วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2568

ทนายแจม ศศินันท์ โพสต์ กระบวนการยุติธรรมต้องเปิดเผยและเป็นธรรม ยกกรณีพิพากษา อานนท์ นำภา และฮิวโก้ จิรฐิตา วานนี้ (25 มิ.ย.) - เรียกร้องผู้มีอำนาจกลับสู่หลักนิติธรรมอย่างจริงใจ เดินหน้า “นิรโทษกรรมประชาชน” อย่างเป็นรูปธรรมตามที่รัฐบาลเคยรับปาก

 


ทนายแจม ศศินันท์ โพสต์ กระบวนการยุติธรรมต้องเปิดเผยและเป็นธรรม ยกกรณีพิพากษา อานนท์ นำภา และฮิวโก้ จิรฐิตา วานนี้ (25 มิ.ย.) - เรียกร้องผู้มีอำนาจกลับสู่หลักนิติธรรมอย่างจริงใจ เดินหน้า “นิรโทษกรรมประชาชน” อย่างเป็นรูปธรรมตามที่รัฐบาลเคยรับปาก


วันนี้ (26 มิถุนายน 2568) น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน โพสต์ข้อความระบุว่า เมื่อวานนี้ (25 มิ.ย. 68) ศาลอาญารัชดาได้นัดอ่านคำพิพากษาคดี #อานนท์นำภา ในคดีมาตรา112 และ ฮิวโก้ จิรฐิตา ในคดี พ.ร.ก ฉุกเฉิน จากเหตุการณ์ในวันเดียวกัน #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว มีเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในขั้นตอนการอ่านคำพิพากษาซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดต่อหลักสิทธิในเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมของประชาชน


เหตุการณ์ที่เกิดขี้น


เมื่อเวลา 10.30 น. ศาลให้นำตัวอานนท์และจำเลยอีกคนมาตัดสินที่ห้องพิจารณาคดี และให้ประชาชนออกจากห้องทั้งหมด อนุญาตให้เฉพาะทนายและญาติของจำเลยไม่เกิน 6 คน เข้านั่งฟังการตัดสินคดีได้


ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ศาลจะสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับได้เฉพาะเมื่อเป็นไปเพื่อ “ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือป้องกันความลับด้านความมั่นคงของประเทศ” แม้จะให้อำนาจดุลพินิจแก่ผู้พิพากษา แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ ควรใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวัง ตั้งอยู่ในหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน และโปร่งใส เพื่อมิให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัย จนทำให้เกิดการตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งอาจจะนำไปสู่บรรยากาศทางการเมืองภายในที่คุกรุ่นได้


การที่ศาลไม่ได้มีคำสั่งที่ชัดเจนและเปิดเผยว่า “เพราะอะไรจึงปิดห้องพิจารณา” โดยไม่มีคำอธิบายให้ประชาชนว่าทำไมจึงไม่สามารถอยู่ฟังการ“อ่านคำพิพากษา” ได้


ปัญหาจึงไม่ใช่แค่ปิดห้องพิจารณาคดีลับ แต่คือวิธีการใช้ดุลยพินิจในการใช้กฎหมาย


หลักการ fair trial คือหลักการสำคัญที่ผู้พิพากษาควรยึดถือในการพิจารณาคดี แต่กลับมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขี้นในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพ


ดังนั้น สิ่งที่น่ากังวลจากเหตุการณ์นี้ จึงไม่ใช่เพียงการเปิดพิจารณาคดีลับโดยไม่มีคำสั่งชัดเจนเปิดเผยของศาล แต่คือคำถามสำคัญว่า ”ศาลใช้ดุลยพินิจอย่างไร“


และตีความกฎหมายอย่างไรในการจำกัดสิทธิประชาชนในการเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี


และหากการพิจารณาคดีการเมืองต่อจากนี้ ถูกปิดกั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควรและศาลไม่ชี้แจงเหตุผล สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส แต่เป็นการใช้อำนาจที่อาจละเมิดต่อหลักความเป็นธรรมของประชาชนโดยตรง


ผู้พิพากษาคือบุคคลที่ควรปกป้องหลักการนี้ไว้ในทุกคดียิ่งเมื่อเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพของประชาชน ยิ่งต้องเคร่งครัด ไม่ใช่เป็นฝ่ายละเมิดเสียเอง


ดิฉันขอเรียกร้องมิใช่แค่ในฐานะของนักกฎหมายที่ยังคงมีความเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมของเราจะกลับมาทำให้ประชาชนเชื่อมั่นอีกครั้ง แต่ในฐานะผู้แทนประชาชนที่สะท้อนเสียงเรียกร้องของประชาชนไปยังผู้มีอำนาจให้รัฐบาลหยุดเพิกเฉยต่อความคุกรุ่นทางการเมืองกลับเข้าสู่หลักนิติธรรมอย่างจริงใจและเดินหน้า “นิรโทษกรรมประชาชน” อย่างเป็นรูปธรรมตามที่รัฐบาลได้เคยรับปากเอาไว้ค่ะ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม #นิรโทษกรรมประชาชน #ทนายแจมศศินันท์ #พรรคประชาชน