ธิดา
ถาวรเศรษฐ : ปัญญาชนไทยรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
เมื่อวันที่
24 พ.ค. 64 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้มาพบท่านแฟนเพจอีกครั้งผ่านการทำเฟซบุ๊กไลฟ์
ซึ่งก่อนเข้าสู่ประเด็น อ.ธิดาได้กล่าวว่า
เป็นที่น่าเสียดายที่ในวันที่
19 พ.ค. ที่ผ่านมา เราไม่สามารถจัดงานทำบุญในที่สาธารณะได้ จึงได้จัดงานเล็ก ๆ
ที่ยูดีดีนิวส์ ดังนั้นเป็นไปได้ที่จะมีการรวบรวมคำพูดปราศรัยและการจัดงานรำลึกในวันที่
10 เม.ย. และ 19 พ.ค. นี้มาออกออนไลน์อีกครั้งหนึ่ง เพราะอุปสรรคของปีนี้ทำให้เรายังจัดงานรำลึก
11 ปี ของการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของฝ่ายประชาชน
ยังไม่สามารถทำได้อย่างที่ใจเราคิด แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด ก็ขอให้ติดตาม
จากนั้น
อ.ธิดาเข้าสู่ประเด็นที่จะพูด คือนอกจากจะมีวาระ 11 ปี เมษา-พฤษภา ก็ยังมีวาระของ
7 ปี การทำรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ ดังนั้นก็มีคนออกมาพูดสองเรื่องนี้มากมาย
ดิฉันก็ขอพูดสั้น ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารก่อนก็คือว่า ในขณะนี้รัฐบาลปัจจุบันที่อยู่มา
7 ปี และกำลังจะเข้าปีที่ 8 ก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กำลังวัดรอยเท้าทหารเก่าอยู่ 2 ท่าน คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล ถนอม
กิตติขจร
จอมพล ป. พิบูลสงคราม รอบแรกเป็นนายกฯ 6 ปี รอบหลังอีก 10 ปี กว่า ส่วนจอมพล ถนอม ก็ 10 ปี อีก 5-6 เดือน
ดิฉันพูดสั้น
ๆ ว่า จอมพล ป. สิ้นสุดเพราะมีการทำรัฐประหารแล้วก็ต้องออกจากประเทศไป ส่วนจอมพล
ถนอม นั้นต้องออกนอกประเทศ แม้หลังจากนั้นจะได้กลับมาแต่ก็หมดบทบาททางการเมืองไปแล้ว
ของจอมพล ถนอม ครั้งนั้นก็เกิดจากขบวนการลุกขึ้นของประชาชน ก็อาจจะเรียกว่า Uprising
ในภาษาอังกฤษก็ได้ ลุกขึ้นมาต่อสู้และขับไล่ เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ
เพราะฉะนั้น
จุดจบของนายทหารใหญ่ 2 คนนี้
1)
ทำรัฐประหารรอบใหม่
2)
ขบวนการประชาชนลุกขึ้นมาจัดการขับไล่
พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกวัดรอยเท้าแบบไหน?
ส่วนของ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ได้มาด้วยการทำรัฐประหาร แต่ท่านจบ 2 วาระของนายกฯ คือ 8
ปี ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์และคณะว่าจะเอาอย่างไร?
สำหรับวันนี้ประเด็นที่ดิฉันจะพูดก็คือ
“ปัญญาชนไทยรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”
อย่างไรก็ตาม
สำหรับเรา สำหรับคนเสื้อแดง สำหรับนปช. ไม่สนับสนุนการทำรัฐประหารแน่นอน! และไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจแน่นอน!
สิ่งที่เรามุ่งหวังดังที่ได้พูดไว้แล้ว
เป้าหมายของเราก็คือการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ประเทศนี้อำนาจการเมืองการปกครองให้มาอยู่ในมือของประชาชน
เรายินดีที่รูปแบบการเมืองการปกครองจะเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
แต่ระบอบประชาธิปไตยที่เราพูดถึงนี้ อำนาจจะต้องเป็นของประชาชน
เพราะนั่นคือชื่อ
“ประชาธิปไตย” แปลว่า “อธิปไตยเป็นของประชาชน”
ถ้าเป็น
“ราชาธิปไตย” ก็คือ “อธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์”
ในเมื่อตกลงกันว่าเป็น
“ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จริง ๆ
มันไม่ต้องเขียนต่อว่าอำนาจเป็นของประชาชน เพราะชื่อมันบอกชัด แต่ในเมื่อประเทศไทยมันเป็นการแสดง
เป็นการเล่นละคร ไม่ใช่เรื่องจริง เหมือนติดป้ายบอกว่าเป็นร้านขายคอมพิวเตอร์
แต่ว่าข้างในมันไม่ใช่ ในนั้นเป็นเรื่องของการพนันออนไลน์ทั้งหมด
ยกตัวอย่างเป็นต้น เราต้องการของจริง ที่เป็นระบอบประชาธิปไตยจริง ๆ
คืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
แต่ด้วยสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาโดยตลอด
นั่นก็คือ เรามีพัฒนาการมาจากราชาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่
แต่เมื่อมันเป็นประชาธิปไตย เราเถียงไม่ได้ อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน!
เพราะฉะนั้นเมื่อเรายืนหยัดตรงจุดนี้
สิ่งที่ต้องเป็นไปตามหลักทฤษฎีก็คือว่า กองหน้าและกองสำคัญในการต่อสู้ให้ได้ระบอบประชาธิปไตยต้องเป็น
“ชนชั้นกลางและปัญญาชน”
แต่ในการปฏิวัติสังคมนิยมหรือในการปฏิวัติที่เปลี่ยนแปลงโดยพรรคคอมมิวนิสต์
อันนั้นทำโดยพรรคปฏิวัติ โดยชนชั้นที่เป็นชนชั้นปฏิวัติเป็นกองหน้า
แต่ในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นแบบปกติทั่วโลก
ปัญญาชน ชนชั้นกลางโดยทั่วไปจะเป็นกองหน้า และกองกำลังหลักที่สำคัญก็จะเป็นชนชั้นกลางล่าง
มวลชนพื้นฐาน
อย่างไรก็ตามระบอบประชาธิปไตยนั้น
ผู้ที่จะมาร่วมมันมีทุกชนชั้น เพราะว่าไปมันก็ยังไม่ใช่เป็นการทำลายชนชั้นจริง
เป็นแต่เพียงว่ายกระดับให้อำนาจทางการเมืองการปกครองเป็นของคนส่วนใหญ่
ดังนั้นทุกชนชั้นจะมีส่วนร่วม
แต่กองกำลังสำคัญก็จะเป็นชนชั้นกลาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาชน
เพราะปัญญาชนนั้นต้องการเสรีภาพมากกว่ากลุ่มคนอย่างอื่นทั้งหมด
ทีนี้ที่ดิฉันพูดในวันนี้ก็คือ
ปัญญาชนไทยรุ่นเก่าและรุ่นใหม่
เพราะดิฉันมองเห็นว่านับจากวันนี้ไปและแม้ที่ผ่านมาก็ตาม
ถ้าหากปัญญาชนไทยไม่ได้เข้ามาร่วมอย่างจริงจัง ไม่ได้มาร่วมอย่างเป็นกองหน้า
ทำตัวเป็นคนนั่งดู การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นจะสำเร็จได้ยาก
เหมือนดังสิ่งที่เกิดขึ้นใน 15 ปีที่ผ่านมา นับจากการทำรัฐประหารปี 2549
มาจนถึงปัจจุบัน บทบาทของปัญญาชนนั้นเพิ่งจะมาปรากฏมาก ๆ
ในการต่อสู้ต่อต้านรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตย
มันน่าอนาถ
มันน่าสมเพช มันน่าสงสารประเทศนี้ เพราะในขณะที่มวลชนพื้นฐาน คนส่วนใหญ่ลุกขึ้นมา แต่ปรากฏว่าปัญญาชนเงียบ
ปัญญาชนส่วนหนึ่งไปอยู่กับจารีตนิยมและอำนาจนิยม
แต่ปัญญาชนส่วนหนึ่งอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นกลาง มองว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง
ระหว่างอำนาจต่ออำนาจ ไม่ได้มองว่าเป็นการต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ
และเป็นการทวงประชาธิปไตย ทวงอำนาจให้กับประชาชน มันเป็นคนละมุมมอง
ถ้าเรามาพูดตามชื่อ
ก็คือ ปัญญาชนรุ่นเก่าและปัญญาชนรุ่นใหม่ ดิฉันก็อยากจะพูดว่า จริง ๆ
ปัญญาชนรุ่นเก่า ถ้าเรานับมาตั้งแต่ยุคจอมพล ป. มาจนกระทั่งถึง 2516 ส่วนมากแล้ว
(โดยเฉพาะรุ่น 2516) ต่อต้านเผด็จการทหาร แต่อยู่กับฝ่ายจารีตนิยม ดังนั้นกลุ่ม
2516 จำนวนมากก็ไม่ได้มาอยู่ฟากประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคหลัง อันนี้คือปัญญาชนรุ่นเก่า
แต่ดิฉันก็จะขีดเส้นว่า “เก่า” ในที่นี้ดิฉันจะพูดประมาณเอารุ่น 2516
สำหรับ
2519 แน่นอนว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป กระแสของฝ่ายซ้ายได้เข้ามาในประเทศไทย
และบรรดาประเทศรอบบ้านเราเป็นประเทศที่มีการปฏิวัติ
มีการต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราชคืนมา พร้อมกันนั้นก็เป็นการนำโดยพรรคฝ่ายซ้าย
กระแสนี้ก็เกิดความหวาดกลัวในฝั่งจารีตนิยม ดังนั้นจึงเกิดการปราบปราม
เพราะฉะนั้น
ในกลุ่มปัญญาชนรุ่นเก่า ดิฉันก็คิดว่าอาจจะแบ่งได้เป็นจำนวนหนึ่งว่า
ส่วนข้างมากอาจจะต่อต้านอำนาจนิยม ต่อต้านเผด็จการรัฐประหาร แต่อยู่กับจารีตนิยม
แต่ว่าเมื่อเลยมาในช่วงยุคปี 2550 มันเป็นไปได้หรืออย่างไรที่ปัญญาชนจำนวนมากกลับสนับสนุนการทำรัฐประหาร
ถ้าเราขีดเส้นว่าเป็นเหตุการณ์จากรัฐประหาร
2549 มาจน 2557 ถึงปัจจุบัน ปัญญาชนในรุ่นเก่า ส่วนมากแล้วก็คือนอกจากจะอยู่ข้างจารีตแล้ว
ยังสนับสนุนอำนาจนิยม สนับสนุนการทำรัฐประหารด้วยซ้ำ
ซึ่งเยาวชนรุ่นใหม่ปัจจุบันก็สามารถตรวจสอบได้ และปัจจุบัน ณ
เวลานี้เราก็จะได้เห็นว่า จำนวนมากคือเรียกร้องสนับสนุนการทำรัฐประหารปี 2549
ตามอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) คุณสนธิ ลิ้มทองกุล
ดิฉันก็ถือว่าเป็นปัญญาชน แต่จะบอกว่าเป็นชนชั้นกลางทีเดียวก็ไม่เต็มที่นัก
เพราะว่าคุณสนธิก็เป็นนายทุนเหมือนกัน แต่เป็นนายทุนที่ไม่ใช่ทุนของตัวเอง
ไปเอาทุนของคนอื่นมาจนกระทั่งมีปัญหาที่ถูกกล่าวหาว่ามีการฉ้อโกงในตลาดหลักทรัพย์
เป็นต้น แต่ก็มีความเป็นปัญญาชนอยู่มาก และสามารถที่จะมีทั้งสื่อ
มีทั้งความสามารถในการชักจูง ทำให้ปัญญาชนไทยส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงาม
แต่เนื่องจากปัญญาชนไทยส่วนใหญ่ก็มีลักษณะค่อนข้างจารีตไปแล้ว
คือมองคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นเสือตัวใหม่ตัวร้าย และฝ่ายซ้ายจำนวนมาก
แม้กระทั่งอดีตกรรมการกลางพคท.จำนวนมาก ก็มาเห็นดีเห็นงามกับการที่สนับสนุนให้มีการทำรัฐประหาร
เห็นดีเห็นงามกับข้อเสนอของกลุ่มพธม. และร่วมกันกับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง ๆ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคที่ในอดีตนั้นก็โค่นปรีดี พนมยงค์
และมีรากเหง้ามาจากกลุ่มจารีตนิยมชัดเจน
แต่อะไรที่ทำให้ปัญญาชนไทยสายตาพร่ามัว
แล้วก็มีจุดยืนอยู่กับจารีตนิยม สนับสนุนในการทำรัฐประหาร
นี่จึงเป็นเรื่องของปัญญาชนซึ่งเราอาจจะเรียกว่ารุ่นเก่า แต่ว่าเก่ากว่านั้นก็มี
ซึ่งเคยต่อต้านรัฐประหาร (คือเก่ากว่านั้นนะ ตั้งแต่รุ่น 2516 ไป)
แต่ไม่ต่อต้านจารีตนิยม สนับสนุนจารีตนิยม
มาเป็นทั้งสนับสนุนจารีตนิยมและสนับสนุนการทำรัฐประหาร
อันนี้เป็นพัฒนาการที่เลวลงของปัญญาชนไทย
จนกระทั่ง
แม้มีการทำรัฐประหารรอบใหม่ในปี 2557
ปัญญาชนจำนวนมากก็เห็นดีเห็นงามกับการที่มีรัฐประหารรอบนี้
ไม่ต้องพูดถึงเรื่องกลุ่ม NGO ทั้งหลายซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว
เพราะว่าความเกลียดชังและความหวาดกลัวว่าตัวเองจะถูกกระทบกระเทือนฐานะอำนาจอะไรต่าง
ๆ จะลดลง กระทั่งเป็นปัญญาชน ชนชั้นกลางจะถูกแบ่งผลประโยชน์ไปให้คนจนหรืออย่างไร?
กลายเป็นว่าปัญญาชนเหล่านี้อีกครั้งหนึ่งก็ยังพิสูจน์ว่าสนับสนุนรัฐประหาร
แล้วก็ลอยหน้ามาเป็นวุฒิสมาชิก ก่อนหน้านั้นก็จะอยู่ในองค์กรอะไรต่าง ๆ
ได้ความดีความชอบ อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง
ที่ดิฉันอยากจะพูดก็คือว่า
มา ณ บัดนี้
กลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ซึ่งกำลังพบวิบากกรรมอยู่เป็นจำนวนมากจากการถูกจัดการโดยรัฐบาลชุดนี้
การสืบทอดอำนาจ 7 ปี นอกจากจะจัดการกับกลุ่มแกนนำนปช.ทุกระดับ
คือการทำรัฐประหารครั้งนี้ทำให้บทบาทของนปช.นั้น พูดง่าย ๆ ว่าเกือบจะจบลงไปเลย
แกนนำทุกระดับถูกคุกคาม ถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดี ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดด้วย
ดังนั้น
การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นปี 2553 ซึ่งมันเริ่มดีขึ้นจากปี 2554 มาจนถึงปี 2556 ปี
2554 – 2555 -2556 เรายังแก้ไม่จบ คดีความก็ยังเยอะแยะ
พอมาเจอรัฐประหารใหม่อีกทีหนึ่งก็เท่ากับสถานภาพต่าง ๆ
ที่มันควรจะดีขึ้นก็กลับเลวลง
แล้วก็ทำให้สถานะของนปช.และคนเสื้อแดงอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก
แต่ว่า
7 ปีมานี้ เป็น 7 ปีของการตกต่ำในการต่อสู้ของประชาชนที่เคยต่อสู้มาอย่างยิ่งใหญ่ในอดีต
ในการชุมนุมนับแสน ๆ ทั่วประเทศ
ถามว่ากลุ่มคนเสื้อแดงและนปช.ซึ่งมีปัญญาชนอยู่บ้างจำนวนหนึ่ง
การต่อต้านรัฐประหารมีมั้ย? แน่นอนมีการเดินสายตลอด จนกระทั่งการชุมนุมครั้งสุดท้ายที่อักษะ
ก็มีคนเป็นจำนวนมาก ถามว่าต่อต้านรัฐประหารมั้ย? ต่อต้าน
แต่ดังที่ดิฉันเคยบอกว่า
ลำพังไพร่บ้านนอกกับไพร่ในกรุงนั้นไม่พอ เราต้องการนักวิชาการ ต้องการปัญญาชน
ต้องการชนชั้นกลาง ซึ่งเสียงมันดังกว่าเข้ามาร่วมขบวน คือจะต้องมีแนวรบหลายแนว
ไม่ใช่มีแต่แนวของกลุ่มคนเสื้อแดงและนปช. ซึ่งยากลำบากทั้งเศรษฐกิจ ทั้งคดีความ
ทั้งถูกคุมคาม จับกุมคุมขัง อุ้มฆ่า
โชคดีที่มีการเติบโตของคนรุ่นใหม่
ซึ่งดิฉันก็ยอมรับว่าปัญญาชนส่วนหนึ่ง แม้เขาไม่มาร่วมการต่อสู้กับเรา
แต่เขาได้ทำหน้าที่ของเขาในการเขียนตำรา แน่นอนส่วนหนึ่งก็มาจากวิทยานิพนธ์
จะเป็นกลุ่ม อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาจารย์ณัฐพล ใจจริง, อาจารย์ชาญวิทย์
เกษตรศิริ, อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล, อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เหล่านี้เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนที่สำคัญที่ทำให้ความจริงในประวัติศาสตร์ได้ปรากฎ
และทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ศึกษา ได้เติบโต ได้หาข้อมูล
และดิฉันก็ดีใจที่หลายคนที่เป็นแกนนำทุกวันนี้เป็นคนชอบประวัติศาสตร์
ดิฉันก็ชอบประวัติศาสตร์ ถ้าไม่ได้มีการต่อสู้ตั้งแต่ 14 ตุลา 16
ก็ไม่ได้มาอยู่แบบนี้
ก็คงเป็นนักวิชาการเกี่ยวกับเชื้อโรคและเป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น
แต่สถานการณ์บ้านเมืองทำให้เราต้องมายืนอยู่ ณ ที่นี้
มันจึงเกิดการเติบโตของคนรุ่นใหม่
นี่จึงเป็นความแตกต่าง
คนรุ่นเก่าอยู่กับจารีตและร่วมมือกับจารีตนิยมในการโค่นอำนาจนิยมที่ไปไม่ได้กับจารีต
เมื่อไหร่ฝั่งจารีตนิยมไม่ไว้ใจทหาร เช่น ในยุคจอมพล ป. ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นจอมพล
ป. มีการทำรัฐประหาร จัดการกลุ่มปรีดี พนมยงค์ ออกไปนะ และทำให้กลุ่มจารีตได้เติบโตขึ้นมา
เมื่อไหร่ที่กลุ่มจารีตนิยมไม่พอใจ ก็จัดการอำนาจนิยม โดยได้รับความร่วมมือกับปัญญาชน
ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ในยุคจอมพล ถนอม
ก็เช่นกัน
เพราะฉะนั้น
ความเป็นจารีตนิยม ความเป็นอนุรักษ์นิยมของปัญญาชนไทยที่มากเกินไปนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้า
และนี่คืออุปสรรคขัดขวางพัฒนาการในการต่อสู้ให้ได้ระบอบประชาธิปไตยจริง เพราะคนที่จะต้องเป็นกองหน้า
กลายเป็นหันหลังให้กับการต่อสู้ ไปหนุนรัฐประหารเสียฉิบ! ยกตัวอย่างเช่น
ปี 2549 และปี 2557 นอกจากไม่สู้แล้วยังหนุนช่วยด้วย นี่คือเรื่องเศร้า และดิฉันจะบอกกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศทั้งหมดว่า
ตัวดิฉันในฐานะที่เป็นปัญญาชนและชนชั้นกลาง (โดยทฤษฎีชนชั้น)
เศร้าใจที่คนของเราและกลุ่มเราไม่ได้เป็นกองหน้าในการต่อสู้ให้ได้สิทธิ เสรีภาพ
ความเท่าเทียม และภราดรภาพ จนกระทั่งเด็กต้องออกมาชู 3 นิ้ว
เพราะฉะนั้น
นี่คือความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า
ปัญญาชนรุ่นเก่าจำนวนมากทำลายประชาธิปไตย
แต่คนรุ่นใหม่กำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
และโดยเหตุนี้เมื่อเขาอยู่ในการต่อสู้จริง เขาจะรู้ว่าใครคือมิตร ใครคือศัตรู
เขารู้ได้ทันทีเลยว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
กับการต่อสู้ของเขาทุกวันนี้มันเป็นอันเดียวกันโดยไม่ต้องมีใครบอก!
เมื่อมีการทำรัฐประหาร
มีเยาวชนออกมา มีคนเสื้อแดงออกมา เขาไม่ได้ใส่เสื้อแดง แต่ดูไปก็รู้ว่าพวกที่มีอายุเหล่านี้จะเป็นใครนอกจากคนเสื้อแดงเท่านั้น
เพียงแต่เขาไม่ได้ใส่เสื้อแดง เวลาเยาวชนเหล่านี้ขึ้นศาลและยากลำบาก คนที่มารอ
ดิฉันนั่งรถผ่าน มีแต่คนเสื้อแดงที่มาคอยเฝ้าเป็นห่วง เพราะเราจำหน้าได้ ไม่ต้องมีใครสั่ง
เพราะมันอยู่ในลมหายใจ อยู่ในเลือด อยู่ในความคิด
ดิฉันดีใจและอยากให้กำลังใจปัญญาชนรุ่นใหม่ว่า
พวกคุณได้เกิดใหม่ด้วยตัวของคุณเองในส่วนของปัญญาชน
เพราะปัญญาชนรุ่นเก่านั้นไปผูกพันกับพวกจารีตนิยม ไปมีผลประโยชน์กับจารีตนิยม
กลับมากลัวพวกกลุ่มนายทุนเสรีนิยม
ถ้าเขาเป็นเสรีนิยมเขาจะกลัวทำไม?
แล้วถ้าเขาเป็นผู้ที่รักประชาธิปไตย
เขาจะสนับสนุนให้ทำรัฐประหารทำไม? เพราะมันก็เลือกตั้งไง ถ้าคนชอบก็เลือกเข้ามา
ถ้าคนไม่ชอบก็หลุดไป ก็เท่านั้นเองแบบประเทศอื่น ๆ
นั่นก็แปลว่าเขาไม่ใช่นักประชาธิปไตยจริง เขาไม่ใช่พวกเสรีนิยมจริง เขาเป็นพวกจารีตนิยมต่างหาก
ไม่ต้องการที่จะมีส่วนแบ่งให้กับมวลชนพื้นฐาน
เพราะฉะนั้น
ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ให้ภูมิใจว่าคุณได้เกิดขึ้นและเติบโต
แน่นอนก็มีส่วนหนึ่งได้เก็บรับบทเรียนในอดีต และมีนักวิชาการจำนวนหนึ่ง
สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งซึ่งยืนหยัดนำเสนอเรื่องราวที่เป็นจริง และหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจว่าเบื้องหน้าที่ปรากฎนั้น เบื้องหลังจริง ๆ คืออะไร
และสามารถสลัดหลุดจากจารีตนิยมและผลประโยชน์
แต่อยากจะฝากเอาไว้อย่างหนึ่งก็คือว่า
คนที่เคยก้าวหน้าในสมัย 14 ตุลา 16 ตอนที่เขาเป็นเยาวชน ยังไม่มีผลประโยชน์ อุดมการณ์ก็ดูเต็มที่
แต่หลังจากนั้นเมื่อเขาเข้าสู่ชีวิตของวัยทำงาน
ชีวิตของการที่จะมีผลประโยชน์และต้องมีการเติบโต จำนวนมากเก็เปลี่ยน
ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้
แต่โดยทั่วไปทางภาษาที่เราพูดกันก็คือคนที่เข้าใจแล้ว ตาสว่างแล้ว แม้จะมีอะไรมาปิดตา
แต่มันก็มองเห็นอยู่ในสมอง เพราะว่าสว่างแล้วสว่างเลย (ตามภาษาชาวบ้าน)
ต้องไม่ไปผูกพันกับผลประโยชน์ที่ฝั่งจารีตนิยมหรืออำนาจนิยมนำมาล่อ
แล้วมันก็อาจจะหลุดไปได้แบบคนเสื้อแดงและนปช.จำนวนหนึ่ง
ความเป็นแกนนำจะดำรงอยู่ได้ก็คือจะต้องนำทางอุดมการณ์, นำในการต่อสู้
และได้รับการยอมรับจากมวลชน ถ้าคุณไม่ได้นำด้วยอุดมการณ์คือไม่ได้มีอุดมการณ์จริง
คุณไม่ได้ลงมาร่วมต่อสู้จริง และไม่ได้รับการยอมรับจากมวลชนจริง คุณก็ไม่ใช่แกนนำอีกต่อไป
ส่วนปัญญาชนจำนวนมากก็อย่านั่งทำตัวเป็นผู้ดู หลายคนตาสว่างแล้ว
แต่ยังแสดงตัวเป็นผู้ดูเหมือนคนดูมวย วิพากษ์วิจารณ์ว่ามวยนั้นเป็นอย่างไร
และดิฉันจะฝากเป็นคำสุดท้ายก็คือว่า
ในปัญญาชนไทยบางคนก็ตาสว่าง แต่บางคนก็ไม่ได้มีความผูกพันอะไรกับจารีตนิยม
แต่ยังหวาดกลัวพรรคการเมือง เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักไทย (ในอดีต)
แม้กระทั่งนปช. มาจนถึงปัจจุบัน
ยังมีความรู้สึกว่าถ้าจะมาเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ด้วย จะคล้าย ๆ
กับเดี๋ยวเพื่อนฝูงเขาจะบอกว่ามันเป็นยังไง นี่แปลว่าพวกที่บอกว่าไม่เอารัฐประหารและไม่เอาทักษิณยังดำรงอยู่
โดยที่ความเป็นจริงนั้นไม่ควรยึดติดกับบุคคล
คนเสื้อแดงและนปช.ก้าวข้ามไปหมดแล้ว
ก้าวข้ามพรรค ก้าวข้ามคุณทักษิณ ก้าวข้ามแกนนำ เพราะไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณ
ไม่ว่าจะเป็นแกนนำ ถ้ายังยืนหยัดอุดมการณ์ก็ได้รับการยอมรับ
เพราะฉะนั้นเขาก้าวข้ามบุคคลไปสู่อุดมการณ์ แต่ปัญญาชนจำนวนหนึ่งยังก้าวข้ามไม่พ้น
ก้าวข้ามแกนนำ ก้าวข้ามคุณทักษิณไม่พ้น ดิฉันคิดว่าน่าเสียดาย
เพราะอยากเชิญชวนให้มาเป็นกำลังหลัก สนับสนุนเยาวชน
ไม่ใช่เป็นผู้เฝ้าดูและวิจารณ์เฉย ๆ นะคะ เพราะการสืบทอดอำนาจครั้งนี้มันวัดรอยเท้ารุ่นจอมพล
ป./จอมพล ถนอม เลยนะคะ
ดังนั้นต้องอาศัยกำลังทุกฝ่าย แต่สิ่งหนึ่งก็คือว่าในคนรุ่นใหม่และคนเสื้อแดงปัจจุบัน นำด้วยอุดมการณ์ ไม่ได้นำด้วยผลประโยชน์ เมื่อไหร่ก็ตามที่นำการต่อสู้ที่เชิดชูอุดมการณ์และชัดเจน เขาก็จะมากันหมดค่ะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด