วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2568

บทกวีจากบางขวาง ‘ขุนแผน’ ผู้ต้องขัง ม.112 เขียน “ยังเหน็บหนาวมีบ้างอยู่ข้างใน ยังยิ่งใหญ่ยืนหยัดในศรัทธา” บอก ยังเชื่อเสมอประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ และจะได้รับประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 


บทกวีจากบางขวาง ‘ขุนแผน’ ผู้ต้องขัง ม.112 เขียน “ยังเหน็บหนาวมีบ้างอยู่ข้างใน ยังยิ่งใหญ่ยืนหยัดในศรัทธา” บอก ยังเชื่อเสมอประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ และจะได้รับประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


วันนี้ (26 มิ.ย. 68) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2568 ทนายความได้เข้าเยี่ยม เชน ชีวอบัญชา หรือ “ขุนแผน” นักกิจกรรมและผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 วัย 58 ปี ที่ยังคงถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำกลางบางขวาง มาตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมปี 2567 ซึ่งก็เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้ว


การเจอกันครั้งนี้ ขุนแผนยังคงมีสุขภาพจิตที่แข็งแกร่ง แม้ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากการถูกคุมขัง เขาพบว่าสายตาตัวเองสั้นลงและเริ่มมีอาการต้อเกิดขึ้น ร่างกายสั่นเป็นช่วง ๆ ทำให้รู้สึกก่อกวนใจมากกว่าความเจ็บปวดทางกาย การรักษาพยาบาลในเรือนจำดำเนินไปอย่างล่าช้า แต่เขายังคงจับตาดูสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวจากภาคประชาชน ด้วยเชื่อเสมอว่าสักวันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้


“ยังสบายดี” คำพูดประโยคแรกจากขุนแผน แม้จะต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย 


เรื่องราวของปัญหาสายตาเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกที่เขาถูกย้ายมายังเรือนจำกลางบางขวาง และได้ตรวจวัดสายตา ทำให้เขาทราบว่าสายตาตัวเองสั้นลงและอาการต้อที่เริ่มก่อตัว แพทย์ในเรือนจำได้สังเกตเห็นอาการดังกล่าว แต่กระบวนการรักษาพยาบาลดำเนินไปอย่างช้า ๆ  


“การรักษาพยาบาลของทางเรือนจำค่อนข้างล่าช้า และใช้เวลาเป็นเดือน” อาการสั่นที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเขาจากปัญหาเส้นเลือดในสมองตีบก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาทางกายภาพ แต่เป็นการทดสอบทางจิตใจที่ลึกซึ้งกว่า “ร่างกายผมมันจะสั่นตลอด แต่อาการสั่นก็เป็น ๆ หาย ๆ มันสร้างความก่อกวนภายในจิตใจมากกว่า”


เมื่อได้รับข่าวการเสียชีวิตของพลเอกสุจินดา คราประยูร หนึ่งในผู้นำคณะรัฐประหารยุคคณะความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) และกลายมาเป็นนายรัฐมนตรีภายหลัง ความทรงจำในอดีตก็ถาโถมเข้ามา “ผมจำได้ว่าในปีที่เกิดเหตุตอนนั้น (พฤษภา 2535) บริษัทผมหยุดงานประมาณ 2-3 วันเลยครับ” 


ก่อนขุนแผนย้อนภาพความทรงจำที่เขาเล่าให้ฟังเปรียบ “ผมเห็นคราบเลือด เศษผ้า กระดาษต่าง ๆ เต็มถนนไปหมด มองดูก็ให้ความรู้สึกที่หดหู่มาก” 


แม้จะอยู่เบื้องหลังกำแพงสูง แต่ขุนแผนยังพยายามติดตามสถานการณ์การเมืองอยู่ตลอด สำหรับเขา รัฐบาลปัจจุบันทำให้ความน่าเชื่อถือของตนเองลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการให้คำสัญญาก่อนเลือกตั้งแล้วกลับเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของประชาชนหลังได้ตำแหน่ง 


“แม้ผมจะไม่ได้คาดหวังว่านิรโทษกรรมจะมีการพูดคุยเร็ว ๆ นี้จริงหรือไม่ แต่สำหรับผู้ต้องขังอื่นนั้นเขายังคงเชื่อมั่นว่าจะมีการพูดคุยจริงไง อย่ามาทำเป็นให้ความหวังแก่เขา”


ในช่วงท้ายของการพบกัน เขาได้มอบบทกวีที่เขาใช้เวลา 2-3 วัน ในการคิดขัดเกลา และอยากส่งต่อเนื้อหาออกมาให้โลกภายนอก


ยังแลเห็นเส้นชัยไม่เคยท้อ

ยังก้าวต่อเพื่อวันที่ฝันใฝ่

ยังเหน็บหนาวมีบ้างอยู่ข้างใน

ยังยิ่งใหญ่ยืนหยัดในศรัทธา


จะดีร้ายทางนี้ที่เลือกแล้ว

จะแน่แน่วตัวตนเพื่อค้นหา

การล้มลุกสุขโศกบางเวลา

จะก้าวข้ามโชคชะตาเพื่อคว้าชัย


“ผมยังเชื่อเสมอนะครับว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ และจะได้รับประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” คำพูดสุดท้ายที่ขุนแผนฝากไว้ก่อนลาจากครั้งนี้ 



สำหรับ “เชน” สื่ออิสระ ที่ร่วมเผยแพร่ภาพสดกิจกรรมการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เยาวชน นักศึกษา ตลอดจนกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองอื่น ๆ มาตั้งแต่ปี 2563 ผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก และช่องยูทูบ “ขุนแผน แสนสะท้าน” โดยก่อนที่จะถูกคุมขังด้วยคำพิพากษาครั้งนี้และไม่ได้รับการประกันตัว เชนและเพื่อนมวลชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรม #ยืนหยุดขัง ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในเวลาประมาณ 16.00 - 20.00 น. ของทุกวัน เพื่อเรียกร้องปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง รวมถึงส่งเสียงข้อเรียกร้องของบุ้ง เนติพร ก่อนเสียชีวิต คือ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม


ทั้งนี้ขุนแผนหรือเชน ได้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯตั้งแต่วันศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ในคดีมาตรา112 และดูหมิ่นศาล โดยถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน จากการร่วมกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัวสองนักกิจกรรมทะลุวังที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้


และทุกวันนี้กลุ่มเพื่อนขุนแผนและมวลชนยังจัดกิจกรรมยืนหยุดขัง อย่างต่อเนื่องทุกวันในช่วงเย็น เรียกร้องสิทธิประกันตัวประชาชน ปล่อยนักโทษการเมืองในทุกเย็น ทั้งหน้าศาลอาญารัชดา และหน้าเรือนจำคลองเปรม ด้วย

 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ขุนแผนแสนสะท้าน #มาตรา112 #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน