“มานพ” แสดงความผิดหวังคดี “ชัยวัฒน์” อุ้มฆ่า “บิลลี่” ตัดสินแค่โทษ 157
แต่ยกฟ้องอุ้มฆ่าอำพรางศพ ทั้งที่เป็นหัวใจหลักของคดี หวัง
พ.ร.บ.อุ้มหาย ได้บังคับใช้จริงจัง กันเหตุอุ้มฆ่าไม่ให้เกิดขึ้นอีก
วันที่
28 กันยายน 2566 มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ได้แสดงความเห็น
ต่อกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
มีการอ่านคำพิพากษาในคดีการถูกบังคับให้สูญหายและฆาตกรรม พอละจี รักจงเจริญ หรือ
“บิลลี่” นักสิทธิมนุษยชนชาวปาเกอะญอ ที่ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร
อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมพวก 4 คน
เป็นผู้ต้องหา โดยศาลได้พิพากษาให้จำคุกชัยวัฒน์ 3 ปี
โดยไม่รอลงอาญา ในฐานความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 แต่ยกฟ้องในข้อหาฆาตกรรมอำพรางศพเนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอ
มานพ กล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจจากการตัดสินคดีวันนี้ คือการที่ศาลตัดสินเฉพาะเรื่องของความผิดตามฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 แต่หัวใจหลักของคดีคือกระบวนการฆาตกรรมและอำพรางศพ ที่มีการยกฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานพอ นี่คือสิ่งที่สังคมต้องการคำตอบมากที่สุด และเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้งสังคมและของชาวปกาเกอะญอ ว่ากรณีบิลลี่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นการบังคับสูญหายหรือไม่ โดยที่ในทางนิติวิทยาศาสตร์ก็ได้มีความพยายามพิสูจน์เรื่องนี้แล้ว ทั้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม จนนำไปสู่หลักฐานบางอย่าง เช่น การที่ดีเอ็นเอของบิลลี่ที่อยู่ในถังกับของแม่นั้นตรงกัน ซึ่งศาลควรนำข้อมูลนี้มาสู่การพิจารณาด้วย
ดังนั้น
กรณีการตัดสินความผิดตามฐานมาตรา 157 นั้น
จึงเป็นเพียงการตัดสินความผิดเล็กน้อย ที่ไม่ใช่โจทย์สำคัญที่สังคมต้องการ
ว่าบิลลี่เสียชีวิตอย่างไรและเพราะอะไร
มานพยังกล่าวต่อไป
ว่าสิ่งที่สำคัญต่อจากนี้ไป คือการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย
ที่มีการบังคับใช้มาตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา
ซึ่งในอนาคตหากกฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง
น่าจะช่วยคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้มาก เมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการใดๆ
จะต้องมีพยานหลักฐานในการทำหน้าที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
วันนี้เจ้าหน้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงไม่ทำตามกฎหมายได้อีกแล้ว
จะต้องมีองค์ประกอบตามกฎหมายดังกล่าวในการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง
หากติดขัดเรื่องใด เช่น ไม่มีกล้อง ก็ขอการสนับสนุนแก้ไขได้ แต่หลักการสำคัญคือเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ
“กฎมายนี้จะเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
แม้เจ้าหน้าที่อาจจะทำงานยากขึ้นบางประการ
แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานภายใต้กรอบกฎหมาย ประชาชนก็สามารถใช้สิทธินี้ในการตรวจสอบการทำงานของกระบวนการยุติธรรมได้”
มานพกล่าว