‘ศิริกัญญา’ ชี้ แถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐา
ว่างเปล่า-ไร้เป้าหมาย-ไร้ตัวชี้วัด ตัดทอนรายละเอียดสำคัญไม่ตรงปกนโยบายหาเสียง
ติง ‘เศรษฐา’ ครั้งเป็นซีอีโอแถลงเป้าหมายบริษัทด้วยมาตรฐานระดับโลก
แต่แถลงนโยบายรัฐบาลด้วยมาตรฐานเดียวกับรัฐบาลประยุทธ์
วันนี้
(11 กันยายน 2566) ภายหลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร
อาคารรัฐสภาแล้วนั้น ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
เป็นสมาชิกคนแรกที่ขึ้นอภิปรายการแถลงนโยบายในวันนี้ โดยกล่าวถึงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก
โดยระบุว่าคำแถลงนโยบายที่ดีต้องบอกเป้าหมายว่ารัฐบาลใน 4 ปีนี้จะเดินทางไปด้วยเส้นทางไหน
ด้วยวิธีการใด และจะไปถึงเป้าหมายเมื่อไหร่ ซึ่งคำแถลงนโยบายเมื่อครู่นี้
ไม่แตกต่างไปจากเอกสารที่ออกมาก่อนหน้า ไม่ได้บอกอะไร มีแต่คำพูดกว้างๆ
ไม่มีตัวชี้วัดและมีแต่คำขยายเต็มไปหมด ถ้าบอกว่านี่คือจีพีเอส ประเทศก็คงหลงทาง
ว่างเปล่า และเบาหวิว
พรรคการเมืองไหนก็ตามที่คิดกลับคำ
ไม่ยอมระบุนโยบายที่หาเสียงไว้ในการแถลงนโยบายเมื่อได้เป็นรัฐบาล
โดยปราศจากเหตุผลที่รับฟังได้
พรรคการเมืองนั้นก็ย่อมคือผู้ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน
คำแถลงของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ตนขอให้อยู่ในเกรดเดียวกับรัฐบาลประยุทธ์ ที่น่าผิดหวังคือพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมาตรฐานตกจากสมัย
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายชัด
มีนโยบายที่หาเสียงบรรจุไว้ตรงเกือบทั้งหมด มีกรอบเวลาตั้งแต่ช่วง 1 - 4 ปี
การแถลงนโยบายที่ดี
สิ่งแรกที่ควรจะมีคือเป้าหมายที่ชัดเจน ตัวชี้วัดที่วัดผลได้ มีกรอบเวลาชัดเจน
ไม่ใช่แค่บอกว่าอยากให้ประเทศเป็นแบบนั้นแบบนี้แต่ไม่มีตัวชี้วัดว่าประเทศไทยบรรลุเป้าหมายนั้นหรือยัง
ไม่ใช่การเขียนแบบพูดอีกก็ถูกอีก เหมือนพูดว่า “น้ำเป็นของเหลว”
ต่อมา
คำแถลงนโยบายต้องมีคำอธิบายแต่ละนโยบายที่ชัดเจนให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไร
ไม่ใช่เหมือนเป็นแค่คำอธิษฐานหรือ wish list ที่สำคัญ
การหาเสียงเลือกตั้งต้องเป็นสัญญาศักดิ์สิทธิ์
เมื่อได้รับเลือกมาแล้วก็ต้องทำตามสัญญา ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งก็ไร้ความหมาย
สุดท้ายต้องกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการให้ชัดเจน
ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีรายละเอียดชัดเจน ตรงกับนโยบายที่ได้สัญญาไว้
กรอบเวลาก็ชัดมาก แต่ในรัฐบาลปัจจุบัน ก็ไม่เข้าใจว่ามาจากพรรคเดียวกันหรือไม่
เพราะไม่มีทั้งรายละเอียด ไม่มีการกำหนดเป้า ไม่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน
“คุณเศรษฐาแถลงเป้าหมายของบริษัทแสนสิริด้วยมาตรฐานการแถลงเป้าหมายของบริษัทระดับโลก
มีเป้าหมาย กรอบระยะเวลา ตัวชี้วัดที่ชัดเจน แต่พอมาเป็นนายกรัฐมนตรี
คุณเศรษฐากลับแถลงเป้าหมายของรัฐบาลเพื่อไทยด้วยมาตรฐานเดียวกันกับรัฐบาลประยุทธ์
คือเลื่อนลอย ไม่ยอมสัญญาอะไรที่เป็นรูปธรรมทั้งนั้น” ศิริกัญญากล่าว
แต่ที่สำคัญ
คือนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้ของพรรคเพื่อไทย
เมื่อเทียบกับสิ่งที่อยู่ในเล่มแถลงนโยบาย
พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงคำพูดไปอย่างชัดเจน จากที่มีตัวเลขเป้าหมายก็กลายเป็นนามธรรม
จากที่มีตัวเลขระยะเวลาก็ตัดทิ้งไป
การแถลงนี้
ยังเป็นการแถลงที่ปราศจากความทะเยอทะยานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ
หลับตาข้างหนึ่งแล้วก้าวข้ามความขัดแย้งเหมือนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง สามจังหวัดชายแดนใต้ การลดความเหลื่อมล้ำ
ไม่กล้าแตะเรื่องยากที่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ
ทั้งที่ตอนหาเสียงท่านกล้าหาญกว่านี้มาก คล้ายกับตอน พล.อ.ประยุทธ์แถลง
ซึ่งตนคิดว่าเป็นเพราะสองเหตุผล กล่าวคือ
1)
รัฐบาลกลัวการผูกมัด กลัวทำไม่ได้อย่างที่สัญญา
หรือมองว่าบางนโยบายไม่สามารถทำได้
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรหาเสียงกับประชาชนไว้แบบนั้นแต่แรก และ 2) การเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่นโยบายเป็นคนละขั้ว
ซึ่งสุดท้ายหาข้อตกลงไม่ได้จึงต้องเขียนให้ลอยและกว้างไว้ก่อน
แถมที่มาของอำนาจต้องเกรงใจกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มทุน
จึงไม่กล้าทำเรื่องยากที่ต้องปะทะกับใครเลย
ส่วนในด้านเนื้อหานั้น
มีการแบ่งเป็นตามกรอบระยะสั้น และระยะกลางและยาว โดยในกรอบระยะสั้นมี 6 เรื่อง
แต่ยังขาดเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยแล้ง pm2.5
ความขัดแย้งทางการเมือง และชายแดนใต้
เรื่องเหล่านี้ไม่เร่งด่วนอีกต่อไปแล้วเช่นนั้นหรือ?
ส่วนในระยะกลางและระยะยาว
เมื่อไล่ดูนโยบายที่บรรจุไว้เหลือแค่ 3 เรื่อง
ที่ตนอยากเน้นเป็นพิเศษคือการลดความเหลื่อมล้ำ
ที่ถูกลดทอนเหลือแค่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทั้งที่ก่อนเข้าทำงานการเมือง
นายกรัฐมนตรีเคยให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ
มีความคิดที่ตนสนับสนุนเห็นด้วยหลายประการ แต่ตอนนี้กลับไม่เห็นอยู่ในคำแถลงนโยบายแล้ว
จึงอยากถามว่านายกรัฐมนตรียังคิดอยู่แบบเดิมหรือไม่
จุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทยยังคงเดิมอยู่หรือไม่
ต่อมา
ตนขอกล่าวถึงแหล่งรายได้และที่มางบประมาณ โดยเฉพาะต่อนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท
ไม่ว่าจะออกแบบให้เป็นแบบใด รัฐบาลจำเป็นต้องมีเงินสดกองไว้เต็มจำนวน
เพื่อรับประกันว่า 1 บาทในโลกจริงจะเท่า 1 บาทดิจิทัล ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแหล่งที่มาของเงินน่าเชื่อถือหรือไม่
หากทำไม่ได้ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของร้านค้า
และอาจเกิดเป็นเงินเฟ้อในโลกดิจิทัลขึ้นได้
การจะมีเงินสดกองไว้เต็มจำนวน
5.6 แสนล้านบาท มีอยู่สองทางเลือกเท่านั้น คือ 1) การใช้งบประมาณแผ่นดิน
หรือ 2) เงินนอกงบประมาณ
ซึ่งปัญหาของการใช้งบประมาณแผ่นดินปี 2567 จะไม่พออย่างแน่นอน
เพราะงบประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท
มีหลายค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถตัดทอนได้ เช่น งบประมาณชำระหนี้ ดอกเบี้ย เงินคงคลัง
เงินอุดหนุนท้องถิ่น สวัสดิการตามกฎหมาย เหลือใช้จ่ายได้จริงๆ ก็แค่ราว 4 แสนล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเอามาลงในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ทั้งหมด
หรือหากจะใช้ดุลเงินสดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ก็ต้องลดรายจ่ายจาก 1.2
ล้านล้านให้เหลือครึ่งหนึ่ง คุมเงินนอกงบประมาณให้สมดุล
ซึ่งเงินสดก็ยังคงจะไม่พออยู่ดี
จะมีการกู้ชดเชยขาดดุลล่วงหน้ามาใช้กับโครงการนี้หรือไม่
ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็จะเกิดค่าเสียโอกาสคือค่าดอกเบี้ย
หากทำแบบนี้ก็จะสุ่มเสี่ยงว่านอกจากงบประมาณจะไม่พอแล้ว เงินสดก็จะไม่พอด้วย
ส่วนการใช้เงินนอกงบประมาณ
ก็ไม่สามารถใช้ได้ถ้าไม่แก้กรอบวินัยการเงินการคลัง
หรือหากจะยืมเงินกองทุนหมุนเวียนมาใช้
ก็มีสองอยู่กองเท่านั้นคือกองทุนของผู้ประกันตนหรือข้าราชการบำนาญ
ซึ่งก็ไม่สมควรที่จะทำ หรือสุดท้ายหากจะกู้ธนาคารรัฐ ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีกรอบอยู่ที่ไม่เกิน
32% ของรายจ่ายงบประมาณประจำปี ซึ่งวันนี้กำลังจะถึงจุดนั้นแล้ว
หากจะกู้จริงก็ต้องแก้ ม.28 ของกรอบนโยบายการเงินการคลัง
ซึ่งก็จะไม่สง่างามเท่าไหร่
สุดท้ายนี้
ความเสี่ยงที่รัฐบาลต้องพึงระวังและไม่ได้อยู่ในคำแถลงนโยบาย
คือการกระตุ้นเศรษฐกิจสมควรทำ
แต่การวินิจฉัยโรคไม่ถูกก็อาจจะนำไปสู่การรักษาที่ไม่ถูกต้อง
เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ถ้าโตเฉพาะส่วนบน
การลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรมต้องจัดการระบบภาษีไปพร้อมกัน
วิธีคิดนโยบายที่มีแต่การโยกกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา
แต่หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาที่ต้นตอ เช่น
กลุ่มทุนที่สามารถมีอำนาจเหนือตลาดและผูกขาด
ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน
วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว
ไทยเปลี่ยนไปแล้ว ระดับหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
เงินเฟ้อกำลังสูงทั่วโลก ส่งออกก็ไม่รุ่ง ตลาดก็กระจุกตัวขึ้น
รัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร
“ดิจิทัลวอลเล็ตย่อมสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน
แต่มันไม่เพียงพอให้เกษตรกรขุดแหล่งน้ำบรรเทาภัยแล้ง
ไม่สามารถทำให้เกษตรกรได้เอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน
ไม่สามารถช่วยผู้ส่งออกให้ส่งออกเพิ่มหรือไม่ตัดโอทีในโรงงานได้
จึงขอให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญให้ดี จะเทหมดหน้าตักแล้วหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้
แต่ข้อดีของการแถลงกว้างๆ แบบนี้ คือท่านยังมีโอกาสได้แก้ไขในการแถลงงบประมาณ
เพื่อส่งมอบนโยบายอะไรบ้างใน 1 ปีข้างหน้าจากนี้”
ศิริกัญญากล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา #แถลงนโยบาย