อ.ธิดา
ถาวรเศรษฐ : รำลึก 11 ปี เมษา-พฤษภา ปี 53
สวัสดีค่ะ
วันนี้ วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 การจัดงานรำลึกในสถานการณ์ปีสองปีมานี้
ที่มีกลุ่มเยาวชนขึ้นมานำพาการต่อสู้ และเราก็มีงานรำลึกหลายแห่ง แต่ว่า 10 เมษา
64 เป็นงานแรกที่กลุ่มเยาวชนได้เอาพวงหรีดมาวางแล้วมาร่วมรำลึกกันอย่างพร้อมเพรียง
มันเป็นนิมิตหมายที่ดี แม้กระทั่งวันที่ 10 เมษา
กลุ่มเยาวชนเขาก็เตรียมจะจัดงานตอนกลางคืน แต่จากการที่มีสถานการณ์โรคติดเชื้อและการระบาดที่มากก็ทำให้ไม่สามารถจัดเป็นการชุมนุมได้
ก็ต้องยกเลิกไป แต่ก็เตรียมว่า 19 พฤษภา สถานการณ์ดีขึ้น จะได้จัดงานร่วมกัน ก็ปรากฏว่ามันเป็นไปไม่ได้
ในวันนี้แกนนำจำนวนหนึ่งก็แยกย้ายไปทำบุญ
แต่ว่าทางอาจารย์, คุณหมอเหวง และทีมงานยูดีดีนิวส์ก็คิดว่าเราก็ใช้สถานที่นี้แหละ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เราออกจากห้องประชุมมาจัดข้างนอก เราก็ไม่ได้แจ้งพี่น้อง
จึงมีเฉพาะทีมงานและผู้สื่อข่าวอาสา ผู้ประสานงานอีกนิดหน่อย
เพราะเราไม่ต้องการให้มีคนมากเกินไป
เนื่องจากยังเป็นความเสี่ยงของสถานการณ์โควิดอยู่
ฉะนั้นจึงเป็นการจัดงานทำบุญ
รำลึกเหตุการณ์ 13 – 19 พฤษภา 11 ปีมาแล้ว อย่างเล็ก ๆ เรียบง่าย
และก็มีเฉพาะคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม
อาจารย์ก็เชื่อว่าพวกเราและคนเสื้อแดงทุกคนที่อยู่ที่นี่และไม่ได้อยู่ที่นี่
ที่แยกย้ายกันไปทำบุญ หรือกระทั่งอยู่ที่บ้าน
หรือกำลังติดตามการถ่ายทอดของยูดีดีนิวส์อยู่ในเวลานี้
ก็ส่งใจรำลึกและก็ร่วมทำบุญกับเราไปด้วย (ร่วมทำบุญออนไลน์)
อาจารย์เองก็คิดว่า
สำหรับพวกเราคนเสื้อแดง ไม่ใช่เฉพาะ 10 เมษา กับ 19 พฤษภา ที่เราจัดงานรำลึก
การรำลึกถึงการเสียสละความเจ็บปวดของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่นำโดยนปช.
และเสื้อแดงอิสระทั้งหลายทั้งปวง ในฐานะผู้รักประชาธิปไตย เรารำลึกเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะ
2 วัน
เรารำลึกอยู่ทุกวัน
สำหรับอาจารย์เกือบจะตลอดเวลา ไม่อยากจะใช้คำว่า “ทุกลมหายใจ” เราในฐานะนักต่อสู้
ลมหายใจของเราไม่ใช่เป็นเรื่องความรักส่วนตัว
แต่ลมหายใจของเราก็คือลมหายใจของนักต่อสู้
ดังนั้น
11 ปีที่ผ่านมา บางครั้งเราได้จัดงานใหญ่ จำได้ว่าในปี 54
เราก็จัดงานรำลึกใหญ่ซึ่งอาจจะมีคลิปออกมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลายคนเห็นในภาพวีดีโอ ในเพลงที่อาจารย์ร้องก็มีส่วนหนึ่งที่นำมาถ่ายทอด
ในการต่อสู้ที่พวกเรารำลึก เรารำลึกอยู่ทุกวัน
วันนี้ก็เป็นเพียงอีกวันหนึ่งเท่านั้น
11
ปี นับจากปี 53 เราได้จัดงานใหญ่ปี 54, ปี 55, ปี 56, ปี 57 เราก็จัดที่อักษะ
ก็มีการชุมนุม การจัดงานที่มีลักษณะการชุมนุมบางครั้งก็จัดที่ราชประสงค์
บางครั้งก็จัดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ล้วนเป็นการชุมนุมทุกครั้ง แต่หลังจากปี 57
มีการทำรัฐประหารเป็นต้นมา เราก็ต้องมาทำบุญตามวัดต่าง ๆ
ดังนั้นการต่อสู้ของเรามันจึงนับเวลาไม่ใช่
11 ปี ถ้าเราย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 49
นั่นหมายถึงว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงมาถึงวันนี้ 15 ปีมาแล้ว แต่ว่า 11 ปี คือการรำลึกของการสูญเสีย
แต่เป็น 15 ปีของการต่อสู้ เป็นการต่อสู้ในบริบทของการต่อสู้ของไพร่บ้านนอกรวมกับคนจนเมือง
แต่ว่าถ้าการต่อสู้ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจริง
ๆ เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจแทนที่จะอยู่กับชนชั้นนำจารีตให้เป็นอำนาจของประชาชนนั้นต่อสู้มายาวนาน
นับจากการต่อสู้ รศ.130 ก็ร้อยกว่าปี ถ้านับจาก 2475 มาถึงตอนนี้ 2564 ก็ร่วม 80
ปี แต่ว่าถ้านับเสื้อแดงเป็นคนรุ่นใหม่ตอนนั้นมาถึงตอนนี้ 15 ปี
ณ
บัดนี้ เสื้อแดงไม่ใช่คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่การต่อสู้รุ่นใหม่
เพราะการต่อสู้รุ่นใหม่ที่นำโดยเยาวชนก็ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
ดังนั้น สำหรับพวกเราคนเสื้อแดง หลายคนก็อายุมากขึ้น ร่วงโรย เขาจะบอกว่าเราเป็นควายแดงบ้านนอก
เป็นบริวารของนายทุนสามานย์ เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เป็นพวกล้มเจ้า อะไรก็ตาม
แต่ว่ามาจนถึงปัจจุบันมันพิสูจน์ให้เห็นที่อาจารย์ภาคภูมิใจมากก็คือ
เสื้อแดงแต่ละคนมีความคิด มีความรู้ และมีการปฏิบัติได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ
ไม่จำเป็นต้องมีใครมาชี้นำ เพราะว่าเขาไม่ต้องเรียนสูงโดยระบบ
แต่สิ่งที่เขาเรียนรู้ก็คือการเมืองนอกระบบ เรามีการจัดโรงเรียนการเมืองนั่นก็ส่วนหนึ่งที่มีประโยชน์
เรามีการปราศรัยที่มีความรู้ นั่นก็เป็นประโยชน์
แต่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด
ก็คือการปฏิบัติโดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้ด้วยตัวเอง
แล้วได้เรียนรู้ว่าการต่อสู้ที่พยายามจะต่อสู้ทางการเมือง
แต่ถูกปราบปรามโดยการทหาร และการต่อสู้ทางการเมืองนั้น ต่อให้ชนะในรัฐสภา
ก็ยังถูกจัดการโดยการทหาร
เพราะฉะนั้น
ประเทศนี้ฝั่งจารีตนิยมบวกกับอำนาจทหารก็มาบดขยี้ความชอบธรรมการต่อสู้ของประชาชนมาเป็นลำดับ
พวกเขารู้เอง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นปัจจุบั้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนอย่างป้าเป้า
คนอย่างเฮียซ้ง อีกหลายคนก็ตาม พวกเราตรงนี้ถ้าใครเอาไมค์ไปจ่อปาก
อาจารย์เชื่อว่าพูดได้ดีทุกคน เพราะพวกเราเหมือนกับเรียนจบปริญญาเอกจากการต่อสู้มาแล้ว
ดังนั้น
ไม่มีใครน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่มีใครดูถูกตัวเอง แม้มาบัดนี้
ประชาชนจะเรียกว่ายังไม่ชนะ อำนาจอธิปไตยยังอยู่ในมือของฝั่งจารีต พวกคนชั้นนำ
ระบอบเก่า เราก็ต้องยืมคำพูดแม้ว่าจะเป็นคำพูดของ จอมพล ป. ก็ตาม
“การต่อสู้ระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่
จะยังไปอีกยาวนาน”
เพราะฉะนั้นกระบวนการต่อสู้ของคนเสื้อแดง
15 ปี เรารำลึก 11 ปี มันมากพอที่จะทำให้เราแข็งแกร่ง อันนี้เป็นความภาคภูมิใจ
สำหรับสิ่งที่จะฝากไว้
ประการแรกก็คือยังขอให้ยืนหยัดในเป้าหมายของการต่อสู้ว่า
เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อบุคคล เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อพรรคการเมือง
แต่เราต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง
นี่คือนโยบายข้อที่ 1
เยาวชนเขาบอกว่า
“ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรมนูญ”
แต่อาจารย์เชื่อว่าสิ่งที่เราเคยพูดไว้ว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อำนาจเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริงจะมีความหมายที่ลึกซึ้ง
และมันเป็นไปได้ยากกว่าภายใต้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไม่ได้ความก็ไม่มีใครควรอยู่ใต้รัฐธรรมนูญสักคน
เพราะว่ารัฐธรรมนูญจะต้องถูกเลิกไป อย่างนี้เป็นต้น
ให้ยืนหยัดว่าเราต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง
ประการต่อมาก็คือ
ขณะนี้เป็นเวลาที่เราต้องผนึกกำลังกับเยาวชนคนรุ่นใหม่
ขณะนี้การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่เป็นเหมือนการเชื่อมสายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนเสื้อแดงและคนในอดีต
อย่างอาจารย์กับคุณหมอเหวงมาตั้งแต่รุ่น 2516 มาจนถึง 64 มันก็ยาวนาน
แต่อาจารย์ภาคภูมิใจมากที่ได้ร่วมกับคนเสื้อแดง แล้วก็เสียใจกับพรรคพวกที่ดูเหมือนก้าวหน้า
ในการต่อสู้ 14 ตุลา 16, ในการต่อสู้ 6 ตุลา 19 และในการต่อสู้ พฤษภา35 แต่มาพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าเขายังไม่ได้ยืนอยู่กับประชาชนไทยที่แท้จริง
เลือกที่ไปยืนอยู่ฝั่งจารีตนิยม อำนาจนิยม กระทั่งสนับสนุนรัฐประหาร เพราะฉะนั้นคนเสื้อแดงจึงค่อนข้างโดดเดี่ยว
แต่ไม่ใช่ปัจจุบัน
ปัจจุบันพวกเยาวชนและอนุชน
(เด็กมัธยม) กระทั่งเด็กประถมเขาก็ลุกขึ้นมา ก็เป็นเวลาอันดีที่นักต่อสู้รุ่นก่อนแล้วยังอยู่ถึงปัจจุบันจะได้ผนึกกำลังกันกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้สายธารการต่อสู้นี้เป็นสายธารอันเดียวกัน
และเยาวชนเขาเข้าใจ พูดง่าย ๆ ว่าตาสว่างมากกว่าปัญญาชนจำนวนหนึ่ง
ส่วนอีกข้อที่จะฝากเอาไว้ก็คือว่า
ในท่ามกลางการต่อสู้นั้น เรามีทั้งเวทีรัฐสภา และนอกรัฐสภา
อาจารย์จะเน้นในส่วนขาประชาชนที่ต่อสู้นอกรัฐสภา ในรัฐสภาต่อให้คุณชนะ
ในที่สุดพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหรือนายกฯ
ที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกจัดการ นั่นเป็นเพราะประชาชนยังไม่เข้มแข็งพอ
ถ้าประชาชนเข้มแข็งพอ
และมีพรรคการเมืองที่ดีที่ร่วมการต่อสู้กับประชาชน เชิดชูการต่อสู้ของประชาชน
ไม่คิดเอาแต่ประโยชน์ของตัวเอง มันมีแต่แบบนี้เท่านั้น
คือประชาชนต้องผนึกกำลังในทุกฝ่าย และพรรคการเมืองต้องมองเห็นว่าถ้าการต่อสู้ของประชาชนยังไม่ชนะ
อย่าหวังเลย ต่อให้คุณเลือกตั้งมาได้เป็นจำนวนมาก คุณก็ถูกยุบพรรค จะลองอีกมั้ย
ยุบมาแล้วหลายพรรค นี่คือความเป็นจริง!
ดังนั้นอย่าไปไขว้เขวกับในเวทีรัฐสภาว่าจะมีพรรคการเมืองหลายพรรค
จะมีความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง อาจารย์เห็นติ่งโน่น ติ่งนี่
ทะเลาะกันวุ่นไปหมด ทั้งหมดก็คือคุณเอาพรรคการเมืองเป็นใหญ่
หรือคุณเอาผลพวงการต่อสู้ประชาชนเป็นใหญ่
แต่เราไม่ได้ขัดข้องที่จะมีใครตั้งพรรคการเมืองกันขึ้นมามากมาย
ฉะนั้นฝากเอาไว้ว่า
สำหรับอาจารย์ รวมทั้งคนเสื้อแดงและนปช.กลุ่มต่าง ๆ ทั่วประเทศ ยืนยัน 3 ข้อนี้
ในเวลานี้
1)
ยืนหยัดเป้าหมายและจุดยืน
2)
ร่วมการต่อสู้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่
3)
อย่าสับสนกับปัญหาความขัดแย้งของพรรคการเมือง
เพราะว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมาก
จริง ๆ การต่อสู้ประชาชนต้องเป็นเรื่องสำคัญเพราะ ณ
บัดนี้มันได้พิสูจน์แล้วว่าเวทีที่ชนะในรัฐสภาก็ถูกล้มมาตลอด
เพราะฉะนั้นขอให้ผนึกกำลังในการต่อสู้ เรื่องพรรคการเมืองเป็นเรื่องเล็ก เรื่องรอง
เรื่องการต่อสู้ประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ แล้วไปชวนพวกพรรคการเมืองให้เข้าใจประเด็นนี้ด้วย
ถ้าเข้าใจชัดเจน ข้ออ่อนด้อยการต่อสู้ประชาชนก็จะลดลงตั้งแต่ก่อนหน้านี้
เพราะว่าถ้าเป็นเวทีรัฐสภาแล้วเอาการต่อสู้ประชาชนเป็นเครื่องมือที่จะได้รับชัยชนะในรัฐสภา
แล้วพอมีเวทีรัฐสภาแล้วไม่สนใจหรืออาจจะลดทอนขบวนการต่อสู้ประชาชน
นั้นเป็นเรื่องผิดอย่างยิ่ง
และในที่สุดมันก็พิสูจน์ว่าทำให้การต่อสู้ซึ่งมีคนมาร่วมเป็นจำนวนมาก
ไม่มีครั้งไหนมากเท่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดง และเป็นกำลังของคนชั้นล่างในสังคมเป็นส่วนใหญ่
ปัญญาชนกับคนชั้นกลางบนไปอยู่อีกฝั่ง ก็เรียกว่าเราอาภัพและค่อนข้างโดดเดี่ยว เพราะเสียงของไพร่มันไม่ดังเท่ากับเสียงของคนชั้นกลางบนและพวกกลุ่มคนดีทั้งหลาย
และในที่สุดก็พิสูจน์ให้เห็นคนที่โหนทั้งหลายนั้นโหนเพื่อใคร?
แต่นักสู้ประชาธิปไตยของเรานั้น เราโหนใครมั้ย? ถ้าใครคิดจะโหน อย่าโหน
เราสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ
และนี่จึงทำให้พวกเราคนธรรมดาทุกคนสามารถส่งเสียงและปฏิบัติให้สังคมได้รู้ว่า
ความยิ่งใหญ่ของคนเสื้อแดงที่ได้ต่อสู้มานั้นมีมากเพียงใด เพราะทุกคนมีสมอง
นี่คือสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุด และเสียสละไป ก็มีคนรุ่นใหม่ รุ่นพ่อไม่มา
รุ่นลูกก็มา
แต่ฝั่งจารีตนิยมนั้น
ในทัศนะอาจารย์ มันอาจจะดูเป็นทฤษฎีก็คือ
ถ้าเขาไม่ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยน
เหมือนอย่างทุกวันนี้แก้ปัญหาโควิดยังแก้ไม่ได้ ถ้าเขาไม่ปรับตัว คือไม่คิดแบบสากล
คิดในระดับโลก และทำงานในระดับพื้นที่ ถ้าเขาไม่ทำอย่างนั้น ปรับตัวก็ไม่ได้
เขาก็อยู่ไม่ได้ในที่สุด
แต่นั่นแหละ
สำหรับเรายังอีกยาวนาน
แต่อย่างหนึ่งอยากให้กำลังใจว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจจริงนั้น
ในประเทศในยุโรปมันต้องใช้เวลานับร้อยปีเหมือนกันนะ ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ อาจารย์ยังมีความหวังและมีพลังในการต่อสู้เต็มเปี่ยม
เพราะมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง มันต้องประสบชัยชนะในที่สุดแม้จะยากลำบากและยาวนานเพียงไรก็ตาม
อยากให้วาระนี้ส่งกำลังใจไปให้พวกเราทุกคน
คนเสื้อแดงและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย รวมทั้งสลิ่มกลับใจทั้งหลายว่า
มันอาจจะลำบาก แต่ว่าต้องผนึกกำลังทุกฝ่าย ณ บัดนี้ จะมีกลุ่มต่าง ๆ ทุกชนชั้นมาร่วมกันแล้ว
และมีความชอบธรรม แม้มันยากลำบาก แต่ก็คิดว่าการต่อสู้มันเหมือนกราฟเพิ่มขึ้น
กราฟการต่อสู้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนชั้น
ในทัศนะอาจารย์กราฟมันกำลังขึ้น
แต่มันจะถูกชะลอบ้างโดยกลไกระบบยุติธรรมในประเทศไทยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม “กราฟการเจริญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”
ในทัศนะอาจารย์ กำลังพุ่งขึ้น
ฉะนั้นก็ขอให้คนที่ได้ต่อสู้มาก่อน
อย่าได้ท้อถอยและวางมือ รวมพลังกับเยาวชนคนรุ่นใหม่
เพื่อที่จะช่วยกันให้การเดินต่อไปนั้นเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
เราไม่จำเป็นต้องไปอยู่บนเวทีในฐานะผู้นำ อาจจะไม่เหมาะ แต่ในฐานะพลังของคนเสื้อแดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับแต่มีการต่อสู้ของประชาชนมา
ก็เป็นพลังที่น่าเกรงขามถ้าเราร่วมใจ ร่วมมือกัน ในการที่จะเดินทางต่อ
อาจารย์ก็ขอฝากเอาไว้ ณ ที่นี้
15
ปี ของการต่อสู้
11
ปี ที่มีการสูญเสียครั้งใหญ่
แต่เราก็จะเดินต่อไป อ.ธิดากล่าวในที่สุด
#11ปีเมษาพฤษภา53 #นปช #คนเสื้อแดง
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์