจจากประชาชนและกำลังเดินหน้าทำการเมืองด้วยการเลือกปฏิบัติ


รัฐบาลจะไม่สามารถอ้างถึง “การก้าวข้ามความขัดแย้ง” ได้เลย หากยังเลือกปฏิบัติกับคดีมาตรา112 ที่สะท้อนความขัดแย้งทางการเมืองมากที่สุด


[ ประเด็นที่3 : พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล ต้องมีความกล้าหาญและจริงใจในการนำพาสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้อง และไม่ควรใช้วิธีส่งสัญญาณ “ตีกรอบ” ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณา ]


ดิฉันเชื่อว่า ในห้วงเวลานี้ สิ่งที่สังคมไทยต้องการไม่ใช่เพียง “การผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแบบไร้เงื่อนไขคดี” แต่คือ “ความจริงใจทางการเมือง” ในการหาทางออกจากความขัดแย้งจริงๆ


ท้ายที่สุดแล้ว หากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่รวมคดีมาตรา 112 สังคมจะยังเดินต่อบนความขัดแย้ง และสนามการเมืองต่อจากนี้จะถูกมองว่าการสลายขั้วการเมืองเป็นการพยายามรักษาอำนาจของชนชั้นนำซึ่งฮั้วกันอยู่เพื่อการแบ่งผลประโยชน์เท่านั้น ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ


ดิฉันเห็นด้วยกับหลักการของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งรวมคดีตามมาตรา 112 เข้าไว้ด้วย และขอเน้นย้ำว่า การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้านหรือภาคประชาชนแต่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเช่นกันที่จะต้องแสดงให้ประชาชนเห็นถึง เจตนารมณ์ทางการเมืองที่แท้จริงของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาล เพื่อนำพาประเทศก้าวผ่านความขัดแย้งต่อไป

 

#UDDnew #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชนทุกคดี #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม #นิรโทษกรรมประชาชน #ทนายแจมศศินันท์ #พรรคประชาชน