วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2566

เครือข่ายแรงงานฯ หารือพร้อมยื่นหนังสือ รมว.แรงงานคนใหม่ ร้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ถ้วนหน้า เร่งจัดเลือกตั้งและ ปรับระเบียบให้ผู้ประกันตนทุกคน รวม'แรงงานข้ามชาติ' มีสิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการประกันสังคม

 


เครือข่ายแรงงานฯ หารือพร้อมยื่นหนังสือ รมว.แรงงานคนใหม่ ร้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ถ้วนหน้า เร่งจัดเลือกตั้งและ ปรับระเบียบให้ผู้ประกันตนทุกคน รวม'แรงงานข้ามชาติ' มีสิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการประกันสังคม

 

วันนี้ (21 กันยายน 2566)เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน นำโดยธนพร วิจันทร์ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน และภาคีเครือข่าย เดินทางมาเพื่อเข้าพบและยื่นหนังสือถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางประกันสังคมอื่น ๆ และเร่งจัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม

 

ธนพร ให้สัมภาษณ์ก่อนพบรัฐมนตรีว่า หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท แต่เมื่อเทียบกับนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการปรับค่าแรง 600 บาทต่อวัน จึงเกิดคำถามว่าจะเป็นจริงได้หรือเปล่า เราจึงเสนอว่าต้นปี 2567 ควรปรับค่าแรงเป็น 450 บาท เพื่อให้ตัวเลขของค่าแรงสามารถไต่ไปสู่ค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 ได้

 

ธนพร ยังระบุด้วยว่า ช่วงที่ปรับค่าแรง 300 บาทต่อวันเท่ากันทั้งประเทศ ทำให้เกิดอำนาจในการซื้อของแรงงานมากขึ้น และกลไกเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ โดยปัจจุบันราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาพลังงานเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นค่าจ้าง 450 บาทก็ควรจะเท่ากันทั้งประเทศ

 

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการอาจจะกังวลเพราะต้องรับภาระมากขึ้น ธนพรมองว่า ในเมื่อรัฐบาลออกนโยบายแล้วก็ต้องวางแผนดูแลทั้งภาคธุรกิจและลูกจ้างอย่างเป็นธรรม

 

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานจะเร่งรัดให้เกิดการเลือกตั้งอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัด เพื่อใช้กลไกของไตรภาคี แต่การใช้กลไกไตรภาคีต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แรงงานควรจะได้ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น และต้องชัดเจนพี่น้องแรงงานว่าแต่ละปีจะขึ้นกี่บาท

 

สำหรับประเด็นสวัสดิการที่ต้องการเรียกร้อง ได้แก่ ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งกลับเข้ามา รัฐบาลยืนยันว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่เงินบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทแก่คนชรายังคงเป็นปัญหา ดังนั้นรัฐควรจะเข้ามาดูแลตรงนี้

 

ธนพร ได้ย้ำถึงบอร์ดประกันสังคม ที่ตั้งขึ้นมาด้วย ม.44 จากอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำรัฐประหารในปี 2557 เป็นผลทำให้ต้องยุบบอร์ดที่มาจากการเลือกตั้ง

 

ทำให้เห็นว่าบอร์ดประกันสังคมที่ดูแลเรื่องกองทุนประกันสังคมเป็นบอร์ดใหญ่ที่รวมถึงสิทธิประโยชน์ของแรงงานและบอร์ดที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

จึงเห็นถึงปัญหาการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ว่ากระทรวงแรงงานออกระเบียบที่ล้นเกิน เช่น ผู้ประกันตนที่จะลงสมัครบอร์ดดังกล่าว ต้องส่งเงินสมทบกองทุน 36 เดือน หรือ 3 ปี ซึ่งเมื่อกลับไปดูพบว่าไม่สอดคล้องกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้แรงงานไม่สามารถส่งเงินสมทบได้อย่างต่อเนื่อง

 

ยังไม่รวมถึง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ล้านกว่าคน แต่ระเบียบกระทรวงแรงงานกลับตัดสิทธิ์ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ ทั้งที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ทั้งที่ พี่น้องแรงงานข้ามชาติก็เป็นผู้ประกันตน เขาจึงมีสิทธิเลือกผู้แทนไปดูแลเรื่องสวัสดิการสังคมของเขาด้วย

 

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องที่กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนเรียกร้อง ได้แก่ การเพิ่มค่าแรง 450 บาท และเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ได้แก่ ปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาล เพิ่มค่าทำฟัน 1,500 ค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 20,000 บาท, เพิ่มเงินสงเคราะห์เลี้ยงดูบุตร 1,200 บาทต่อเดือนจนถึงอายุ 15 ปี, ทดแทนรายได้ว่างงาน 80% ของค่าจ้าง, บำนาญชราภาพ 50%ของค่าจ้าง, เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในเดือนธันวาคม 2566 พร้อมแก้ไขระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จากเดิมที่กำหนดให้ต้องมีสัญชาติไทย เปลี่ยนเป็นผู้ประกันตนทุกคน

 

โดยเวลา 11.15 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มาพบเครือข่ายแรงงานฯ เพื่อพูดคุยและหารือร่วมกัน ที่ห้องคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) ชั้น 1 กระทรวงแรงงาน

 

เวลา 12.20 น. ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ในการพูดคุย โดยก่อนแยกย้าย นายพิพัฒน์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า เครือข่ายแรงงานฯ เป็นกลุ่มแรกที่เดินทางขอเข้าพบหลังจากตนเข้ารับตำแหน่ง

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กระทรวงแรงงาน #เครือข่ายแรงงาน