‘พริษฐ์’ หวั่น เป็นการยื้อเวลา ตั้งคณะกรรมการศึกษาประชามติรัฐธรรมนูญ
แม้รัฐบาลยืนยันกรอบเวลาทำงานไม่เกิน 3-4 เดือน
แต่ยังขาดความชัดเจนใน 3 ประเด็น
องค์ประกอบ-ขอบเขต-คำถามประชามติ
วันที่
21 กันยายน 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณีที่ภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบเวลาในการทำงานของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติว่าจะไม่เกิน
3-4 เดือน และยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาเพื่อประวิงเวลา
พริษฐ์ย้ำว่า
พรรคก้าวไกลยังคงยืนยันอีกครั้งว่าไม่เห็นความจำเป็นในการตั้งคณะกรรมการศึกษาด้วย 2 เหตุผล
เหตุผลแรก
ปัญหาการแก้ไขและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เป็นประเด็นที่ถูกศึกษาอย่างต่อเนื่องหลายปี
ผ่านกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมาตลอด
โดยสภาผู้แทนราษฎรได้เคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของรัฐธรรมนูญ
2560 ตั้งแต่ปี 2562 จนกลายมาเป็นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในปี
2563-64 เพื่อเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยกลไกของ
สสร. ซึ่งได้รับความเห็นชอบในวาระที่ 1 และได้มีมติยืนยันว่า
สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งในวาระที่ 2 ก่อนที่บางฝ่ายจะหยิบยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
4/2564 มาใช้เป็นเหตุผลในการปัดตกร่างดังกล่าวในวาระที่ 3
และเสนอให้มีการจัดประชามติก่อน โดยในปี 2565 ญัตติในการเดินหน้าจัดทำประชามติเพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน
ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร.
ที่มาจากการเลือกตั้ง เคยได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากทุกพรรคการเมือง
ส่วนเหตุผลที่สอง
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีหลายขั้นตอนที่ต้องอาศัยเวลาพอควร
หากนับไปถึงวันที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนอาจต้องเข้าคูหาทั้งหมด 4 ครั้ง
มีการทำประชามติ 3 ครั้ง และเลือกตั้ง สสร. อีก 1 ครั้ง พิจารณาแล้วอาจใช้เวลา 2 ปีขึ้นไป ดังนั้น
ยิ่งติดกระดุมเม็ดแรกเรื่องการจัดทำประชามติครั้งที่ 1 เร็วเท่าไร
จะเป็นการลดความเสี่ยง เพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
บังคับใช้ทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป
พริษฐ์กล่าวต่อว่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้แล้ว
ตนคิดว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีความชัดเจนขึ้นเรื่องกรอบเวลา
โดยเฉพาะที่รัฐบาลให้สัญญาว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีกรอบระยะเวลา 3-4 เดือนจึงมีข้อสรุป
ถึงอย่างนั้น ตนยังต้องการเห็นความชัดเจนในอีก 3 ประเด็นเกี่ยวกับคณะกรรมการฯ
ที่จะถูกตั้งขึ้น
ประเด็นที่
1 คือ ความชัดเจนขององค์ประกอบคณะกรรมการ
จะทำอย่างไรให้มีตัวแทนจากทุกชุดความคิดและทุกภาคส่วน
เพื่อให้มีการรับฟังอย่างรอบด้านและเป็นไปตามสัดส่วนของความเห็นที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ
ประเด็นที่
2 คือ ขอบเขตการทำงานของคณะกรรมการฯ จะเป็นอย่างไร
โดยพรรคก้าวไกลคาดหวังว่าคณะกรรมการชุดนี้
จะต้องหารือแนวทางภายใต้หลักการของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดย สสร.
ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ไปย้อนหลักการดังกล่าวซึ่งเคยเป็นข้อสรุปร่วมกันมาแล้ว
ประเด็นที่
3 คือ กรอบของคำถามที่จะใช้ในการจัดทำประชามติ
ซึ่งต้องไม่เพียงแต่กระชับและตรงไปตรงมา
แต่ควรเป็นคำถามที่ยืนยันหลักการของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดย สสร.
ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ไม่เป็นคำถามที่แคบเกินไป (เช่น
เป็นคำถามที่ระบุรายละเอียดเรื่องระยะเวลาทำงานของ สสร. หรือจำนวน สสร.
ที่อาจยังมีความเห็นต่าง) และไม่เป็นคำถามที่กว้างเกินไป (เช่น
เป็นคำถามที่ไม่ยืนยันว่า สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง จนเปิดช่องให้มี สสร.
ที่มาจากการแต่งตั้ง)