ปชน.เสนอญัตติรับมือสงครามการค้าจากมาตรการภาษีทรัมป์ ชี้ไม่ติดรอดูท่าทีก่อนเจรจาให้รอบคอบ แต่ควรออกมาตรการช่วยคนในประเทศที่จะได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน-เตรียมรับมือผลกระทบจากตลาดอื่นนอกจากสหรัฐฯ ด้าน “ศิริกัญญา” เชื่อสภาฯ พร้อมหนุนถ้าต้องกู้เพิ่ม-มองเป็นโอกาสยกเครื่องใหญ่เศรษฐกิจไทยทั้งระบบ แต่อย่ากู้มาแจกเทน้ำลงบ่อทรายเหมือนที่ผ่านมา
วันที่ 9 เมษายน 2568 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา กรณีการขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งในส่วนของพรรคประชาชนมี ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นผู้เสนอญัตติ
ในส่วนของศิริกัญญา ระบุว่าจากกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศไทยในอัตรา 36% เป็นการประกาศขึ้นกำแพงภาษีในระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1909 หนักหนาและรุนแรงยิ่งกว่ายุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 นอกจากกระทบการค้าของโลกแล้วยังจะมีผลกระทบในระลอกอื่นๆ ตามมา จากการที่ประเทศไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และโดยเฉพาะของประเทศจีนที่เจอภาษีแบบสาหัสที่สุดเท่าที่เคยมีมา จะเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น การตัดราคา และการแสวงหาตลาดใหม่ รวมถึงสินค้าราคาถูกจากทุกทิศทางจะไหลเข้ามาในไทยในฐานะตลาดใหม่เช่นกัน เศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวอย่างรุนแรงและกลับมากระทบกับเศรษฐกิจในประเทศอีกละลอก ส่งออกจะน้อยลง ท่องเที่ยวก็อาจจะน้อยลง กำลังซื้อในประเทศก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก
ผลกระทบครั้งนี้กว้าง เพราะสินค้าที่ได้รับผลกระทบมีคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก กระทรวงพาณิชย์มักแสดงตัวเลขที่เป็นการคำนวณพิกัดสินค้าแบบหยาบ ทำให้ไม่เห็นว่าตกลงแล้วประเทศไทยส่งออกสินค้าประเภทอะไรกันแน่ กระทรวงพาณิชย์บอกว่าสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกเป็นอันดับหนึ่งคือโทรศัพท์ แต่เราไม่ได้ส่งออกโทรศัพท์มือถือแต่ส่งออกอุปกรณ์รับส่งสัญญาณไวไฟ/บลูทูธ ซึ่งกินสัดส่วนประมาณ 12% ของมูลค่าส่งออก อันดับที่สองเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ แต่ความจริงประเทศส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่ระบุว่าประเทศไทยส่งออกเซมิคอนดักเตอร์เยอะเป็นอันดับสาม จริงแล้วคือแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งกินการส่งออกประมาณ 3.4% ของมูลค่าส่งออก ส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ระบุว่าส่งออกเป็นอันดับ 4-5 ความจริงคือชิ้นส่วนมาเทอร์บอร์ดและเมนเฟรมของคอมพิวเตอร์
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่าเมื่อมองเห็นภาพสินค้าที่ชัดขึ้นจะเห็นคนอยู่ในนั้น อุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านี้มีห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวาง ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จ้างคนตลอดห่วงโซ่อุปทานประมาณ 1 แสนคน ยางล้อมีคนงานในทุกโรงงานรวม 4 หมื่นคน และแต่ละอุตสาหกรรมก็มี SMEs ที่เป็นห่วงโซ่อุปทานอีกนับพันราย กินพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่จะถูกกระทบตั้งแต่สงขลา หาดใหญ่ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา อยุธยา ขึ้นไปถึงลำพูนในภาคเหนือ ดังนั้น ไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมไปถึงแรงงานที่เสี่ยงจะถูกลดชั่วโมงทำงานหรือเลิกจ้าง SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานก็ได้รับผลกระทบ ผู้ค้าที่ทำธุรกิจกับโรงงาน SMEs พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของแถบนิคมอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบ ชาวนาผู้ปลูกข้าว เกษตรกรที่ผลิตสินค้าส่งออกทั้งกุ้งและยางพาราก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
ประเทศไทยคงต้องอยู่ในระเบียบโลกใหม่ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้สร้างขึ้นมาไปอีกสักระยะหนึ่ง โดยไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้เลยว่าสงครามการค้าครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ กระบวนการเจรจาจะเริ่มต้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าแต่ก็ไม่รู้ว่ากระบวนการเจรจาจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ตอนนี้สหรัฐอเมริกาประกาศว่ามี 70 ประเทศที่ต่อคิวเข้าพบเพื่อเจรจาต่อรองลดกำแพงภาษี การตอบโต้กันไปมาระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ก็จะคงดำเนินต่อไป และอาจทำให้เกิดลูกหลงที่ประเทศไทยต้องเจอหางเลขไปด้วย อย่างเช่นล่าสุดสหรัฐอเมริกาประกาศเก็บภาษีนำเข้าจากจีนทะลุ 100% ไปแล้วและจะมีผลในวันพรุ่งนี้ ซึ่งจะกระทบกับประเทศไทยแน่ๆ เพราะประเทศไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าของจีนไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าสินค้านั้นต้องส่งไปขายที่สหรัฐอเมริกาก็ต้องเจอผลของการขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมาแน่ๆ ไม่ลดคำสั่งซื้อก็เลิกซื้อ กระทบมาที่ผู้ผลิตไทยแน่ๆ ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ยาง
ศิริกัญญากล่าวต่อไปถึงมาตรการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิชัย ชุณหวชิร ได้ออกมาพูดถึงการเตรียมประเด็นต่างๆ 5 ประเด็น คือ
1) หาโอกาสจากการนำเข้าพืชผลทางการเกษตร คือการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งแน่นอนว่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 4.5 ล้านตันในราคาที่ถูกกว่าประเทศไทยเกือบครึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาแน่นอน แม้ประกาศว่าจะนำเข้าหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว แต่นั่นก็น่าจะช่วยให้ประเทศไทยขาดดุลลดลงกับสหรัฐอเมริกาได้ราว 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ประเทศไทยก็คงต้องทำการเจรจานี้ให้มีความโปร่งใส โดยนำผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเข้ามาพูดคุยเจรจาด้วยเช่นเดียวกัน
2) การผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าโดยการลดภาษี ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำและน่าจะไม่ส่งผลอะไรกับการลดการเกินดุลกับสหรัฐอเมริกา
3) มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี แต่ไม่พูดถึงการลดกฎระเบียบขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนจำนวนมาก แต่มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีหลายตัวเป็นการกันสินค้าไม่ให้นำเข้า จะมีตัวไหนที่จำเป็นต้องเปิดตลาดเพิ่มหรือไม่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ หรือกระทั่งเอทานอล
4) การตรวจสอบคัดกรองสินค้าเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี จากการประมาณการระบุว่ามีสินค้าที่ใช้วิธีการโยกย้ายฐานการผลิตเพื่อหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐอเมริกาอยู่ราว 23% ของยอดส่งออก ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดที่มีการสวมสิทธิเข้ามาผลิตในประเทศทั้งที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศทั้งหมด ถ้าทำได้หมดทั้ง 23% ก็น่าจะสามารถปิดช่องว่างการเกินดุลกับสหรัฐอเมริกาได้อีกราว 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเช่นเดียวกัน
5) การหาโอกาสในการลงทุนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายประเทศก็ใช้วิธีการนี้ คือการเข้าไปร่วมลงทุนในท่อก๊าซในอลาสก้า ซึ่งตนอยากสอบถามว่าถ้านี่จะเป็นหนึ่งในเรื่องที่ประเทศไทยจะนำมาเจรจา ประเทศไทยได้เริ่มหารือกับประเทศอื่นๆ ที่จะไปลงทุนในท่อก๊าซนั้นเช่นกัน เช่นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไปด้วยแล้วหรือยัง
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ดูจะหายไปจากสิ่งที่จะนำไปเจรจา เช่น เครื่องบินและอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ได้อยู่ในสิ่งที่รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงเมื่อวานนี้ ตนจึงขอถามว่าจะยังเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหรือไม่ โดยเฉพาะเครื่องบินที่กองทัพใช้ แม้ว่าจะเพิ่งมีการจัดซื้อเครื่องบินกริปเพนจากสวีเดนไปและอยู่ในกระบวนการแล้ว แต่ยังมีเครื่องบินลำเลียงอื่นๆ ที่ประเทศไทยยังสามารถใช้ประเด็นนี้เข้ามาเจรจาต่อรองได้เช่นเดียวกัน
โดยสรุปแล้วทั้ง 5 ข้อ สิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่บนโต๊ะเจรจาไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงความอัศจรรย์อย่างที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต้องการ แถมแต้มต่อที่เคยมีก็หายไปทุกวัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบจากการส่งชาวอุยกูร์ไปจีนทำให้มิตรกลายเป็นอื่น เหตุการณ์ยังเลวร้ายลงไปอีกจากการที่ล่าสุดมีการแจ้งจับนักวิชาการสัญชาติสหรัฐอเมริกา พอล แชมเบอรส์ ด้วยมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และไม่ให้ประกันตัว การที่ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกายังรับสายรัฐบาลไทยอยู่จึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก สหรัฐอเมริกาจะยังคงเจรจากับประเทศไทยหลังจากที่มีเรื่องนี้อยู่หรือไม่
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่าตนและพรรคประชาชนไม่ได้ติดใจต่อท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ได้เร่งรีบเจรจาและใช้กลยุทธ์รอดูท่าที และไม่มีใครสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าเจรจากับสหรัฐอเมริกาโดยผลีผลาม หลายประเทศเริ่มเจรจา หลายประเทศมีการลดภาษีฝั่งเดียว แต่ก็มีประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้วิธีเชิงรุก แต่เน้นกลับมายืนยันหลักการและประกาศเตือนภัยประชาชนอย่างตรงไปตรงมา
ตนจึงขอเรียกร้องรัฐบาลว่ามีเรื่องที่ต้องเร่งมือทำคู่ขนานไปกับการเจรจาคือการเยียวยา พยุง กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการค้าการส่งออกที่จะหดตัวในช่วงที่เหลือของปี ยิ่งการเจรจากินเวลาต่อเนื่องเท่าไหร่ก็จะยิ่งกระทบต่อปากท้องประชาชนในประเทศเท่านั้น การลงทุนภาคเอกชนที่โตต่ำอยู่แล้วก็ยิ่งจะชะงักมากขึ้น สุดท้ายก็จะมากระทบกับรายได้ของประชาชนที่ต้องทำมาหากินฝืดเคืองกันต่อไป ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดจีดีพีอาจจะโตเพียงแค่ 1% เท่านั้น สูงสุดไม่เกิน 2.3%
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่าแม้รัฐบาลจะได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือแบบฉุกเฉินไว้บ้าง เช่น มีการพูดถึงการให้สินเชื่อ แต่ก็เป็นการให้ผ่านกองทุนการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ตอนนี้มีเม็ดเงินอยู่ราว 3 พันล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ที่ออกมาตรการอย่างรวดเร็วในการเยียวยาฉุกเฉิน เพิ่มสภาพคล่องให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไปแล้ว 100 ล้านล้านวอน นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เพิ่งจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือภาคเอกชนรวมถึงแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ญี่ปุ่นประกาศให้สินเชื่อและมาตรการช่วยเหลือกับ SMEs ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบ
สเปนออกแผนเพื่อเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ความช่วยเหลือทางการเงินมูลค่า 5.38 แสนล้านบาท ออสเตรเลียสนับสนุนสินเชื่อ 0% ให้บริษัทเอกชนออกไปหาตลาดใหม่ๆ และแสวงหาโอกาสในการส่งออกใหม่ๆ ไต้หวันประกาศแผนช่วยเหลือมูลค่า 9.4 หมื่นล้านบาทช่วยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่สหภาพยุโรปออกมาตรการทั้งเชิงรุกและเชิงรับ และในขณะเดียวกันก็เดินหน้าพูดคุยกับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพราะเขารู้ว่าตอนนี้นักลงทุนอยู่ในภาวะขาดความเชื่อมั่น
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่าการเยียวยาเฉพาะหน้าแบบฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องทำ โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศที่โดนไป 25% ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 เมษายน ขณะเดียวกันบีโอไอควรรีบเร่งหารือทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่ตอนนี้กำลังระส่ำระสายและกำลังคิดถึงการโยกย้ายโรงงานและฐานการผลิตไปที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ใช่แค่บริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกาเท่านั้น บริษัทอื่นที่พึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกาก็กำลังคิดถึงเรื่องนี้ หากมีการย้ายฐานการผลิตจริงนั่นหมายถึงอีกหลายชีวิตของแรงงานไทยที่จะถูกเลิกจ้างอีกหลายชีวิต
ในส่วนของยางพารา แม้ยางแผ่นรมควันและผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติจะอยู่ในรายการสินค้าที่จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่ประเทศไทยก็มีการแปรรูปยางไม่ใช่น้อย และติดอันดับต้นๆ ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐอเมริกา ตอนนี้ราคายางร่วงยกแผงแล้ว เรายังคงรอให้รัฐบาลให้ความชัดเจนในเรื่องการเข้าไปเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่าท้ายที่สุดตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะทำทั้งในเฉพาะหน้าระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวไปในเวลาเดียวกัน ในฐานะที่ตนเป็นคนที่ติดตามสถานการณ์ทางการคลังของประเทศ ตนทราบดีว่าพื้นที่ทางการคลังและงบประมาณที่เหลืออยู่มีน้อย หนี้สาธารณะก็กำลังจะชนเพดาน ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ก็เกินกรอบตามกฎหมายไปแล้ว ยังเหลือพื้นที่กู้เพิ่มในปีงบประมาณ 2568 อีกราว 4-5 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่หากวิกฤตที่เรากำลังจะเผชิญในวันข้างหน้าจะทำให้รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลถ้ารัฐบาลจะขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะ สภาแห่งนี้ยินดีสนับสนุนถ้าไม่ได้จะกู้ไปเพื่อแจกเงินอย่างสะเปะสะปะอย่างที่ผ่านมา
ถ้ารัฐบาลมีแผนที่ชัดเจนว่าจะใช้งบประมาณตรงนี้เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ไม่เลวร้ายไปกว่านี้ และฟื้นฟูประเทศทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ถ้ารัฐบาลต้องการงบประมาณไปเยียวยาภาคธุรกิจ อุตหสากรรม และแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ถ้ารัฐบาลจะใช้งบประมาณเพื่อเดินหน้าปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ถ้ารัฐบาลจะใช้ไปเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าได้เก่งขึ้น ถูกลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้ารัฐบาลจะออกมาตรการที่จะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนที่ตกต่ำมานาน ถ้ารัฐบาลจะเอาไปให้ซอฟต์โลนกับบริษัทเอกชนที่ต้องการสภาพคล่องระหว่างที่ต้องไปเผชิญความเสี่ยงแสวงหาตลาดใหม่ๆ ถ้ารัฐบาลจะนำงบไปทำการผึกอบรมทักษะแรงงานที่ต้องหางานใหม่ๆ จากการถูกเลิกจ้าง ถ้างบประมาณนั้นจะสามารถทำให้ตลาดภายในประเทศเข้มแข็งขึ้นเพื่อชดเชยการส่งออกที่จะต้องลดลำดับความสำคัญลงไปในอนาคต เพื่อทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลกู้ได้เลย
“แต่ขออย่างเดียว อย่ากู้ไปเพื่อแจกแบบเทน้ำลงบ่อทรายเหมือนเดิม โดยตีเช็คเปล่าให้แก่ตัวเอง ถ้ายังไม่มีแผนที่ชัดเจน วันนี้เรากำลังจะเจอกับวิกฤตที่ใหญ่หลวงมากๆ มันจะทั้งลึก กว้าง และจะกินเวลายาวนาน เราต้องก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกันแบบที่จะต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และไม่มีโอกาสไหนที่ดีกว่าโอกาสนี้ในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ฟิ้นฟูเศรษฐกิจ และฟื้นฟูประเทศ” ศิริกัญญากล่าว
ในส่วนของ สิทธิพล ระบุว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นแบ่งออกได้เป็น 2 มิติหลักๆ คือในมิติตลาดส่งออกและมิติตลาดในประเทศ ผลกระทบทางตรงก็คือกลุ่มสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ยางรถยนต์ ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงและทันที พรุ่งนี้มาตรการภาษี 36% จะถูกใช้แล้ว ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริการวมประมาณ 5.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ดังนั้นสิ่งที่อยากฝากรัฐบาลคือต้องทำการบ้านให้หนัก ว่าสินค้าไหนบ้างที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบสูง
นอกจากนี้รัฐบาลต้องไปดูภาษีตอบโต้รายประเทศ เช่น สินค้าประเภทยางที่ประเทศไทยส่งไปสหรัฐอเมริกา มาเลเซียก็ส่งไปเหมือนกัน ประเทศไทยโดนที่ 36% แต่มาเลเซียโดนแค่ 24% ตรงนี้เองที่จะทำให้สินค้าของประเทศไทยเสียเปรียบและแข่งขันยากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง หรืออย่างผลไม้หลายอย่างที่ไทยส่งไปสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ก็ส่งเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นสับปะรด มะพร้าว กล้วย หรือผลไม้แปรรูปต่างๆ ไทยโดน 36% แต่ฟิลิปปินส์โดน 17% ถ้าเป็นเช่นนี้ผลไม้และผลไม้แปรรูปของไทยเมื่อไปถึงสหรัฐอเมริกาก็จะเสียเปรียบและขายยากขึ้นแน่นอน
สิทธิพลกล่าวต่อไปว่ารัฐบาลต้องเตือนทั้งเกษตรกร ผู้ปลูกยาง โรงงานยาง ผู้ปลูกสับปะรด มะพร้าว กล้วย โรงงานแปรรูปผลไม้ ไม่นับรวมถึงแรงงานที่อยู่ในโรงงานเหล่านี้ และสิ่งที่รัฐบาลต้องทำทันทีคือไปดูว่าในตลาดสหรัฐอเมริกาที่ประเทศไทยส่งออกไป รายสินค้าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในแง่ภาษีตอบโต้มีอะไรที่ประเทศไทยกำลังเสียเปรียบคู่แข่งบ้าง รัฐบาลจะได้เตรียมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการถูก จะได้เตรียมรับมือและปรับตัวถูก
ส่วนผลกระทบทางอ้อมในมิติส่งออกก็มีหลายอย่าง จีดีพีของประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกประมาณ 60% ถ้าการค้าและเศรษฐกิจโลกหดตัวประเทศไทยก็จะส่งออกได้น้อยลง และถ้าไปดูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งสองประเทศมีส่วนแบ่งในเศรษฐกิจโลกมากกว่า 40% ดังนั้น ในแง่ผลกระทบที่เกิดจากสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดจึงกระทบไทยแน่นอน
สิทธิพลกล่าวต่อไปว่าดังนั้นตนจึงอยากฝากการบ้านไปถึงรัฐบาลว่ายังมีตลาดอื่นๆ นอกจากสหรัฐอเมริกาที่รัฐบาลต้องเตรียมศึกษารับมืออย่างรวดเร็ว คือทุกประเทศที่เคยเป็นตลาดของไทยและนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อไปผลิต ประกอบ แล้วส่งไปขายสหรัฐอเมริกา สินค้าจากประเทศเหล่านี้ถูกขึ้นภาษีเหมือนกัน ดังนั้น ไทยจะส่งออกได้น้อยลง เช่น เม็กซิโก ญี่ปุ่น ที่วันนี้ไทยส่งชิ้นส่วนรถยนต์ไปวันนี้หลายหมื่นล้านต่อปี เมื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีก็จะซื้อของไทยน้อยลง กระทั่งตลาดจีนที่ไทยเคยส่งวัตถุดิบไปให้ผลิตแล้วส่งไปสหรัฐอเมริกา ก็จะนำเข้าจากไทยน้อยลงเช่นกัน
ในอีกมุมหนึ่ง วันนี้ทุกตลาดที่ไทยเคยส่งออกได้และมียอดขายมาก ก็กำลังจะเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าของทุกประเทศที่ต้องหนีตายจากสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มต้องแข่งกันลดราคา ไม่ว่าจะเป็นตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ดังนั้น การที่รัฐบาลพยายามหาตลาดใหม่ๆ เพื่อรองรับสงครามการค้าครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
สิทธิพลกล่าวต่อไปว่านอกจากนี้ยังมีมิติในประเทศที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการเจรจา นั่นคือกรณีสินค้าจากทุกชาติที่หนีตายจากการขึ้นภาษีของทั่วโลกที่ต้องหาตลาดใหม่ ตลาดหนึ่งที่สินค้าเหล่านั้นจะมาแน่ๆ คือตลาดไทย โดยเฉพาะสินค้าราคาต่ำที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้ว ที่ผ่านมาที่สินค้าจากต่างชาติราคาต่ำเข้ามาในประเทศไทยมากๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะสงครามการค้ารอบแรก หรือการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ในสมัยแรก สงครามการค้ารอบนี้ที่ขึ้นภาษีสูงกว่าเดิม ครอบคลุมประเทศมากกว่าเดิม ก็มีแนวโน้มทำให้ผลกระทบจากสินค้าต่างชาติที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยหนักขึ้น
ที่ผ่านมาถ้าผู้ประกอบการไทยที่แข่งขันกับสินค้าต่างชาติราคาต่ำต้องเหนื่อยขนาดไหน สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนี้จะยิ่งรุนแรงกว่าเดิม 3-4 เท่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุชัดว่ากลุ่มผู้ผลิตและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าต่างชาติราคาต่ำคือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่เน้นผลิตขายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก ยาง เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มเหล่านี้จะได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงแน่นอนและรัฐบาลต้องหาทางช่วยเหลือ
สิทธิพลกล่าวต่อไปว่าในโอกาสนี้ตนจึงขอทวงในสิ่งที่รัฐบาลเคยบอกว่าจะทำแต่ยังไ่ม่ได้ทำหลายอย่างเพื่อรับมือปัญหาสินค้าจากต่างชาติราคาต่ำอย่างน้อย 3 เรื่อง ซึ่งหลายเรื่องเป็นมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 แล้ว แต่วันนี้หลายมาตรการยังไม่ถูกปฏิบัติจริงและยังไม่ออกมาเป็นกฎหมาย เช่น
1) การกำกับแพลตฟอร์มจากต่างชาติ ที่รัฐบาลเคยบอกว่าจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำผิดสามารถลงโทษได้ และเก็บภาษีได้
2) มาตรการตอบโต้ทางการค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าที่มีพฤติกรรมทุ่มตลาด หรือถูกสนับสนุนจากต่างประเทศแล้วเอามาขายต่ำกว่าทุนจนผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบ มีมาตรการหลายอย่างที่สามารถรับมือได้ เช่น ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด รัฐบาลเคยบอกว่าจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเข้าถึงมาตรการตอบโต้ทางการค้าเหล่านี้มากขึ้น แต่วันนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงอยู่ทั้งที่ผ่านมา 6 เดือนแล้ว
3) มาตรการป้องกันการสวมสิทธิหรือการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า เช่น เวียดนาม ที่โดนอัตราภาษีสูง สหรัฐอเมริการะบุว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการสวมสิทธิเป็นสินค้าจากต่างประเทศ เช่น สินค้าจีน โรงงานจีนนำมาประกอบในเวียดนามแล้วส่งไปขายที่สหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยต้องเร่งตรวจสอบว่ามีสินค้าอะไรบ้างในประเทศไทยที่มีปัญหาในลักษณะนี้ จากข้อมูลของกรมศุลกากร ถ้าเอาจริงสามารถตรวจสอบการสวมสิทธิได้ผ่านการติดตามพิกัดสินค้ากลุ่มเสี่ยง เอามาเทียบกันทั้งขาเข้าและขาออก
สิทธิพลกล่าวต่อไปว่าสุดท้ายสิ่งที่รัฐบาลควรทำนอกจากการเตรียมการเจรจาแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลสามารถทำได้ทันทีและต้องทำตอนนี้ คือการเตรียมตัวประเทศไทยเองให้พร้อม ต้องดูว่าผู้ประกอบการกลุ่มไหนที่ได้รับผลกระทบมากน้อย จะช่วยเหลือตั้งแต่ตอนนี้ได้อย่างไร มีมาตรการอะไรที่รัฐบาลทำได้ เช่น สินค้าต่างชาติที่กำลังจะไหลบ่ามามากกว่าเดิม วันนี้ลำพังผู้ประกอบการจะไปขายนอกประเทศก็หนักเพราะเจอภาษีใหม่ๆ ถ้าวันนี้ยังปล่อยให้สินค้าต่างชาติราคาต่ำมาทุ่มตลาด เอาเปรียบผู้ประกอบการไทยได้อีก ประเทศไทยจะไม่เหลืออะไรเลย
แม้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าสุดท้ายนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาอาจมีการผ่อนปรนจากความเดือดร้อนของคนในสหรัฐอเมริกาเอง แต่สิ่งสำคัญคือประเทศไทยจะรักษาผู้ประกอบการไทยให้อยู่รอดและปรับตัวได้อย่างไร โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เกษตรกร แรงงาน และลูกจ้างต่างๆ ที่มีความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่ากลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการเงิน สนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิต หรือการรักษาการจ้างงานในระบบ