"วิโรจน์" เทียบมาตรฐานคำแถลงนโยบายต่ำกว่ารัฐบาล "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" หวัง"เศรษฐา" เป็นนายกฯ ของคนไทย ไม่ใช่ลูกน้องกลุ่มอำนาจเก่า-พรรคร่วมฯ ย้ำ อย่าลืมกระสุนจริงที่ใช้ในปี 2553 กว่า 117,923 นัด กับคนตาย 99 ศพ
วันที่ 12 กันยาย 2566 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปรายสรุปในส่วนของพรรคก้าวไกล ต่อการแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยในช่วงหนึ่ง ได้ระบุถึงกรณีที่ภูมิธรรม เวชยชัย ชี้แจงพาดพิงถึงพรรคก้าวไกลว่าขอให้อยู่กับความจริง ไม่ใช่ความฝัน โดยระบุว่าสิ่งที่พวกตนอภิปรายมาทั้งหมดนั้น ล้วนมาจากสิ่งที่พรรคเพื่อไทยประกาศหาเสียงไว้ ถ้านี่คือความเพ้อฝัน นั่นก็หมายถึงสิ่งที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเป็นเรื่องของความเพ้อฝันเช่นกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกตนเสนอจึงไม่ใช่สิ่งที่เพ้อฝัน เอามันเอาสะใจ แต่เราเพียงถามหาความจริงใจ ว่าสิ่งที่ท่านพูดกับประชาชน มีเขียนเอาไว้ในคำแถลงนโยบายหรือไม่ และที่สำคัญคือเราโตพอแล้ว เราถึงจะไม่ถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกต่อไป
จากนั้น วิโรจน์จึงได้ไล่สรุปคำแถลงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล โดยระบุว่านอกจากนโยบายเงินดิจิทัลแล้ว ที่เหลือเป็นการเขียนนโยบายที่กว้างจนไม่เห็นรายละเอียดถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาล ไม่มีการแยกหมวดหมู่ของนโยบาย ไม่กล้ารับปากกับพี่น้องประชาชน สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งสรรผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลข้ามขั้วที่อาจจะยังไม่ลงตัว โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงนักแสดงนำชาย ที่เราสงสัยว่าท่านจะมีอำนาจในการตัดสินใจจริงหรือไม่
คำแถลงนโยบายตั้งแต่สมัย ทักษิณ อภิสิทธิ์ ยิ่งลักษณ์ และประยุทธ์ ต่างมีการแบ่งหมวดหมู่เอาไว้อย่างชัดเจน สมัยทักษิณ 1 มี 29 หน้า แยกหมวดหมู่, ทักษิณ 2 มี 26 หน้า แยกหมวดหมู่, อภิสิทธิ์ 36 หน้า, ยิ่งลักษณ์ 44 หน้า แม้แต่ประยุทธ์ ยังมีถึง 36 หน้า แต่ของเศรษฐา ทวีสิน กลับมีแค่ 14 หน้า และไม่มีการแยกหมวดหมู่นโยบายเหมือนกับรัฐบาลก่อนๆ
การสื่อสารนโยบายยังมีความกลับไปกลับมา เช่นที่ผ่านมาในกรณีดิจิทัลวอลเลต ในวันที่ 24 ส.ค. ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะได้ใช้ในเดือน เม.ย. ปีหน้าก่อนสงกรานต์ ต่อมาวันที่ 6 ก.ย. นายกรัฐมนตรีก็มาบอกว่าเป็นเดือน ก.พ.
ต่อมาวันที่ 3 ก.ย. ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยบอกว่จะทยอยโอน 2-3 งวด วันถัดมาเพจพรรคเพื่อไทยมาโพสต์บอกว่าจ่ายงวดเดียว แต่เดิมทีมเศรษฐกิจบอกว่าจะใช้เทคโนโลยี Blockchain แต่ต่อมาวันที่ 6 ก.ย. ช่วงเช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่าจะดำเนินการผ่านแอพลิเคชั่น “เป๋าตัง” และบ่ายวันเดียววัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังบอกว่าจะทำผ่าน Blockchain เท่านั้น
นี่ไม่ใช่แค่การสวนกันระหว่างรัฐมนตรีช่วยกับรัฐมนตรีว่าการระทรวงการคลัง แต่เป็นการสอนมวยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังด้วยจากพรรคเดียวกัน ตกลงสองท่านอยู่ในวง LINE เดียวกันหรือไม่ ที่บอกว่าจะสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ตนคิดว่าน่าจะหมุนจริงๆ เพราะแค่ฟังการพูดเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาประชาชนก็หัวหมุนอยู่พอสมควร นโยบายที่พูดกี่ทีก็ไม่ตรงกันแบบนี้ข้าราชการจะทำงานได้อย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ แต่วันนี้ก็คลายความกังวลลงไป ก็คือรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เมื่อวันที่ 5 ก.ย. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เลยไม่ได้เขียนไว้ในนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาแค่วันเดียวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องออกขอโทษอ้างว่าสื่อสารผิดพลาด จะทำให้สำเร็จใน 2 ปี แต่พอนักข่าวมาถามนายกรัฐมนตรีว่า 2 ปีจริงไหม ท่านก็บอกเพียงแค่ว่าจะทำทันที แต่ “รอนิดหนึ่ง”
ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ต้องถามเพิ่มเติมแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย ว่าหนี้ค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเกือบ 60,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลก่อนบีบให้ กทม. รับโอนมาจาก รฟม. นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะตัดสินใจอย่างไร
วิโรจน์กล่าวต่อไป ว่านโยบายที่ไม่ชัดเจน สื่อสารไม่ตรงกัน พูดชักเข้าชักออกแบบนี้ ถ้าไม่แก้ไขจะมีปัญหาในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างมาก เพราะข้าราชการก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มงานอย่างไร พอเริ่มแล้วรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีพูดไม่ตรงกันก็จะเสียเวลา สุดท้ายนโยบายก็จะดำเนินการไปอย่างล่าช้า ผลกระทบก็ตกอยู่กับประชาชน
“ตกลงแล้วนายกรัฐมนตรี อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจริงหรือเปล่า ที่ท่านบอกว่าจะเอานโยบายผู้ว่า CEO มาปัดฝุ่น ท่านนายกฯ ควรเป็น CEO ของรัฐบาลนี้ให้ได้ซะก่อน” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ยังอภิปรายต่อไป ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดของคำแถลงนโยบายฉบับนี้ ไม่ใช่แค่การสื่อสาร แต่คือการที่ประชาชนไม่เห็นความทะเยอทะยานและความกล้าที่จะรับปากให้คำมั่นกับประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปไตยที่คนไทยภาคภูมิใจก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณ 1 ทักษิณ 2 หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์
หลายท่านก็เคยเห็นความองอาจของรัฐบาลทั้ง 3 นี้มาแล้ว เช่น ในยุครัฐบาลทักษิณ 1 นายกรัฐมนตรีกล้าประกาศนโยบายอย่างชัดเจน พักหนี้ให้เกษตรกรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี ตั้งกองทุนหมู่บ้านแห่งละ 1 ล้านบาท สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเสียค่าใช้จ่าย 30 บาทต่อครั้ง ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ กล้าเขียนชัดว่าแรงงานจะมีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท แล้วทำได้จริงด้วย คนที่จบปริญญาตรีมีรายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 บาท
แล้วยุคนายกเศรษฐา ค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 ทำไมไม่เขียนตรงๆ แบบนั้น ทำไมต้องเขียนแบบคลุมเครือว่า “ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม” ตนขอถามตรงๆ เลยว่าปี 2567 ที่อีกไม่กี่เดือนก็จะถึง ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมจะเป็น 400 บาท ตามที่ท่านปราศรัยต่อหน้าพี่น้องชาวดอนเมืองเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2566 และย้ำอีกครั้งกับพี่น้องชาวสกลนครเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 หรือไม่
และเมื่อวานนี้เวลา 17.00 เศษๆ ตนได้ยินนายกรัฐมนตรีเศรฐามาตอบกลางสภาแล้วไม่สบายใจ เพราะค่าแรง 600 บาทของท่าน ท่านบอกว่าต้องอยู่บนข้อสันนิษฐานว่าเศรษฐกิจจะต้องโตถึง 5% จนมีข้อกังวลว่าถ้าปีไหนเศรษฐกิจไม่โตถึง 5% ภายในปี 2570 ค่าแรงจะถึง 600 บาทหรือไม่
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คำแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ประกาศชัด ว่าอายุ 60 - 69 จะได้เดือนละ 600 บาท 70 - 79 ได้ 700 บาท 80 - 89 ได้ 800 บาท และ 90 ขึ้นไป ได้ 1,000 บาท เป็นมรดกทางนโยบายมาจนกระทั่งวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน ที่วันนี้ก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้จะเอาอย่างไร มีแต่ในคำแถลงนโยบายว่าจะดูแลผู้สูงอายุให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ด้วย “สวัสดิการโดยรัฐ” ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงแล้วผู้สูงอายุ 11 ล้านคน จะต้องพิสูจน์ความจนหรือไม่
เช่นเดียวกัน เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ประกาศเลื่อนจ่ายเด็ก 2.3 ล้านคน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งพรุ่งนี้ตนก็คาดหวังว่าจะมีการรีบอนุมัติงบกลางไปจ่ายเสียให้ทันภายในวันที่ 18 ก.ย. และที่ต้องประกาศให้ชัดเจน ก็คือต่อไปจากนี้จะเอาอย่างไรกับนโยบายสวัสดิการ จะสร้างเงื่อนไขอะไรเพื่อตัดสวัสดิการของประชาชนหรือไม่
วิโรจน์อภิปรายต่อไป ถึงนโยบายเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยระบุว่าที่นายกรัฐมนตรีได้รับปากกลางสภาแห่งนี้ไว้แล้ว ว่าจะเพิ่มเป็น 3 เท่าภายใน 4 ปี ตนพออุ่นใจได้บ้าง ตนขอถามตรงๆ ว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์
นโยบายที่บอกว่าจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทันที เข้าใจว่าในวันพรุ่งนี้จะมีมติ ครม. ให้ปรับลดราคาไฟฟ้าลง แต่ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการชะลอคืนหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือการจะใช้งบ 15,000 ล้านบาทไปอุดหนุนค่าไฟฟ้า ตนยืนยันว่านี่จะเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้า เอาเงินล้วงกระเป๋าภาษีจากประชาชนอีกข้างหนึ่งไปจ่ายให้นายทุนแค่นั้นเอง
นายกรัฐมนตรีต้องตอบให้ชัด ว่าจะจัดการกับต้นตอของปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่เกิดจากการกินรวบของนายทุนโรงไฟฟ้าอย่างไร จะบริหารจัดการอย่างไรกับปริมาณไฟฟ้าสำรองที่สูงถึง 50% ของปริมาณความต้องการใช้ และจะทำอย่างไรกับสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ กฟผ. ต้องจ่ายค่าพร้อมจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน ที่ไม่ได้เดินเครื่อง แต่ทำตัวเป็นเสือนอนกินรับเงินจากรัฐบาลฟรีๆ และจะทำอย่างไรโควต้าพลังงานหมุนเวียนที่ประเคนให้กับนายทุนพลังงานผูกขาดหน้าเดิมๆ
คำแถลงนโยบายนี้ ไม่มีนโยบายที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้เลย รัฐบาลประยุทธ์ยังเขียนคำแถลงนโยบายในเรื่องพลังงานได้ชัดเจนกว่านี้ เพียงแต่เขียนอย่างเดียว แต่ไม่ยอมทำ สุดท้ายประชาชนก็คงไม่พ้นต้องยอมให้นายทุนรีดไถค่าไฟแพงๆ ต่อไป พอจ่ายไม่ไหวรัฐบาลก็แค่ล้วงเอากระเป๋าอีกข้างไปจ่ายให้นายทุนแทน พอประชาชนพอจะมีแรงลุกขึ้นมาไหวสักหน่อยก็ปล่อยให้นายทุนไถต่อไป
“ขุมทรัพย์พลังงานของประเทศ นายทุนโรงไฟฟ้ามีแต่จะกินรวบไปทำผลประโยชน์ผูกขาด ส่วนประชาชนมีแต่จะได้ผลพลอยได้จากเศษเนื้อข้างเขียง บ้านไหนไม่มีเงินจ่ายค่าไฟไม่กี่วันก็ถูกตัด โหดเหัเยมยิ่งกว่านี้นอกระบบ ในขณะเดียวกันนายทุนไม่ได้เดินโรงไฟฟ้าเลยแม้แต่วันเดียว กลับนอนนับเงินที่รัฐประเคนให้แบบสบายใจเฉิบ” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ยังอภิปรายต่อไปในกรณีของทุนผูกขาด โดยระบุว่าจากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผ่านมา 12 ปี ทุนใหญ่ผูกขาดมากขึ้น สังคมเหลื่อมล้ำมากขึ้น นโยบายแก้ไขปัญหาทุนผูกขาดหายไปไหนในรัฐบาลเศรษฐา ตอนแรกตนไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีไปได้คำแนะนำอะไรมาจากการไปดินเนอร์หรูกับเจ้าสัวนายทุนยักษ์ใหญ่หรือไม่ แต่เมื่อฟังนายกรัฐมนตรีตอบเมื่อวานนี้ ว่านโยบายดิจิทัลวอลเลตจะไม่มีการกีดกันทุนใหญ่แล้ว ตนยิ่งเกิดคำถามขึ้นมาว่านายกรัฐมนตรีรู้หรือสมคบคิดกันหรือไม่กับทุนใหญ่
เพราะถ้าทุนใหญ่ไม่ถูกกีดกันอะไรเลยยิ่งก็จะยิ่งลูบปาก ไปตั้งจุดจำหน่ายสินค้าในชุมชนหมู่บ้าน ลงทุนแค่ 6 เดือน พายุหมุนทางเศรษฐกิจนี้จะทำลายล้างโชห่วยและร้านขายของชำของคนตัวเล็กทั่วประเทศ เม็ดเงินระดับหลายหมื่นถึงแสนล้านจะถูกสูบเข้ากระเป๋าส่วนกลางของนายทุนเหล่านี้ทั้งสิ้น
สำหรับเรื่องการกระจายอำนาจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งไม่ได้ต้องการให้ผู้ว่า CEO มารวบอำนาจ แล้วกระจุกงบประมาณไปอยู่ในมือผู้ว่าที่มาจากการแต่งตั้ง อปท. ทั่วประเทศต้องการการกระจายอำนาจ ที่มาพร้อมกับการกระจายงบประมาณ และคำถามง่ายๆ ที่รัฐบาลต้องตอบ คือเงินที่ค้างจ่าย อปท. อันเนื่องมาจากมาตรการการลดภาษีที่ดิน 90% ในปี 2563 และ 2564 รวมกัน 80,865 ล้านบาท เฉพาะของ กทม. ก็เกือบ 3 หมื่นล้านบาทแล้ว เมื่อไหร่รัฐบาลจะจ่ายคืนเงินก้อนนี้ให้
ส่วนปัญหาผู้มีอิทธิพลและการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นสองปัญหาที่ผสานพัวพันกันอย่างแยกไม่ออก เพราะผู้มีอิทธิพลได้ผันตัวเองมาเป็นสปอนเซอร์จ่ายเงินซื้อตำแหน่ง และจ่ายส่วยให้กับข้าราชการระดับสูง ทำให้ผู้มีอิทธิพลสามารถสยายปีก ได้ข้าราชการมาเป็นลูกสมุนรับใช้ จนสามารถทำธุรกิจผิดกฎหมาย กดขี่รีดไถประชาชนได้ตามอำเภอใจ ซึ่งในคำแถลงนโยบายฉบับนี้ไม่มีความชัดเจนในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้เลย การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ที่ดีที่สุดคือการปฏิรูปตำรวจ การปรับเปลี่ยนการประมูลงานภาครัฐ และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส กระจายอำนาจให้กับประชาชน และการส่งเสริมเสรีภาพให้กับสื่อมวลชน ซึ่งก็ไม่พบในคำแถลงนโยบายนี้เลย
ส่วนที่ท่านพูดถึงการพัฒนาร่วมกันแทนการปฏิรูปกองทัพ โดยจะให้มาช่วยเหลือประชาชนเรื่องบรรเทาสาธารณภัย ท่านคงลืมไปว่าประเทศนี้มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ท่านคงลืมเพราะท่านยกกระทรวงนี้ให้เขาไปแล้ว ส่วนที่ภูมิธรรมบอกให้พวกตนอยู่กับความจริง ตนอยากบอกว่าตนอยู่กับความจริงอยู่แล้ว จึงอยากเตือนรัฐบาลนี้ว่าท่านอย่าลืมกระสุนจริงที่ใช้ในปี 2553 กว่า 117,923 นัด กับคนตาย 99 คน
“ผมอยู่กับความจริงครับ ผมถึงบอกว่ามันต้องเร่งปฏิรูป ถ้าไม่เชื่อลองโทรไปถามท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ดูก็ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ดีกับ ผบ.ทบ. สมัยนั้นขนาดไหน ไปไหนก็ไปด้วย สุดท้ายจุดจบเป็นอย่างไร” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ยังกล่าวอีก ว่าเรื่องการบริหารที่ราชพัสดุ 12 ล้านไร่ทั่วประเทศก็สำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นต้นตอของเหตุการณ์ที่นครราชสีมา ที่ ผบ.ทบ. รับปากว่าจะปฏิรูปภายใน 100 วัน แล้ววันนี้มีการปฏิรูปเกิดขึ้นหรือไม่ มีการลงนามข้อตกลงกับกรมธนารักษ์หรือไม่? คำตอบคือไม่มี และการทุจริตในการซื้อบ้านพักของทหารชั้นผู้น้อยก็ยังมีอยู่
ดังนั้น พวกตนต่างหากที่อยู่กับความเป็นจริง และอยากฝากบอกรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรมไว้ ว่าพวกตนไม่ได้อยู่กับความเพ้อฝัน แต่พวกตนอยู่กับปัญหาแบบนี้มานานเกินไปแล้ว และจึงเรียกร้องว่ารัฐบาลจะต้องปฏิรูปกองทัพ
สุดท้าย คำแถลงนโยบายฉบับนี้ มีแต่ความคลุมเครือ ต่างจากยุคของนายกฯ ทักษิณ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อย่างชัดเจน จากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เคยคิดใหญ่ทำเป็น ทำไมวันนี้ถึงได้กลายเป็นรัฐบาลที่คิดน้อย ไม่กล้าทำ เหมือนต้องรอการอนุญาตจากผู้มีอำนาจตัวจริง เหมือนถูกพรรคร่วมรัฐบาลบีบคอขอร่วมพัฒนาอยู่ ความทะเยอทะยานที่เคยมีในสมัยพรรคไทยรักไทยทำไมวันนี้แฟนคลับอย่างตนต้องมาถามว่าหายไปไหนหมด
เหตุผลนั้นง่ายมาก เพราะในสมัยรัฐบาลทักษิณรู้อยู่แก่ใจว่าที่ได้เป็นรัฐบาลเพราะประชาชนเลือกมาอย่างท่วมท้น ถึงได้กล้า “คิดใหม่ทำใหม่เพื่อไทยทุกคน” แต่รัฐบาลนี้ลึกๆ รู้ตัวดีว่าที่ได้เป็นรัฐบาล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับอนุญาตจากกลุ่มอำนาจเดิม
“ผมอยากบอกกับท่านนายกฯ ไว้ตรงนี้ ว่าตนทราบดีว่ากลุ่มอำนาจเก่าบีบท่านอย่างไร กลุ่มทุนผูกขาดในเครือข่ายอุปถัมภ์เดิมๆ ยื่นเงื่อนไขอะไรมาทำให้ท่านลำบากใจบ้าง พรรคร่วมรัฐบาลต่อรองกับท่านหนักขนาดไหน แต่ท่านต้องบอกกับตัวเองว่าท่านไม่ใช่ลูกน้องของกลุ่มคนเหล่านั้น แต่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนคนไทยทุกคน และท่านต้องเกรงใจประชาชน ไม่ใช่เกรงใจคนเหล่านั้น” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์ยังได้กล่าวทิ้งท้าย ว่าท่านต้องมีความทะเยอทะยานอย่างที่เศรษฐา ทวีสิน มีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ถ้าท่านมีความทะเยอทะยาน กล้าที่จะรับปากให้คำมั่นกับประชาชน ประชาชนก็จะมีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต กล้าที่จะมีความฝัน ฝากอนาคตเดิมพันชีวิตเอาไว้กับรัฐบาล ถ้าท่านเอาความหวังดีของตนและเพื่อนสมาชิกตลอดจนพรรคร่วมฝ่ายค้านไปพิจารณาในการพิจารณางบประมาณในวาระที่ 1 ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในวันนั้น เศรษฐา ทวีสิน จะมีความทะเยอทะยานและความมั่นใจในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมากกว่าวันนี้