วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2566

‘เครือข่ายนักศึกษาฯ’ แถลงจัดรำลึก 47 ปี 6 ตุลา ‘กว่าจะเป็นประชาธิปไตย เทียบเชิญประมุข 3 ฝ่าย บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ ร่วมงาน เพื่อแสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติและประชาชน

 


เครือข่ายนักศึกษาฯ’ แถลงจัดรำลึก 47 ปี 6 ตุลา ‘กว่าจะเป็นประชาธิปไตย เทียบเชิญประมุข 3 ฝ่าย บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ ร่วมงาน เพื่อแสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติและประชาชน

 

วันนี้ (25 กันยายน 2566) เวลา 10.00 น. ที่ห้องจารุพงษ์ ทองสินธุ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายสุเทพ สุริยะมงคล คณะกรรมการจัดการงาน 47 ปี 6 ตุลา 2519 พร้อมด้วย เครือข่ายนักศึกษาฯ ได้แถลงข่าวจัดงานรำลึกครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519 6 ตุลาฯ ‘กว่าจะเป็นประชาธิปไตย’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

นายสุเทพ เริ่มต้นว่า ตนเองเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อปี 2517 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 นั้น ตนรับรู้และเข้าใจ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้เวลาจะผ่านไป 47 ปี แต่ทุกเรื่องราวยังตราตรึงในหัวใจอยู่ตลอดเวลา เรื่องบางเรื่องเราอาจจะลืมได้ แต่เรื่องนี้ผ่านมา 47 ปี อยากจะลืมแต่ลืมไม่ลง และในครั้งนี้ครบรอบ 47 ปีเราได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ให้ใช้สถานที่ในการจัดงาน ซึ่งสถานที่นี้เป็นสถานที่จริงที่ใช้ในการเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนจำนวนมาก

 

ด้านนายนัสรี พุ่มเกื้อ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนในฐานะ เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 47 ปี 6 ตุลา‘กว่าจะเป็นประชาธิปไตย’ กิจกรรมนี้เป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาในหลาย ๆ สถาบันที่มีเจตนารมณ์ในการธำรงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน บนเส้นทางอันได้มาซึ่งประชาธิปไตยในปัจจุบัน

 

การจัดงานในวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้ภายใต้ชื่องานว่า 47 ปี 6 ตุลาฯ ‘กว่าจะเป็นประชาธิปไตย’ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

โดยเราได้เล็งเห็นประวัติศาสตร์ของประชาชน จึงร่วมกันจัดกิจกรรมขึ้น เพื่อนำเสนอการต่อสู้ของประชาชนให้กับผู้ที่สนใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และขบวนการต่อสู้ของประชาธิปไตย ซึ่งเราได้มีการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานใหม่ ๆ มาเปิดเผยในกิจกรรมของงาน ด้วยความมุ่งหวังว่าประชาชนไทยรุ่นปัจจุบันและอนาคต จะมีความเข้าใจที่ชัดเจนต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2619 ที่เกิดขึ้น ตลอดจนเป็นบทเรียนและบอกต่ออนุชนคนรุ่นหลังได้ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติที่พึงจดจำ หาใช่ประวัติศาสตร์ของรัฐไทยที่พยายามกลืนไปกับความทรงจำของประชาชน

 

สำหรับกิจกรรมในงานจะแบ่งเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงเช้า จะเป็นการรำลึกวีรชนที่เสียชีวิต จะมีพิธีสงฆ์และพิธีวางพวงมาลาอาลัยต่อวีรชน

 

ช่วงสาย จะมีปาฐกถาพิเศษรำลึกเหตุการณ์ประจำปี โดยในปีนี้จะเป็นในหัวข้อ "แด่ทุกต้นกล้าความฝัน ตื่นจากฝันร้ายของอำนาจนิยมและทุนผูกขาดสู่รัฐสวัสดิการ" โดยรศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

จากนั้นจะเป็นการมอบรางวัล "จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย" และรางวัล "สิทธิมนุษยชนคนธรรมดา"

 

จบใจเวลาต่อมาจะเป็นการแสดงความไว้อาลัยและกิจกรรมรำลึกประวัติศาสตร์ต่อวีรชน ในคอนเซ็ปต์ 3 ประสานขึ้นมาอีกครั้ง โดยตัวแทนจากภาคประชาชน 3 ส่วนได้แก่นักศึกษา ชาวนาและกรรมกรผู้ใช้แรงงาน และตัวแทนจากภาคการเมือง

 

ส่วนกิจกรรมช่วงบ่าย จะเป็นการเล่าขานสารคดี 6 ตุลา และภาพยนตร์สั้น เรื่องราวเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งจะได้มีการนำภาพยนตร์ ที่กำกับโดย 'ภาษิต พร้อมนำพล' เรื่อง 'พิราบ' มาจัดฉายและจะได้มีการถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในคอนเซ็ปต์ 'กว่าจะเป็นประชาธิปไตย' ตามชื่องานในปีนี้

 

ซึ่งปีนี้จะมีวิทยากรสุดพิเศษและกิจกรรมเซอร์ไพรส์ ที่อยากจะให้ทุกคนติดตาม รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ เช่นการประชันวาที การเสวนา และบูธนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่งได้มีการเชิญพิพิธภัณฑ์สามัญชน มาร่วมจัดแสดงในหอประชุมศรีบูรพา ด้วย ตั้งแต่เวลาเที่ยงเป็นต้นไป

 

หลังจากนั้นช่วง เวลา 16.00 น จะมีกิจกรรม Walking Tour โดยพี่ ๆ เดือนตุลา หนึ่งในอดีต 18 ผู้ต้องหา นักแสดงจำลองเหตุการณ์ อุ้มฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้า ที่จังหวัดนครปฐม 2 ราย ที่ติดประกาศต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ทรราชผู้สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 อันเป็นชนวนเหตุสำคัญในการปลุกระดมเพื่อเข่นฆ่าประชาชนในสถานศึกษาวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในเวลาต่อมา อีกทั้งยังมีนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ท่านอื่น ๆ อีกที่จะมาร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรม Walking Tour

 

ส่วนกิจกรรมช่วงเย็นจะเป็นการแสดง ในชุด"บ้านเมืองของเรายังคงลงถังแดง" โดย TU Drama รวมถึงบทเพลงปฏิวัติ และพิธีจุดเทียนรำลึกวีรชนสานต่ออุดมการณ์คนเดือนตุลา โดยกิจกรรมนี้จะเป็นการตักเตือนแก่อดีตนักกิจกรรมทั้งหลายที่ถืออำนาจการปกครองอยู่ หรือมีส่วนทำให้เกิดระบบที่บิดเบี้ยว ได้สำเหนียกถึงอุดมการณ์ของพวกเขาเหล่านั้นในอดีตว่าพวกเขาได้แสดงไว้อย่างไร และความประพฤติที่เขาปฏิบัติอยู่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์ของเขาหรือไม่อย่างไร

 

ขณะที่นายธีรวัฒน์ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าในนามเครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 47 ปี 6 ตุลาคม ซึ่งปีนี้เป็นการครบรอบ 47 ปีแห่งอาชญากรรมรัฐ 47 ปีแห่งความมืดมน การไร้ซึ่งการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมของรัฐ และการไร้ซึ่งการขอโทษอย่างเป็นทางการของรัฐไทย

 

ดังนั้นเครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 47 ปี 6 ตุลา จึงขอประกาศเชิญประมุขทั้ง 3 ฝ่าย อันได้แก่นายกรัฐมนตรีประมุขฝ่ายบริหาร ประธานรัฐสภาประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ และประธานศาลฎีกาประมุขฝ่ายตุลาการ มาร่วมแสดงความเคารพต่อวีรชนและแสดงจุดยืนของท่าน ในการให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติประวัติศาสตร์ของประชาชน และเราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ต่อไป

 

ทั้งนี้เราขอขอบคุณที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้ทำหนังสือเรียนเชิญประมุขทั้ง 3 ฝ่ายมาเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปีตามคำร้องขอของเครือข่ายนักศึกษา

 

ธีรวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า จนถึงปัจจุบันนี้ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่หลงเชื่อข่าวลวงที่รัฐไทยสร้างขึ้นตั้งแต่ในช่วงเหตุการณ์ก็ดี ภายหลังเหตุการณ์ก็ดี เครือข่ายนักศึกษาฯจึงอยากขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกท่านเปิดใจรับฟังข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ของชาติ อันอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานและประจักษ์พยานต่างๆ ที่ยังคงเป็นร่องรอย ที่ยังคงเป็นบาดแผลในหัวใจของใครอีกหลายต่อหลายคน เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ควรถูกจดจำอยู่ในฐานะของผู้ที่พ่ายแพ้และบุคคลเหล่านี้ควรถูกกล่าวขานในฐานะวีรชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

 

สุดท้ายนี้กว่าเราจะสามารถจัดกิจกรรมรำลึกครั้งแรกได้ ก็ผ่านเหตุการณ์นี้มากว่า 20 ปีจากความพยายามปิดกั้น กวาดล้างและทำให้เลือนลางหายไป ทางเครือข่ายนักศึกษาฯ จึงขอเชิญชวนทุกท่านคอยเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่คาดคิด เหตุการณ์ที่จะสร้างอุปสรรคต่าง ๆ ไม่ให้เราได้จัดงานได้อย่างสะดวก ดังที่ทุกท่านเห็นมาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่นการไม่อนุญาตให้จัดงานด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา การปิดลานประติมากรรม หรือการไถปรับปรุงสนามบอลในช่วงพอเหมาะพอเจาะกับการจัดกิจกรรมของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นในธรรมศาสตร์เองก็ดี หรือในต่างจังหวัดก็ดี

 

และขอเชิญชวนองค์กรผู้แทนตลอดจนองค์กรกิจกรรมของนักศึกษาทั่วประเทศร่วมจัดกิจกรรมรำลึกประวัติศาสตร์ของประชาชน ประวัติศาสตร์ของชาติ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้ไปพร้อมกันทั่วประเทศ

 

สำหรับความสำคัญของการเชิญประมุข 3 ฝ่ายมาร่วมงานในครั้งนี้ เครือข่ายนักศึกษาฯ ระบุว่าประการแรก เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คือ การกระทำความรุนแรงโดยรัฐ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ เจ้าหน้าที่และบุคคลต่าง ๆ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาในนามของรัฐ สำคัญที่สุดจึงจำเป็นต้องมีการแสดงออกจากรัฐในการยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนประการที่สอง เป็นเรื่องของการแสดง Public Apology (การขอโทษต่อสาธารณะ) ว่าครั้งหนึ่งรัฐเคยกระทำผิดพลาด ก่ออาชญากรรมต่อประชาชน การประมุขทั้ง 3 ฝ่ายมาร่วมงาน เป็นการแสดงออกว่าได้มีการขอโทษต่อความผิดในเหตุการณ์ต่อสาธารณชน เช่นเดียวกับกรณีที่ครอบครัวอดีตประธานาธิบดีและเผด็จการเกาหลีใต้ ออกมาขอโทษญาติผู้ถูกสังหารจากเหตุการณ์ประท้วงที่กวางจู เมื่อปี 2523 และการมาร่วมงานรำลึกในทุก ๆ ปี

 

ด้านนายสุเทพ กล่าวในช่วงท้ายว่า สังคมมีความแตกแยกทางความคิด ปัญหาสำคัญคือว่าเราควรจะให้ที่ยืนสำหรับคนที่มีความคิดต่างจากเรา ในเหตุการณ์ 6 ตุลา คนคิดต่างถูกทำลายอย่างร้ายแรง อย่างป่าเถื่อน อย่างที่คนทั่วไปไม่เคยเจอ สิ่งที่เราจัดในวันครบรอบ 47 ปีก็เพื่อ ให้ผู้ที่มีความคิดต่างได้มีที่ยืน ได้มีการพูดคุยกันอย่างสันติ เราทุกคนคงไม่ปรารถนาให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้นอีกนี่คือบทเรียน เมื่อ 47 ปีที่แล้ว แต่หลัง 47 ปีผ่านมา ก็ยังมีพฤษภาคม 35 พฤษภาคม 53 เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้น เราควรจะพูดคุยกัน และมีที่ยืนให้กับคนเห็นต่าง ไม่ใช่มาเข่นฆ่ากันเช่นนี้

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #6ตุลา   #47ปี6ตุลา