วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2566

“นายกฯ เศรษฐา” กลับถึงไทย สรุปผลสำเร็จประชุม UNGA เผยถกบริษัทยักษ์ใหญ่ ดึงลงทุนในไทย บอกต่างชาติคลายกังวลเรื่องลงทุนในไทยเยอะ รับจะดูกฎหมายรองรับให้เป็นมาตรฐาน

 


นายกฯ กลับถึงไทย สรุปผลสำเร็จประชุม UNGA เผยถกบริษัทยักษ์ใหญ่ ดึงลงทุนในไทย บอกต่างชาติคลายกังวลเรื่องลงทุนในไทยเยอะ รับจะดูกฎหมายรองรับให้เป็นมาตรฐาน


วันที่ 24 กันยายน 2566 เมื่อเวลา 07.30 น. ที่ห้องรับรองพิเศษ VIP ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ว่าการเดินทางครั้งนี้มีภารกิจเยอะ ต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยทำให้ภารกิจ 4 วัน ผ่านไปได้ โดยมีการพบปะผู้นำหลายประเทศ ได้กล่าวสุนทรพจน์ 5 ครั้ง พบกับองค์กรต่างๆ 2 องค์กร และยังได้พบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกทั้งเทสลา ไมโครซอฟท์ กูเกิล ซิตี้แบงก์ เจ.พี.มอร์แกน Global ZAC เอสเต ลอเดอร์ ซึ่งบริษัทเหล่านี้สนใจมาลงทุน และบางแห่งมาลงทุนแล้วในรูปแบบต่างๆ ที่ประเทศไทย


นายเศรษฐากล่าวต่อว่า หน้าที่ของตนคือไปประกาศให้คนรู้ว่าประเทศไทยเปิดแล้ว พร้อมและยินดีที่จะให้บริษัทเหล่านี้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนั้น ได้พบกับตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์กที่มองเห็นลู่ทางจะให้บริษัทของไทยไปจดทะเบียนที่ตลาดนิวยอร์ก เพราะไม่เคยมีบริษัทใดไปจดทะเบียนเลย หวังว่าในปีนี้จะได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของนิวยอร์กสัก 1 บริษัท


นายเศรษฐากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนยังได้พบปะกับประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลก ควบคุมฟุตบอลทั้งหมด ได้พูดคุยกันถึงการเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่อาเซียนในปี 2032 หรืออีก 9 ปี เป็นแผนที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก้าวแรกคือ เราอยากได้รับการสนับสนุนจากฟีฟ่าให้ช่วยดูฟุตบอลรากหญ้า จากเดิมที่เคยให้การสนับสนุนปีละ 2.5 แสนเหรียญต่อปี ตอนนี้เป็นปีละประมาณ 2 ล้านเหรียญ ถือว่าเป็นจำนวนที่มาก ทำให้คาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้ไปถึงจุดที่ควรจะเป็น


นายเศรษฐากล่าวด้วยว่า ขณะที่เรื่องของยูเอ็น ในภาวะที่มีการแข่งขันและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความแตกแยกค่อนข้างมาก เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา ธีมของยูเอ็นในปีนี้คือให้มาดูเรื่องการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน 17 ข้อ โดยกว่า 190 ประเทศ ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่เห็นว่าควรมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งตนได้ประกาศไปว่าไม่ใช่โลกร้อน แต่เป็นโลกเดือดที่เราต้องให้ความสำคัญ ตลอดจนเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากหากมีสงครามระหว่างประเทศมากจะทำให้มีผู้เดือดร้อน มีผู้อพยพลี้ภัย ต้องดูและให้ความเป็นธรรม ที่สำคัญจุดยืนที่ตนไปประกาศในเวทีนี้คือ ไปประกาศจุดยืนว่าเราเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งยึดมั่น ช่วยผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ และการดำเนินการเศรษฐกิจพอเพียง


นายเศรษฐากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอัพเกรด ทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือกใช้บริการสาธารณสุขของรัฐได้อย่างสมเกียรติ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องดูแลและป้องกันในอนาคต


เมื่อถามว่า ต่างประเทศที่จะมาลงทุนยังมีความกังวลกับสถานการณ์ในประเทศ หรืออุปสรรคใดหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ความกังวลเรื่องนี้ลดหายไปเยอะ และคิดว่าคงไม่มีเรื่องนี้แล้ว แต่จะมีเรื่องกฎหมายบางข้อ และการอำนวยความสะดวกในการธุรกิจ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในการประชุมทั้งบีโอไอและกระทรวงการต่างประเทศต่างไปช่วยกันขยายความว่าเราพร้อมสำหรับการลงทุน พร้อมที่จะรับฟังความเห็น อะไรทำได้จะทำก่อน อะไรที่ต้องแก้ไขกฎกติกา จะมาดูความเหมาะสมอีกครั้ง


เมื่อถามว่า ธุรกิจอะไรที่ต่างชาติให้ความสนใจมาลงทุนมากที่สุด นายเศรษฐากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท เช่น เทสลา ที่จะมาดูเรื่องของการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์อีวี ขณะที่ไมโครซอฟท์ กูเกิล มาดูเรื่องการทำดาต้า เซ็นเตอร์ ที่จะมีการลงทุนสูงมาก ประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อราย สำหรับการลงทุนขั้นต้น


เมื่อถามว่า อุปสรรคด้านกฎหมายต่อการลงทุน เรื่องใดสำคัญที่สุด นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่เราไม่ได้ไปค้าขายระหว่างประเทศมานาน ทำให้บางบริษัทมีความกังวลเวลาที่มาลงทุน จะมีกฎที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ของเราอาจยังไม่มีการดูแลตรงนี้ ซึ่งต้องนำไปพิจารณาดูแลรายละเอียดให้เกิดความเหมาะสม


เมื่อถามว่า อุปสรรคด้านกฎหมายต่อการลงทุน เรื่องใดสำคัญที่สุด นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่เราไม่ได้ไปค้าขายระหว่างประเทศมานาน ทำให้บางบริษัทมีความกังวลเวลาที่มาลงทุน จะมีกฎที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ของเราอาจยังไม่มีการดูแลตรงนี้ ซึ่งต้องนำไปพิจารณาดูแลรายละเอียดให้เกิดความเหมาะสม


เมื่อถามว่า จากการไปพูดคุยกับบริษัทรายใหญ่ได้ประเมินมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยประมาณเท่าไหร่ นายเศรษฐากล่าวว่า ประเมินได้ลำบาก เพราะภาคอุตสาหกรรม เช่น เทสลา ไมโครซอฟท์ กูเกิล การลงทุนขั้นต้นประมาณ 5 พันล้านเหรียญ แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาจจะทำให้เกิดการลงทุนที่สูงมากหากมาตั้งสำนักงานที่ประเทศไทย มีโอกาสที่บริษัทเหล่านั้นอาจเผยแพร่ความน่าอยู่และตัวเลขเศรษฐกิจ ความเจริญของประเทศไทย และนำบริษัทอื่นมาลงทุนในไทย และในการประชุมเอเปคที่จะเกิดขึ้น อาจจะเชิญบริษัทขนาดกลางเพื่อเปิดโอกาสได้ไปเสนอตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนข้ามชาติที่เราไปลงทุนในประเทศเขา หรือเขามาลงทุนในประเทศเรา เป็นการเปิดช่องทาง สร้างงาน สร้างรายได้ ให้ประชาชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เศรษฐา #รัฐบาลเศรษฐา1