วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2566

‘เซีย’ ผิดหวังนโยบายแรงงานรัฐบาลเศรษฐา 1 ไม่เหมือนตอนหาเสียง เรียกร้องนายกฯ ใช้ความกล้าหาญ ทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชน ไม่เช่นนั้นคงถูกต่อว่าโกหก-หลอกลวงแรงงานทั่วประเทศ


เซีย’ ผิดหวังนโยบายแรงงานรัฐบาลเศรษฐา 1 ไม่เหมือนตอนหาเสียง เรียกร้องนายกฯ ใช้ความกล้าหาญ ทำตามสัญญาที่ให้กับประชาชน ไม่เช่นนั้นคงถูกต่อว่าโกหก-หลอกลวงแรงงานทั่วประเทศ

 

วันที่ 12 กันยายน 2566 เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยอภิปรายนโยบายแรงงาน ระบุว่า รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง ที่การแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่มีนโยบายด้านแรงงานเหมือนตอนหาเสียง ทั้งที่ตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยมีนโยบายด้านแรงงานที่ชัดเจนที่สุดพรรคหนึ่ง

 

ในฐานะที่ตนเป็นผู้ใช้แรงงานมากว่า 30 ปี ต้องพูดถึงนโยบายด้านแรงงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แบ่งปัญหาเป็น 3 ประเด็น คือ (1) ค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ค่าแรง 300 กว่าบาทในปัจจุบัน ปรับขึ้นไม่ทันค่าครองชีพที่พวกเราต้องแบกรับ ทั้งที่ค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นรายได้ที่คนทำงานสามารถใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เพื่อให้มีชีวิตอยู่แบบไพร่ทาสไปวัน ๆ

 

นอกจากนั้น กฎหมายคุ้มครองแรงงานที่บังคับใช้อยู่ล้าสมัยมาก ร่างตั้งแต่ปี 2541 ขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมของโลกมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น กระบวนการผลิตไม่เหมือนเดิม มีการจ้างงานรูปแบบใหม่ ๆ ที่สามารถหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงานเต็มไปหมด เช่น คนงานบนแพลตฟอร์มที่สถานะความเป็นแรงงานไม่ชัดเจน แรงงานอิสระที่รับงานผ่านผู้จ้างงานหลายรายไม่ซ้ำหน้า คนงานจ้างเหมาบริการภาครัฐ-ภาคเอกชน ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จากกฎหมายแรงงาน

 

รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยังล้าหลังไม่ทันโลก เช่น วันลาคลอดที่น้อยนิด ขัดแย้งกับสังคมสูงวัยที่ต้องการเร่งอัตราเกิด เวลาการทำงานที่มากเกินไปจนคนทำงานไม่มีวันหยุดพักผ่อนเพียงพอ เหล่านี้คือปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

เซียกล่าวต่อว่า ประเด็น (2) แรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง ทุกสิ้นปีมักมีข่าวปรากฎว่าโรงงานโน้นได้โบนัส โรงงานนั้นปรับขึ้นเงินเดือน ของพวกนี้ล้วนมาจากอำนาจในการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรอง แต่บริษัทกลุ่มนี้ก็มีไม่มากนัก เพราะที่ผ่านมากฎหมายของประเทศไทยลิดรอนสิทธิ์ ไม่ให้มีเสรีภาพในการรวมตัว ไม่ให้คนทำงานโงหัวส่งเสียงต่อรอง

 

แรงงานไทยปัจจุบันรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานได้เพียง 1.5% เท่านั้น เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง สมาชิก 140,278 คน สหภาพแรงงานเอกชน 1,427 แห่ง สมาชิก 411,507 คน ถือว่าน้อยมาก เพราะไทยไม่ยอมรับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98

 

แม้มีการเสนอจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและขบวนการแรงงานมานับสิบปี แต่รัฐยังไม่ให้การรับรอง ส่งผลกระทบต่ออำนาจของคนทำงานและเศรษฐกิจไทยโดยรวม เช่น 25 ตุลาคม 2562 สหรัฐอเมริกาลงนามในคำประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าส่งออกบางประเภทจากไทย มูลค่ารวมราว 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยยกปัญหาของไทยเกี่ยวกับสิทธิแรงงานเรื่องการรวมตัว

 

ประเด็น (3) สวัสดิการประกันสังคม ไม่ตอบโจทย์ผู้ประกันตน เดือนมิถุนายนปีนี้ สำนักงานประกันสังคมมีสมาชิกทั้งหมด 24,465,609 คน มีเงินในกองทุนมากถึง 2,445,679 ล้านบาท เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และยังมีเงินที่รัฐบาลค้างจ่ายอีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จึงต้องสอบถามไปยังนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ว่าบอร์ดประกันสังคมชุดปัจจุบันเป็นมรดกจากคำสั่ง คสช. จะจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดชุดใหม่ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก จัดทำระเบียบเลือกตั้งก็ใช้เวลาถึง 2 ปี เช่นนี้จะไปแข่งขันกับใครได้ และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ ให้ผู้ประกันตน

 

การเพิ่มสิทธิประโยชน์ก็น้อยมาก โดยเฉพาะผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งจากสถิติ ก่อนหน้านี้ผู้สมัครฯ ตามมาตรานี้มีน้อย แต่ยอดพุ่งสูงมากในปี 2563 จากการที่รัฐบาลตั้งเงื่อนไขให้ต้องสมัครเพื่อรับเงินเยียวยา ดังนั้น แม้การมีประชาชนจำนวนมากอยู่ในระบบประกันสังคม เป็นเรื่องน่ายินดี แต่คนที่เข้าระบบฯ ส่วนใหญ่ไม่ได้สมัครเพราะเห็นความสำคัญในกองทุน แต่เข้าเพราะนโยบายอื่นของรัฐแบบชั่วคราว จึงมีความเสี่ยงสูงว่าในอนาคตจำนวนผู้ประกันตนจะหายไป

 

ยังไม่นับปัญหาของกองทุน ที่มีการนำเงินไปลงทุนปรากฎเป็นข่าวเรื่องความไม่โปร่งใส ปัญหาไปโรงพยาบาลบริการล่าช้า รับยาคุณภาพต่ำ ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้แรงงานที่มีการจ้างงานรูปแบบใหม่เข้าเป็นสมาชิกกองทุนได้ จึงฝากไปยังนายกฯ กำชับให้รัฐมนตรีแรงงานเร่งจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม พอเสียทีกับมรดก คสช. ผู้ประกันตนต้องมีสิทธิ์เลือกตั้งตัวแทนของตัวเอง ดูแลผลประโยชน์ให้ได้คุณภาพชีวิตที่ดี สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งกองทุน

 

อย่าให้ผู้ประกันตน อยู่กับบอร์ดไม่มี หนี้ไม่จ่าย เงินก็หาย ไม่ได้สิทธิประโยชน์เพิ่ม ต่อไปอีกเลย” เซียกล่าว


เซียกล่าวด้วยว่า ขอทวนความจำของนายกฯ เศรษฐา เกี่ยวกับสัญญาของพรรคเพื่อไทยที่ให้กับพี่น้องแรงงาน ซึ่งระบุในคำแถลงการณ์วันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ‘พรรคเพื่อไทย พร้อมรดน้ำที่ราก สร้างรากฐานแรงงานให้มั่นคง’ เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มทักษะแรงงาน ผลักดันการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สิทธิวันลาคลอดและสิทธิแรงงานคู่สมรส เป็นต้น

 

แต่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลครั้งนี้ มีเพียงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทและการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น ที่ผ่านมาท่านเองออกแถลงการณ์ต่อว่ารัฐบาลที่แล้วว่าละเลยการดูแลคุณภาพชีวิตแรงงาน แช่แข็งค่าจ้าง ไม่ให้สิทธิการรวมตัว วันนี้ท่านอุตส่าห์กระเสือกกระสนดิ้นรนจนได้เป็นรัฐบาล กลับละเลยไม่สนใจสิทธิพี่น้องแรงงานเช่นเดียวกัน หรือเป็นเพราะศีลเสมอกัน ถึงจับมือกอดคอหัวร่อตั้งรัฐบาลร่วมกันได้

 

อย่าทำเหมือนพรรคการเมืองบางพรรค ที่หาเสียงไว้ตอนปี 2562 ว่าจะปรับค่าจ้าง 425 บาท พอทำไม่ได้มีคนถามมากๆ ก็แอบลบออกจากเพจพรรค ในวันนี้ผมไม่ขออะไรมาก ขอเพียงให้ท่านเป็นคนที่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ดำเนินการตามที่ท่านได้หาเสียงไว้เกี่ยวกับนโยบายด้านแรงงาน” เซียกล่าว

 

เซียยังกล่าวย้ำถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า ก่อนเลือกตั้งหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าจะทำได้จริงหรือไม่ ทุกคนในพรรคเพื่อไทยต่างประสานเสียงว่าทำได้ เคยทำมาแล้ว 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ถ้าเช่นนั้นวันนี้ใครสั่งท่านให้ถอดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำออกจากคำแถลงนโยบาย ตั้งใจทำเอง หรือพรรคร่วมรัฐบาลใดสั่ง หรือกลุ่มทุนผูกขาดขอร้อง

 

วันนี้ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ผมจะถือว่าที่ผ่านมาท่านโกหกผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ อาจมีพี่น้องแรงงานต่อว่าท่านปลิ้นปล้อนกะล่อนหลอกลวง ก็อย่าถือโทษโกรธเคืองกัน ขอให้นายกฯ ยกระดับนโยบายด้านแรงงาน เพราะไม่ได้เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมากมาย ใช้เพียงความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ทั้งหมดนี้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานให้ดีขึ้น ถ้าทำได้ นายกฯ ก็จะเป็นคนที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แรงงานไทยมีชีวิตที่ดีไปพร้อมๆ กัน” เซียระบุ

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา #แถลงนโยบาย