วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566

“แอมเนสตี้ ประเทศไทย” เรียกร้องรัฐบาล คืนสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี

 


“แอมเนสตี้ ประเทศไทย” เรียกร้องรัฐบาล คืนสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี


วันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ด้านหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรียกร้องให้คืนสิทธิในการประกันตัว ดูแลและเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังเป็นอย่างดี พร้อมแสดงจุดยืนขอให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการเเสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ รวมทั้งต้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทันทีและไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้แคมเปญ #FREERATSADON


ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า แอมเนสตี้ได้ติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2566 ได้มีการจัดทำรายงานสถานการณ์และข้อเสนอแนะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Agenda) เพื่อยื่นต่อพรรคการเมือง สื่อสารต่อสังคม ประชาชนและภาคประชาสังคม ที่ครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนใน 31 หัวข้อ  183 ข้อเสนอแนะ อย่างไรก็ตามสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบยังเป็นที่น่ากังวลในสังคมไทย ประชาชน นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยรัฐบาล เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปี 2563


แอมเนสตี้ ประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน และตลอดทั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนระดับชาติ เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคืนสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวหรือสิทธิในการประกันตัวแก่ผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี และประกันว่าสิทธินี้จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกในการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลในวาระนี้ พร้อมทั้งยุติการดำเนินคดีต่อประชาชน นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิ และการที่รัฐบาลมีพันธกิจต่อสังคมระหว่างประเทศในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก UPR อันจะแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงของรัฐบาลไทยในการวางตัวเป็นประเทศแนวหน้าที่ให้การเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของบุคคลในทุกบริบท การเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนของบุคคลในทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันและการยึดมั่นซึ่งเสรีภาพในการแสดงออก ยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของความสำเร็จในการดำเนินงานตามเป้าหมายที่ 16 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกด้วย”


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #แอมเนสตี้ #คืนสิทธิการประกันตัว