'พิธา' โชว์วิสัยทัศน์พาไทยยืนอย่างมีศักดิ์ศรี
พลิกวิกฤตเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในเวทีโลก
วันนี้ (12 กันยายน
2566) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ได้รับเชิญให้บรรยายพิเศษ ที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ
“ก้าวย่างบนความท้าทาย และโอกาสของไทยต่ออาเซียนและมหาอำนาจ”
โดยมีนิสิตเข้ารับฟังการบรรยายจำนวนมาก
พิธาเปิดการสนทนากับนิสิต
ด้วยการย้ำว่า การต่างประเทศจะกลายเป็นนโยบายที่สำคัญหรือไม่
ขึ้นอยู่กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หากประชาชนตระหนักว่าปัญหาภัยแล้ง ฝุ่น PM2.5 ไปจนถึงราคาปุ๋ย
อาหารสัตว์ พลังงาน ที่แพงขึ้น
ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลไทยจะแก้ได้หากไม่มีบทบาทในเวทีโลก
นโยบายต่างประเทศก็จะกลายเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่พรรคการเมือง รัฐบาล ต้องคิด
ต้องให้ความสำคัญ
พิธากล่าวว่า
การต่างประเทศของไทยในยุคนี้ เผชิญความท้าทายสำคัญ เพราะอยู่ในยุคที่สหรัฐฯและจีน
แข่งขันกันขยายอำนาจ โดยมีภูมิภาคอาเซียนเป็นสมรภูมิสำคัญ
แต่บทบาทของไทยในอาเซียนกลับถดถอย
และบทบาทอาเซียนในฐานะพลังต่อรองระดับภูมิภาคก็ถดถอยเช่นกัน ถ้าดูจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ผู้นำมหาอำนาจ เลือกเดินทางเยือนอินโดนีเซียและเวียดนามบ่อยครั้ง
แต่ส่งระดับรองไปร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท
ซึ่งสะท้อนว่ามหาอำนาจให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้
แต่เลือกดำเนินความสัมพันธ์กับบางประเทศที่ถูกประเมินว่ามีบทบาทสำคัญ
มากกว่าสัมพันธ์กับอาเซียนทั้งกลุ่ม
ในสภาพการณ์เช่นนี้
การต่างประเทศไทยในมุมมองของก้าวไกล ต้องตอบ 2 โจทย์ คือ “ป้องกันวิกฤต” และ
“เก็บเกี่ยวโอกาส” จากโลกใบใหม่ ความผันผวนและการแข่งขันในเวทีโลก
โดยมีหลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ 1. การต่างประเทศที่มีกระดูกสันหลัง
มีหลักการ ยืนอย่างมีศักดิ์ศรีโดยวางตัวเป็นมหาอำนาจระดับกลาง 2. การต่างประเทศที่ยึดมั่น Rule-Based International Order คือการยึดกติกา ระเบียบระหว่างประเทศ
ใช้องค์กรระหว่างประเทศและเวทีนานาชาติในการต่อรองผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
ไม่ลุแก่อำนาจหรือใช้วิธีการที่ละเมิดระเบียบโลก 3. การต่างประเทศที่รู้จังหวะ
รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเงียบ เมื่อไหร่ควรพูด
ไม่ใช่ไม่กล้าพูดยืนยันหลักการเพราะเกรงใจมหาอำนาจ
พิธายังยกตัวอย่างรูปธรรมของการต่างประเทศไทยที่จะเกิดในรัฐบาลก้าวไกล
ภายใต้หลักการ 3
ข้อนี้ ได้แก่
1.
เมียนมา ไทยในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดเมียนมามากที่สุด ต้องทำ Humanitarian-Economic
Corridor เพื่อรองรับผู้ลี้ภัยสงคราม
โดยเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชนทั้งสองประเทศ
ผู้ลี้ภัยทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย เป็นกำลังแรงงานให้นักลงทุนไทย
ในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งสร้างเสถียรภาพในเมียนมาเพื่อยุติสงครามกลางเมือง
เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยรัฐบาลไทยจะมีบทบาททั้งโดยตรงและผ่านอาเซียน
ในการสนับสนุนผลักดันการเจรจาระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ในเมียนมา
2.
แม่น้ำโขง รัฐบาลไทยจะรวมกลุ่มกับประเทศปลายน้ำให้เข้มแข็งขึ้น
เพื่อเจรจาต่อรองกับประเทศต้นน้ำให้มีการใช้ทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรม
3.
Inclusive Diplomacy การทูตที่ขยายขอบเขตงานต่างประเทศให้กว้างกว่าการเมืองหรือการเจรจาทางการทูต
แต่รวมถึงการมีบทบาทในการใช้ soft power การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจการค้า
4.
การเจรจาเขตการค้าเสรี ตั้งการส่งเสริมการค้าการลงทุนภายในอาเซียน
และการเจรจากับภูมิภาคอื่น โดยวาระสำคัญคือการเจรจาเขตการค้าเสรีไทยยุโรป
ซึ่งไทยควรเจรจาต่อรองเพื่อขยายผลประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับมากขึ้น
โดยเฉพาะสิทธิฟรีวีซ่า
5.
การต่างประเทศด้านสิทธิและความมั่นคงของมนุษย์
ใช้เวทีระหว่างประเทศปกป้องสิทธิแรงงานไทย ปัญหากดปราบผู้ลี้ภัยข้ามชาติ
แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยมีกฎหมายอากาศสะอาดและฝุ่นควันข้ามแดนที่ครอบคลุมทั้งอาเซียน
(ASEAN Clean Air and Transboundary Haze Act) แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
สร้างเครือข่ายปราบปรามการค้ามนุษย์ และ online scammers โดยให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามามีบทบาทในการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์มากขึ้น
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธา #ก้าวไกล