วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566

'เศรษฐา' ชนหมัด 'ชัชชาติ' หารือตั้ง คกก.ชุดเล็ก สนับสนุนแนวทางพัฒนา กทม.

 


'เศรษฐา' ชนหมัด 'ชัชชาติ' หารือตั้ง คกก.ชุดเล็ก สนับสนุนแนวทางพัฒนา กทม.


วันนี้ (18 ก.ย. 66) เมื่อเวลา 13.15 น. ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดโอกาสให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าพบและหารือข้อราชการร่วมกันเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร  


โดยนายกฯ กล่าวว่า วันนี้บรรยากาศสบายๆ อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เวลามีการพูดคุยกันจะได้เป็นกันเอง ซึ่งเชื่อว่าวิธีอย่างนี้เป็นวิธีการที่เราสามารถพูดคุยกันได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องมีองคาพยพใหญ่ กรุงเทพฯเป็นจังหวัดที่ใหญ่ 1ใน 3 ของจีดีพีของประเทศอยู่ที่นี่ เป็นอะไรที่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศมีความคาดหวังเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว เรื่องฝุ่น เรื่องปัญหารถติด เรื่องการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง กรุงเทพฯถูกเป็นที่หมายตาของทุกๆท่าน 


นายกฯ กล่าวอีกว่า ตนกับนายชัชชาติ รู้จักกันมานาน วันนี้อย่างที่บอกคุยกันสบายๆ เราก็มีการคุยกันตั้งแต่ก่อนโควิด19 จำได้นายชัชชาติมาหาตนที่ทำงานเก่า โดยตนยังบอกว่าท่านน่าจะสมัครเป็นนายกฯ ไปเลย ไม่ต้องผู้ว่าฯหรอก ท่านยังบอกว่าขอเป็นผู้ว่าฯดีกว่า และให้ตนมาเป็นนายกฯแทน เราจะได้ทำงานร่วมกันเหมือนพี่ๆน้องๆมานั่งคุยกันอย่างสบายๆ วันนั้นจริงๆก็ไม่นึกไม่ฝันจะมีบรรยากาศอย่างวันนี้ ที่เรามานั่งคุยกันอย่างพี่ๆน้องๆได้ พอตนเข้ารับตำแหน่งอาทิตย์ที่ผ่านมาหนึ่งในบุคคลสำคัญที่คิดถึงคนแรกคือนายชัชชาติ ซึ่งท่านมาด้วยฉันทามติที่ท่วมท้น 1.4 ล้านคะแนน ซึ่งถือว่าสูงมากในประวัติศาสตร์ และถือว่าเป็นภารกิจแรกๆที่ตนอยากจะทำ อยากจะพูดคุย อยากจะสนับสนุนนายชัชชาติให้ทำงานลุล่วงไปด้วยดี เพราะกรุงเทพฯเป็นภาคส่วนที่สำคัญมากของการขับเคลื่อนประเทศ ปัญหาต่างๆมีเยอะมาก


นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้เรามานั่งคุยตรงนี้เกิดจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตนรับประทานอาหารกลางวันแบบเป็บกันเองกับผู้ว่าฯและ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและมว.มหาดไทย ดำริกันว่าจะตั้งคณะกรรมการชุดเล็กขึ้นมาประมาณ 6-7 คน เท่านั้น ในการขับเคลื่อนกรุงเทพฯโดยการใช้นโยบายเป็นหลัก ส่วนเรื่องการใช้งบประมาณคงมีน้อยมาก


“หน้าที่รัฐบาลคือสนับสนุนผู้ว่าฯชัชชาติให้แก้ไขปัญหา อย่างน้อยๆอะไรทำได้ก็ทำก่อน โดยที่อาจจะใช้งบประมาณน้อยหรือไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเลย หนักไปในเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงอยู่กับผมเอง ซึ่งให้ท่านเหล่านั้นมาซับพอร์ตผู้ว่าฯชัชชาติ ทั้งเรื่องการจราจร อาชญากรรม หรือเรื่องรถติด ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่มาก ซึ่งสามารถบรรเทาลงไปได้ ผมใช้คำว่าบรรเทาลงไปได้จากการประสานงานที่ดีกว่า ฉะนั้นผู้ว่าฯเองก็มีพูดคุยเสนอและมีคณะกรรมการที่เราพูดคุยกัน หน้าที่ผมคือสนับสนุนผู้ว่าให้ทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่” นายกฯ กล่าว


ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ทำงานมา 1 ปี พบว่าปัญหาของกรุงเทพฯ ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากการประสานของหน่วยงาน เพราะกทม.มีอำนาจค่อนข้างจำกัด เพราะฉะนั้นถ้าหากเรามีการประสานงานที่เข้มข้นและมีทิศทางที่ชัดเจนจากฝ่ายบริหาร ปัญหาหลาย ๆ ที่เจอก็จะบรรเทาไปได้มาก


"จึงขอกราบเรียนนายกฯ ว่า อยากให้มีคณะกรรมการที่เป็นคณะทำงานเพียงไม่กี่คน ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น รมว.มหาดไทย รมว.คมนาคม ตำรวจ นายกฯ และเลขาธิการนายกฯ และผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเป็นกลุ่มทำงานโดยไม่เน้นเมกะโปรเจค ไม่เน้นเรื่องการลงทุน แต่เน้นเรื่องการผลักดันสิ่งที่เป็นข้อปัญหาติดขัดต่างๆ" นายชัชชาติ กล่าว 


ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในส่วนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องทำไปอีกส่วนหนึ่ง อาจจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องดำเนินการ แต่ปัญหาเร่งด่วนเรื่องการประสานงานก็จะทำโดยคณะทำงานชุดนี้ 


"ผมได้เรียนนายกฯ ไปแล้วว่า คณะทำงานจะต้องไม่เกินพิซซ่า 2 ถาด อย่าให้เยอะ เพราะถ้าคณะทำงานเยอะแล้วมันไม่จบ ขอให้เป็นเรื่องสั้น ๆ ทานข้าวกัน คุยกัน และอัปเดตข้อมูลซึ่งกันและกัน ซึ่งนายกฯ ก็เร็วและเห็นด้วย ซึ่งผมเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี" นายชัชชาติ กล่าว


นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจราจร ทุกคนเห็นว่าเป็นปัญหา เรื่องนี้กทม.รับผิดชอบส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกันถ้าดูเรื่องการก่อสร้างในพื้นที่กทม. ก็จะเกี่ยวข้องทั้งในส่วนของรถไฟฟ้า รถไฟทางหลวง การทางพิเศษ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง ดังนั้นการไปผลักดันด้วยตัวเราเองมันไม่ง่าย แต่ถ้าเรามีคณะกรรมการ ซึ่งสามารถสั่งการและมีทิศทางที่ชัดเจน ปัญหาเหล่านี้ก็จะบรรเทาได้มาก หรือแม้แต่การทำเรื่องรถไฟฟ้าที่มีแนวคิดในการเชื่อมโยงฟุตบาททางเท้า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถไฟฟ้า รถประจำทาง ซึ่งทั้งหมดคือภาพของการเดินทาง รถจะหายติดได้ไม่ใช่เฉพาะแค่รถไฟฟ้า แต่จะต้องเป็นองคาพยพที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งรถประจำทาง ฟุตบาททางเท้า ทางเดินต่างๆ มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เป็นภาพรวม ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องของการลงทุน เป็นเรื่องเชิงนโยบายที่สามารถสั่งลงไปได้ 


นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า แม้แต่เรื่องทางเศรษฐกิจ นายกฯได้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ การสร้างอัตลักษณ์ ซึ่งกทม.มีทั้งหมด 50เขต ปัจจุบันสร้างเป็นซอฟต์พาวเวอร์ 50 ด้าน จึงอยากเสนอกับนายกฯ ว่า เรื่องที่อยู่อาศัย ถือเป็นเรื่องสำคัญกับคนที่มีความยากลำบาก ปัญหาปัจจุบันคือคนจนไม่มีที่ดิน หาบเร่แผงลอย ต้องมาอาศัยฟุตบาททางเท้า เนื่องจากไม่มีที่ทำกิน แต่หากทางภาครัฐนำพื้นที่ของตนเอง เช่น ใต้ทางด่วน พื้นที่หน่วยราชการที่อาจสามารถแบ่งปันให้ประชาชนทำมาหากินได้ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แค่การแบ่งปันพื้นที่ก็จะสามารถบรรเทาปัญหาเศษฐกิจของประชาชนได้ 


นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า อีกแนวคิดคือ เรื่องการท่องเที่ยว ปัญหาที่เราเจอและทุกคนพูดถึงคือ เรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว การโกงนักท่องเที่ยว ทั้งรถตุ๊กตุ๊ก รถแท็กซี่ ไกด์ผี ที่สร้างความไม่สบายใจกับนักท่องเที่ยว ซึ่งกทม.แก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายตำรวจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ถ้าเราสามารถร่วมมือกันได้อย่างบูรณาการก็จะเป็นตัวแก้ปัญหาได้ดี  


นายชัชชาติ ยังได้กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจัดเทศกาลฤดูหนาว ช่วงปลายเดือนธ.ค.โดยจะขอทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน ก็จะทำให้กทม.มีเทศกาลฤดูหนาวอย่างยิ่งใหญ่เหมือนที่เคยมา และอยู่ในปฏิทินโลก ทุกคนจะเดินทางมาท่องเที่ยว รายได้ก็จะลงไปถึงรากหญ้า สร้างความเชื่อมั่นให้เราดีขึ้นได้ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหา ฝุ่น PM 2.5 การควบคุมการเผาขยะ การควบคุมการใช้รถยนต์ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในนโยบายอยู่แล้วก็จะเดินหน้าต่อ 


สำหรับปัญหาที่ชาวกทม.บ่นกันมาก นายชัชชาติกล่าวว่า คือเรื่องของสายสื่อสารที่เลอเทอะ รกรุงรัง ซึ่งกทม. ทำเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การไฟฟ้านครหลวง ซึ่งกทม.เองมีอำนาจแค่การขอความร่วมมือ แต่ถ้ามีเชิงนโยบายที่ชัดเจน ก็จะสามารถผลักดันได้เร็วขึ้น ซึ่งหากมีคณะกรรมการชุดนี้ ก็จะเป็นชุดที่สามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนของ กทม.ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงงบประมาณ แต่อยากให้มีการประสานงานและเป้าหมายรวมกัน ก็จะสามารถเห็นภาพได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม 


ขณะที่ นายเศรษฐา กล่าวในช่วงท้ายว่า ตนเห็นด้วยกับสิ่งที่นายชัชชาติพูดและเสนอมา หน้าที่ตนสนับสนุนน้องชายที่ดูแลภาคส่วนที่ใหญ่ของกรุงเทพฯและจะช่วยสั่งการในหน่วยงานที่ผู้ว่าฯไม่มีอำนาจสั่งการโดยตรง ก็จะสั่งการผ่านคณะทำงานเล็กๆของเรา ถ้าเป็นชุดใหญ่ก็จะเป็น นายอนุทิน จะเป็นเรื่องการไฟฟ้าก็ทำได้หลายอย่าง ขณะที่กระทรวงคมนาคมก็มีเรื่องรถเมล์รถไฟฟ้า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็เป็นเรื่องการจราจรความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว สกัดการโกงกิน วันนี้ที่เราพูดคุยกันก็จะมีคณะกรรมการเกิดขึ้น และจะมีการนำเสนอผลงานและขั้นตอนการทำงานต่างๆให้กับสื่อมวลชนฟังอย่างต่อเนื่อง วันนี้เป็นเพียงการมาพูดคุยกันและแจ้งให้ทราบเฉยๆ 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าวร่วมกันนายกฯได้ยืนคู่กับนายชัชชาติ ให้สื่อมวลชนบันทึกภาพ พร้อมกับชนกำปั้นกัน และนายกฯได้เอามือโอบไหล่นายชัชชาติ อย่างอารมณ์ดี พร้อมหมุนตัวให้ช่างภาพได้บันทึกภาพอย่างทั่วถึง 


เมื่อถามว่าจะทำงานในลักษณะพี่น้องหรือไม่ นายกฯตอบว่า ใช่ครับ ก่อนขออนุญาตจบการแถลงข่าวเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปสหรัฐอเมริกา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐบาลเศรษฐา #ผู้ว่าชัชชาติ