วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2566

‘ปกรณ์วุฒิ’ โต้พรรคร่วมรัฐบาลรุมกินโต๊ะฝ่ายค้าน มีธงให้ก้าวไกลได้ กมธ. ที่ฝ่ายรัฐบาลไม่เอา

 


ปกรณ์วุฒิ’ โต้พรรคร่วมรัฐบาลรุมกินโต๊ะฝ่ายค้าน มีธงให้ก้าวไกลได้ กมธ. ที่ฝ่ายรัฐบาลไม่เอา

 

วันที่ 5 กันยายน 2566 ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิป สส. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสรรตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ สภาผู้แทนราษฎรว่า พรรคก้าวไกลพร้อมเจรจา เรายืนยันว่าเมื่อปี 2562 ทำอย่างไร ตอนนี้ก็ควรทำอย่างนั้น โดยเมื่อปี 2562 มีกติการ่วมกันค่อนข้างชัดเจน คือพรรคใหญ่ได้เปรียบในการเลือกก่อนบางคณะ แต่ไม่ได้หมายความว่าได้เลือกทั้งหมด เช่น พรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้นได้ 6 คณะ พรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐได้พรรคละ 10 คณะ เขาก็เลือกกันไปก่อนประมาณพรรคละ 3-4 คณะ จนเหลือเท่ากับอนาคตใหม่ อนาคตใหม่ก็จะเลือกบ้าง วนไปแบบนี้ ไม่มีใครได้ทุกอย่างหรือเสียทุกอย่าง อยู่ที่การตกลงเจรจา แบบนี้ก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น

 

แต่มาครั้งนี้ มีการเปลี่ยนกระบวนการ เริ่มต้นพรรคร่วมรัฐบาลเสนอว่าให้แต่ละพรรคเลือกมาก่อน หากคณะไหนซ้ำกันค่อยมาตกลงเจรจา วิธีคิดของพวกเขาเหมือนกันหมด คืออยากเป็นประธาน กมธ. ที่เกี่ยวข้องกับที่ตัวเองเป็นเจ้ากระทรวง ดังนั้น โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลจะเลือกซ้ำกันแทบเป็นศูนย์ และแน่นอน พรรคฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลย่อมเลือกซ้ำกัน ปัญหาก็คือครั้งนี้พรรคใหญ่ในพรรคฝ่ายค้านคือพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลจึงต้องซ้ำเยอะที่สุด

 

ดังนั้น การโยนว่าปัญหาคือพรรคก้าวไกลไปเลือกซ้ำกับคนอื่น ไม่ยุติธรรมกับพรรคก้าวไกลเท่าไร จะบอกว่าเราไม่ถอย ก็ต้องถามกลับว่าแล้วคุณไม่ถอยใน กมธ. ที่คุณเป็นเจ้ากระทรวง เพื่อให้เราตรวจสอบบ้างเลยหรือ” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

เมื่อสื่อมวลชนถามว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกลดูเหมือนถูกรุมกินโต๊ะหรือไม่ ปกรณ์วุฒิระบุว่า บรรยากาศเป็นแบบนี้มาสักพักแล้ว เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันหมด แล้วให้เราไปตกลงด้วยในข้อตกลงที่ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากมีการเลือกซ้ำกันประมาณ 6-7 คณะ ทำให้จะมีอีก 6-7 คณะที่ไม่มีใครเลือกเลย ดังนั้น ความพยายามตอนนี้คือให้ก้าวไกลยอม แล้วเอา 6-7 คณะที่ไม่มีใครเลือกเลย ไปเป็นประธาน

 

วิธีคิดของเรา อันดับแรก กมธ. ที่ควรเป็นของฝ่ายค้าน คือ กมธ. ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ และ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะถือเป็นความสง่างามของรัฐสภาในการถ่วงดุลอำนาจการตรวจสอบกับฝ่ายบริหาร แต่เรื่องนี้กลับตกลงกันไม่ได้ ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายหลักที่เราต้องการผลักดันอย่างต่อเนื่อง ผ่าน กมธ. ที่เราเคยเป็นประธาน เช่น กมธ.แรงงาน กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ และ กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้ เรามองที่คน ว่ามีสมาชิกที่มีศักยภาพในการนั่งประธาน กมธ. ใดบ้าง หากโยน กมธ. ที่ไม่มีใครเลือกมาให้ บางคณะเราอาจไม่มีคนที่มีศักยภาพเพียงพอในประเด็นนั้น ทำให้กลไกการตรวจสอบอ่อนแอลง

 

ส่วนที่มีการตั้งประเด็นว่าพรรคก้าวไกลมีปัญหา ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ขณะนี้การพูดคุยกับพรรครัฐบาล มี 3 หลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ได้แก่ (1) ข้อบังคับข้อกฎหมาย (2) ธรรมเนียมปฏิบัติ และ (3) การพูดคุยเจรจา โดยข้อไหนที่พรรครัฐบาลได้เปรียบ ก็จะเลือกข้อนั้นขึ้นมา และพรรคก้าวไกลก็จะเป็นพรรคเดียวที่ไม่ไปตามเขา

 

เช่น เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอไป ก็จะพูดว่าธรรมเนียมปฏิบัติไม่เคยทำแบบนี้ แต่พอเราเสนอธรรมเนียมปฏิบัติ ก็จะบอกว่าเป็นการเจรจาตกลงกัน มองว่าดูเป็นการรุมกินโต๊ะกันเยอะไปหน่อย ในที่ประชุมตัวแทนพรรคการเมืองตอนนี้ คือก้าวไกล versus everyone” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

ปกรณ์วุฒิเสริมอีกว่า การให้พรรคก้าวไกลไปคุยทีละพรรคที่เลือก กมธ. ซ้ำกัน ซึ่งมีอยู่ 3-4 พรรค โดยบอกว่าคณะที่ไม่ซ้ำกันก็เอาไปเลย ส่วนที่ซ้ำก็ไปคุยกัน หากสุดท้ายทั้ง 3-4 พรรคนั้น ไม่ถอยให้พรรคก้าวไกลเลยแม้แต่คณะเดียว เรื่องจะจบอย่างไร

 

ถ้าถึงตอนนั้นแล้วพรรคก้าวไกลไม่ยอม จะกลายเป็นคนดื้อหรือไม่ หรือจริงๆ แล้ว 3-4 พรรคนั้นต่างหากที่ไม่ถอยให้พรรคก้าวไกลสักก้าวหนึ่งเลย” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

ประธานวิป สส. พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า สำหรับ กมธ. ที่เลือกซ้ำกัน คือ กมธ.ที่ดินฯ และ กมธ.แรงงาน ขณะที่ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ และ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึง กมธ.ติดตามงบฯ ลงตัวแล้ว แต่ยังติดปัญหาคือ กมธ.ป.ป.ช. ส่วนคณะที่เหลือ พรรคก้าวไกลไม่ได้เคร่งครัดว่าจะต้องได้ทั้งหมด แต่กลับไม่ได้รับความยืดหยุ่นกลับมาแม้แต่นิดเดียว

 

เราไม่มีปัญหาในการเจรจา และหากเจรจาแล้วไม่ได้จริงๆ ก็ควรต้องกลับไปกติกาเดิมในปี 2562 แต่กลับมีการเสนอในที่ประชุมว่าให้จับสลากลำดับแล้ววนเลือกพรรคละคณะ โดยไม่คำนึงถึงจำนวน สส. ซึ่งผลก็จะเหมือนเดิมคือพรรคก้าวไกลจะได้ กมธ. ที่ไม่มีใครเลือกประมาณ 6-7 คณะ เขาพยายามตั้งธงเพื่อให้ผลลัพธ์กลายเป็นว่า การชนะเลือกตั้งนั้นไม่มีความหมายใดๆเลย” ปกรณ์วุฒิระบุ

 

ปกรณ์วุฒิกล่าวต่อว่า เรื่องการเจรจาประนีประนอมนั้น เชื่อว่าทุกพรรคที่เคยร่วมงานกับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าใน กมธ. หรือในสภาฯ รู้ดีว่าพวกเราประนีประนอมมากแค่ไหน ตนกล้าพูดว่าทุกพรรคยืนยันได้ ว่าที่ผ่านมาทุก กมธ. ที่ก้าวไกลเป็นประธาน เราไม่เคยปิดกั้น ในทางกลับกัน การทำงานของประธาน กมธ. ของรัฐบาลชุดที่แล้ว บางคณะไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านเสนอวาระใดๆ เลย

 

ที่พรรคร่วมรัฐบาลบอกว่าให้ถอยคนละก้าว ก็ต้องถามว่าท่านถอยหรือยัง ส่วนที่บอกว่า ไม่ต้องเป็นประธาน ให้เป็นรองฯ 1 ก็ได้ ก็ต้องบอกว่า ถ้าตำแหน่งประธานไม่สำคัญ คงไม่มีธงตั้งแต่ต้นว่าทุกกระทรวงที่นั่งต้องได้ประธานกรรมาธิการ ทุกคนรู้ดีว่าเรื่องนี้สำคัญแค่ไหน มันจึงตกลงกันไม่ได้” ปกรณ์วุฒิกล่าว

 

ส่วนผลการเลือกตั้งซ่อมระยอง เขต 3 จะมีผลต่อการจัดสรร กมธ. หรือไม่ ปกรณ์วุฒิตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องการให้ กมธ. ตั้งได้โดยเร็ว จะ 10 หรือ 11 คณะ สุดท้ายก็พูดคุยกันได้ แต่ถ้ายื้อกันไป ตกลงกันไม่ได้หรือไม่ยอมตั้ง เมื่อมีการรับรองผลการเลือกตั้งซ่อมที่ระยอง แล้วพรรคก้าวไกลชนะ จำนวน สส. ก็จะเปลี่ยน ต้องคำนวณสัดส่วน กมธ. ใหม่ ได้เป็น 11 คณะ

 

สถานการณ์ตอนนี้ ไม่ใช่การมาบอกว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่ไม่ยอมถอย แต่คือสถานการณ์ที่ทุกพรรคดันก้าวไกลถอยให้ติดกำแพง แล้วมาถามเราว่าทำไมเราไม่ถอยให้ทะลุกำแพงไปอีก เราไม่เคยยืนยันกระต่ายขาเดียวว่า 10 คณะที่เราต้องการ เราต้องได้ตามนั้นทั้งหมด แต่ปัญหาคือเขายอมให้เราได้แค่ 3 คณะที่เราเลือก และเป็น 3 คณะที่ไม่มีใครเลือกเลย และพยายามให้เราเอาอีก 7 คณะที่ไม่มีพรรคใดเลือกเลยเช่นกัน” ปกรณ์วุฒิทิ้งท้าย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล